ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (15)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เมื่อผู้ประกอบพิธีทำการอั่นหลอหรือสถาปนากระถางธูปเสร็จแล้ว ก่อนจะอัญเชิญขึ้นสู่แท่นบูชา ผู้ช่วยพิธีกรรมจะต้องไปจุดไม้หอม (ใช้ไม้จันทน์หรือไม้จวงหอม) ในกระถางสำหรับจุดไม้หอมไว้ก่อน กระถางนี้เรียกว่า “เจ่งหลอ” หรือกระถางชำระล้าง

ผมอาจไม่ได้เล่าไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในที่บูชาพระแบบจีนของเราจะไม่ได้มีเพียงแค่กระถางธูปเท่านั้นครับ แต่จะมีกระถางใบเล็กๆ เพื่อจุดไม้หอมเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ โดยกระถางใบนี้จะสามารถเคลื่อนย้ายได้และมักวางไว้ต่ำกว่ากระถางธูป ซึ่งจะต้องวางไว้ในระดับเดียวกับเทวรูปและอยู่ใกล้ๆ กันโดยห้ามเคลื่อนย้าย

การที่ผู้ช่วยพิธีจำต้องไปจุดเจ่งหลอก่อนอัญเชิญกระถางธูปและเทวรูปไปประดิษฐานนั้น ก็เพื่อให้ควันหอมชำระล้าง ขจัดปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีก่อนที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมาสถิต ณ แท่นบูชา

ตามศาลเจ้าโดยเฉพาะในภาคใต้ บางทีก็ใช้หม้อดินเผาแทนกระถางโลหะ และใช้ไม้จวงหรือไม้เทพทาโรแทนไม้จันทน์

ภาพที่ผมเห็นบ่อยๆ ที่ระนองบ้านเกิดคือในช่วงถือศีลกินผักหรือกินเจ ชาวบ้านจะเอาปิ่นโตจากบ้านไปวนควันเหนือกระถางนี้เพื่อให้บริสุทธิ์สะอาดก่อนที่จะนำไปรับอาหารจากโรงเจหรือศาลเจ้าไปทานที่บ้าน

เรามักมีความทรงจำเป็นภาพ แต่กลิ่นก็เป็นความทรงจำที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่ง กลิ่นของควันไม้จวงเป็นกลิ่นที่ทำให้ผมนึกถึงบ้านเกิด นึกถึงภาพของพิธีกรรมในชุมชนเล็กๆ ของเรา

มิตรสหายท่านหนึ่งผู้มาจากจังหวัดพังงาและเติบโตในร่วมเงาศาลเจ้าเช่นกัน มักเปรยกับผมเมื่อได้กลิ่นไม้จวงที่เราจุดว่า ชวนให้เขาคิดถึงบ้านเกิดเอามากๆ เพราะเป็นความหอมที่เราจะไม่มีโอกาสได้กลิ่นนี้ในเมืองกรุง เนื่องจากเขาไม่ใช้กัน เหตุว่าไม้จวงเป็นไม้ท้องถิ่นภาคใต้และทางนี้นิยมใช้ไม้จันทน์ซึ่งหาได้ง่ายกว่า

 

จากนั้น ผู้ประกอบพิธีจะได้ทำพิธีเบิกเนตรหรือเบิกพระรัศมีเทวรูป (เตี่ยมหง้านคายก๊อง) ต่อไป

คำว่า “เบิกเนตร” ที่เรานิยมใช้กันนี้ คงเพราะพิธีพุทธาภิเษกหรือเทวาภิเษกในบ้านเมืองเรานั้น มีขั้นตอนที่สำคัญคือการเบิกพระเนตร ถ้าเป็นพิธีอย่างง่าย ผู้เป็นประธานจะนำเอาสำลีเช็ดดวงตาของพระพุทธรูป

แต่ถ้าเป็นอย่างโบราณที่ปรากฏในพิธีพุทธาภิเษกท้องถิ่นเช่นในล้านนา ก็มีขั้นตอนมากมาย เช่นต้องเอาขี้ผึ้งไปปิดตาไว้ก่อน พอทำการสวดอบรมสมโภชแล้ว จึงมีการ “ไขต๋าพระเจ้า” แล้วมีการส่องด้วยกระจกหรือแว่นติดเทียน

ผมเข้าใจว่าพิธีนี้พุทธศาสนารับเอามาจากฮินดูอีกที ซึ่งมีพิธีที่เรียกว่า “เนโตรมีลัน” หมายถึงการเบิกพระเนตร โดยก่อนหน้านั้นพราหมณ์จะเอาผ้าแดงผูกตาเทวรูปเอาไว้ แล้วทำการเบิกพระเนตรโดยใช้หญ้ากุศะแต้มที่ดวงตาของเทวรูปด้วย “มธุปรกะ” คือโยเกิร์ต เนยใส และน้ำผึ้งผสมกัน (ในสมัยโบราณอาจมีส่วนผสมอย่างอื่นจากเลือดเนื้อของสัตว์ที่ทำให้เกิดพลัง) ซึ่งจะต้องใช้กระจกส่องที่ดวงตาของเทวรูป เพราะผู้ประกอบพิธีจะไม่จ้องมองตาเทวรูปโดยตรง

ดวงตาถือกันว่าเป็นสิ่งที่ทรงพลังที่สุดในอวัยวะเพื่อการสื่อสารทั้งหลาย การเปิดดวงตาจึงเท่ากับทำให้รูปเคารพนั้นสื่อสารกับโลกและศาสนิกภายนอกได้โดยตรง ท่านเลยนับว่าเป็นอวัยวะแรกที่ต้องถูกเปิดหรือทำให้มีขึ้นในทางพิธีกรรม เพราะตราบใดที่ดวงตายังไม่มี การสื่อสารก็เป็นไปได้ยาก

หากใครเคยไปอินเดีย เทวรูปอย่างง่ายของชาวบ้านก็คือก้อนหินข้างทางที่เขาเอาดวงตาไปติดไว้นี่แหละครับ จากหินธรรมดาๆ พอมีดวงตาขึ้นมา คนก็รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังอำนาจทันที

หากใครคุ้นเคยพิธีเบิกเนตรแบบจีน ก็จะทราบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนผมเชื่อเอาเองว่าคงได้รับอิทธิพลไปจากอินเดีย อาจผ่านทางพุทธศาสนาหรือผ่านทางสาย Shaman ก็เป็นได้ แต่ทางจีนไม่เพียงแค่เบิกเนตรเท่านั้น จะเบิกอวัยวะที่สำคัญต่างๆ ของเทวรูปด้วย

 

ก่อนการเบิกเนตร ฮวดกั้วหรือผู้ประกอบพิธีจะทำการเสกพู่กัน (ปิด) เสียก่อน พู่กันที่ผ่านพิธีแล้วนั้นถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง ต้องเก็บรักษาไว้ในที่บูชาพระไม่เอาทิ้งขว้าง

จากนั้นจึงเสกสิ่งที่ใช้เจิมคือชาดแดงของจีน (จูซา/จอแซ) ผงชนิดนี้คือแร่ Cinnabarite หรือ Cinnabar ท่านว่าบางชนิดมีพิษต้องทำการฆ่าฤทธิ์ของพิษก่อน เมื่อผสมกับตัวทำละลายแล้วสามารถใช้เขียนฮู้หรือกระดาษยันต์ ประทับตราและใช้เบิกพระรัศมีเทวรูปได้

คนจีนถือว่าสีแดงเป็นมงคล เพราะเป็นสีแห่งพลังชีวิต เป็นสีของโลหิต ไฟและดวงอาทิตย์ ทั้งยังสามารถขับไล่หรือป้องกันสิ่งอัปมงคลได้ด้วย

ความเชื่อเรื่องชาดแดงนี่ก็น่าสนใจครับ คำเสกชาดท่านว่า ชาดนั้นมาจากดวงอาทิตย์ ชาดคือแสงของดวงอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับพลังชีวิตหรือความมีชีวิตนั่นเอง การนำชาดไปแต้มเทวรูปจึงเป็นการนำพลังชีวิตไปถ่ายเทสู่เทวรูปนั้น

แต่ถ้าจะอธิบายให้ละเอียดจากเทวตำนาน ชาดก็คือ “เลือด” ของดวงอาทิตย์ในรูปของนกหรืออีกา

ตำนานจีนโบราณเล่าว่า ในสมัยพระเจ้าเหยา แต่เดิมท้องฟ้ามีดวงอาทิตย์สิบดวง วันหนึ่งดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นพร้อมกันทำให้บรรดาสัตว์และมนุษย์ได้รับความเดือดร้อน โฮ่วอี้จึงรับหน้าที่ใช้ธนูยิงดวงอาทิตย์ตกร่วงไปเก้าดวง เหลือดวงเดียวจนถึงทุกวันนี้

บรรดาดวงอาทิตย์ทั้งเก้าที่ร่วงไปกลายเป็นนกหรืออีกา ส่วนเลือดของนกที่ตกลงมาบนโลกกลายเป็นชาด

บางสำนักใช้เลือดไก่เจิมเทวรูปแทนชาด ท่านว่าขลังนัก เนื่องด้วยไก่คือสัตว์ตระกูลเดียวกับนก สืบโคตรวงศ์จากพระอาทิตย์เช่นกัน เลือดของไก่จึงเปี่ยมด้วยพลัง

แต่เขาไม่ได้เชือดคอไก่เอาเลือดมาใช้นะครับ เพียงแต่ใช้ดาบในพิธีกรีดบนหงอนไก่พอให้มีเลือดออก แล้วใช้พู่กันจุ่มเลือดจากหงอนไก่นั้นมาเจิม

 

เมื่อตระเตรียมพู่กันและชาดแล้ว ฮวดกั้วจะเสกกระจกสำหรับประกอบพิธี โดยจะใช้ส่องแสงสว่างไปยังเทวรูปในขณะที่กำลังเจิมไปด้วย

กระจกที่ใช้นิยมเป็นกระจกกลม ในสมัยโบราณทำจากโลหะ ถือกันว่าเป็นของมีค่าและวิเศษอย่างหนึ่ง ดังจะเห็นว่าราชวงศ์ของญี่ปุ่นมีกระจกโบราณที่ถือเป็นราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งเพราะสืบมาแต่เทพเจ้าในยุคบุพพกาล

กระจกสะท้อนสิ่งที่อยู่ตรงหน้า มันจึงดูราวกับสามารถบรรจุวิญญานของคนเข้าไปได้ ในอีกแง่หนึ่งกระจกเปรียบประดุจท้องฟ้าที่มีสันฐานกลม (ฟ้ากลมดินเหลี่ยม) และใสกระจ่าง และเมื่อใช้เสร็จแล้ว กระจกนั้นจะวางไว้บนแท่นบูชาเบื้องหน้าเทวรูปต่อไป

ขั้นตอนของการคายก๊องหรือเบิกพระรัศมี เจ้าของเทวรูปหรือเจ้าบ้านจะถือเทวรูปหรือแบกไว้บนศีรษะ คุกเข่า ณ บริเวณโต๊ะพิธีกลางแจ้งเพื่อขอรับพลังจากฟ้าดิน

จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะใช้กระดาษทอง (กิ๊ม) เผาวนหน้าเทวรูปเพื่อขจัดปัดเป่า ดึงกระดาษแดงที่ปิดใบหน้าเทวรูปออก มือซ้ายถือกระจก มือขวาถือพู่กันแล้วเจิมไปยังส่วนต่างๆ พลางท่องคาถาภาษาจีนกำกับด้วย ซึ่งคาถาเหล่านี้มีความหมายตามส่วนที่เจิม เช่นเมื่อเจิมตาก็ท่องว่า เจิมตาให้เห็นได้กว้างไกลพันลี้ เป็นต้น

สุดท้ายจะเจิมที่หัวใจพร้อมกำหนดชื่อเทพเจ้าและเสกเป่าลงไป

เมื่อเจิมเสร็จ ผู้ประกอบพิธีทำการเรียกพลังทิพย์ (ฮวดเฮอก๊อง) มาสถิตในเทวรูป โดยบริกรรมคาถาและใช้กระดาษทองเผาวนหน้าเทวรูปอีกครั้ง

พอถึงตอนนี้เทวรูปจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ขึ้นมาทีเดียว ในทางปฏิบัติเจ้าบ้านจะเขย่าให้เทวรูปสั่นโยกไปมาเหมือนมีชีวิตขึ้นมาแล้ว

แต่ผมเคยเห็นมาว่า บางที่เขาจะให้คนผลัดกันมาอุ้มเทวรูปเอาไว้ ตีฆ้องตีฉาบและบริกรรมคาถาไปจนกว่าคนที่อุ้มเทวรูปจะร่างกายสั่นไหวขึ้นมาเอง ทำนองเดียวกับมีเจ้ามาเข้าหรือเป็นอำนาจพระบันดาลจึงจะนับว่าพิธีสำเร็จ

เทวรูปที่เจิมเสร็จเรียบร้อยจะถูกส่งไปยังแท่นบูชาที่จุดควันหอมรอไว้ บางที่จะยกเทวรูปผ่านกระถางควันหรือไฟก่อนจะขึ้นประดิษฐานไปโดยลำดับเพื่อขจัดปัดเป่าอีกรอบ

 

เมื่อตั้งเทวรูปครบถ้วนแล้ว เครื่องสักการะบูชา ถ้วยน้ำชา อาหารและผลไม้จะถูกนำมาจัดเรียงไว้เบื้องหน้า เพื่อจะประกอบพิธีจกสิ่วหรือการถวายพระพรชัยมงคลและสมโภชต่อไป

อาจารย์ของผมท่านเคยบอกว่า การเจิมเทวรูปนั้นผู้ประกอบพิธีก็มีข้อควรระวัง เป็นต้นว่า ท่านจะไม่เจิมเทวรูปที่ไม่รู้จัก ไม่มีชื่อ หรือตั้งแต่งกันขึ้นมาใหม่เอง เพราะหากผู้ประกอบพิธีขานชื่อเทพเจ้าองค์นั้นซึ่งมิได้มีอยู่จริง อาจมีสิ่งไม่เป็นมงคลหรือภูตผีปีศาจมา “ขานรับ” ชื่อนั้นแล้วเข้าสิงในเทวรูปแทน เจ้าบ้านก็อาจได้รับโทษภัยจากคุณผีกระทำแทนที่จะเป็นเทพเจ้า

ขั้นตอนพิธีกรรมยังมีอยู่อีกครับ แต่เนื้อที่วันนี้หมดเสียแล้ว

โปรดติดตามต่อในคราวหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง