‘พระลพ-พระลบ-พระรบ หรือพระรถ?’ ไยจึงแตกต่างจากพระพิมพ์สกุลลำพูนรูปแบบอื่น?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ชื่อพระพิมพ์ทรงนี้เขียนอย่างไรกันแน่

ด้านทิศตะวันตกของนครหริภุญไชย ไม่ไกลจากวัดมหาวัน มี “กู่ร้าง” อยู่หลังหนึ่ง มีชื่อเรียกที่คลุมเครือ บ้างเรียก “กู่พระลบ” บ้างเรียก “กู่พระรบ” ตกลงใช้ ล.ลิง หรือ ร.เรือกันแน่? โจทย์ยากอยู่ที่การออกเสียงของคนล้านนามักไม่ลั่นลิ้นตัว ร.เรือ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ยากต่อการแยกตัว ล. กับ ร.

เท่านั้นยังไม่พอ ตัวสะกดด้านหลัง หากตัว ล.ลิง ถูกต้อง คำถามอีกหนึ่งข้อคือ ควรเขียนด้วย พ.พาน หรือ บ.ใบไม้ เหตุที่อ่านออกเสียงแม่กบเหมือนกัน และหากเป็น ร.เรือ ควรเป็น บ.ใบไม้ หรือ ถ.ถุง ด้วยความที่ภาษาล้านนาสามารถดิ้นไปมาได้ระหว่างแม่กบกับแม่กด

ดังนั้น โจทย์ของเราตอนนี้มีสี่คำ พระลพ พระลบ พระรบ และพระรถ ดิฉันจะขอวิเคราะห์รากศัพท์ของแต่ละคำ ในลักษณะเชื่อมโยงเข้ากับตำนานท้องถิ่นลำพูน ดังนี้

 

“พระลพ” ในรามายณะคือแฝดพี่

มีปราชญ์บางท่านเห็นว่า ควรใช้ ล. ลิง ตามด้วย พ.พาน เพราะคำนี้เป็นคำเดียวกันกับ “ลวะ” “ลพ” หรือ “ละโว้” บ้านเกิดเมืองนอนของพระนางจามเทวี ก่อนเสด็จขึ้นมาครองลำพูน ดังนั้น หากใช้คำว่า “ลพ” น่าจะมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับเมืองละโว้ของพระนางจามเทวี

ในเรื่องรามายณะ “ละวะ” เป็นนามพระโอรสแฝดพี่องค์โต ของพระรามกับนางสีดา ในขณะที่ “กุสะ” เป็นแฝดน้ององค์เล็ก ชื่อนี้มีที่มาจากหญ้ากุสะ ที่พระฤๅษีวาลมิกีเป็นผู้โปรยพร้อมอวยพรให้เมื่อแรกประสูติ โดยส่วนบนของหญ้าเรียกว่า “ลว” (ละวะ/ลพ) และส่วนล่างของหญ้าเรียกว่า “กุสะ”

หากยึดตามนี้ สมมุติว่ากู่นี้ชื่อ “พระลพ” จริง เป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจเป็นกู่บรรจุพระอัฐิของเจ้ามหันตยศ โอรสแฝดพี่ของพระนางจามเทวี ด้วยฉากและชีวิตหลายตอนของพระนางจามเทวี-พระสวามีเจ้าชายรามราช มีความทับซ้อนและคล้ายคลึงกันกับเรื่องราวของนางสีดา-พระราม อยางน่าอัศจรรย์

 

“พระลบ” ในรามเกียรติ์กลับเป็นแฝดน้อง

คําที่สอง “พระลบ” คำนี้มีหลายท่านเชื่อว่าเป็นคำที่ถูกต้อง ในที่นี้ “พระลบ” ชื่อเดียวสามารถแยกวิธีการอธิบายออกได้ 3 นัย

นัยแรก เหตุที่กู่ร้างแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่เรียกว่า “หนองสะเหน้า” จุดที่ “ขุนหลวงวิลังคะ” ได้พุ่งสะเหน้าหรือหอกตกใส่หนองน้ำนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก ในเหตุการณ์ท้าพนันรัก-พนันรบกับพระนางจามเทวี

แล้วเกี่ยวอะไรกัน?

เกี่ยวสิคะ เพราะมุขปาฐะที่ชาวลำพูนเล่าสืบต่อกันมานั้น ได้กล่าวว่า หลังจากที่สะเหน้าของขุนหลวงวิลังคะมาตกใส่ในหนองน้ำแห่งนี้แล้ว บริเวณนี้ถือว่า “ตกขึด” กลายเป็นสถานที่อัปมงคล ดังนั้น จำเป็นต้องล้างอาถรรพ์ด้วยการสร้างพระพิมพ์ขึ้นมารุ่นหนึ่ง

พระพิมพ์รุ่นนั้นได้ชื่อว่า “พระลบ” สร้างเพื่อจงใจลบคำสาปแช่ง และล้างคุณไสยที่ขุนหลวงวิลังคะกระทำใส่เมืองลำพูน

นัยที่สอง บางท่านว่า “พระลบ” นี้น่าจะเป็นการเรียกตามลักษณะใบหน้าและเครื่องเคราที่ลบเลือนของพระพิมพ์นั่นเองต่างหาก เพราะเป็นพิมพ์ทรงที่มองเห็นพระพักตร์กับจีวรไม่ชัด

นัยที่สาม ยิ่งมีความน่าสนใจ เพราะเป็นความหมายตรงกันข้ามกับ “พระลพ” โดยสิ้นเชิง กล่าวคือ นัยนี้ พระลบจักเปลี่ยนเป็น “แฝดน้อง” หมายถึง “เจ้าอนันตยศ” ไปในบัดดล

เรื่องรามเกียรติ์ ฉบับ ร.1 (รามเกียรติ์ไม่ใช่รามายณะ) ระบุพระนามว่า “พระลบ” (ใช้ บ.ใบไม้) เกิดจากการเนรมิตขึ้นของพระฤๅษีวัชมฤค จากรูปวาดที่พระฤๅษีกำลังจะลบทิ้ง แต่นางสีดาขอให้ชุบไว้ เพื่อจะได้เป็นเพื่อนเล่นกับ “พระมงกุฎ” (พระโอรสที่แท้จริงของพระรามกับนางสีดา) พระลบจึงมีสถานะเป็น “ลูกเลี้ยง” หรือ “แฝดน้อง” ของนางสีดา เมื่อคราวถูกพระรามเนรเทศ ไปขออาศัยอยู่กับพระวัชมฤคฤๅษี

ดังนั้น นาม “พระลบ” ในเรื่องรามเกียรติ์ จึงหมายถึงแฝดองค์เล็ก หรือเจ้าอนันตยศ

กรณีการเปลี่ยนชื่อของตัวละครให้พลิกกลับสลับกันเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชวินิจฉัยไว้ในพระราชนิพนธ์ บ่อเกิดรามเกียรติ์ ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนซึ่งเกิดจากการเล่าเรื่องสืบกันมาระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง นานหลายศตวรรษ

ส่งผลให้ จาก “พระลพ” ที่แปลว่าแฝดพี่ มาสู่ “พระลบ” ที่หมายถึงแฝดน้อง “กู่พระลบ” อาจเป็นกู่บรรจุพระอัฐิของเจ้าอนันตยศ โอรสแฝดน้องของพระนางจามเทวี ก็เป็นได้

อนึ่ง เราต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่า ชื่อของกู่พระลบนั้น เรียกกันมาตั้งแต่ยุคไหน? เนื่องจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เพิ่งมีขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี่เอง ในขณะที่รามายณะนั้นเป็นวรรณคดีโบราณที่มีมาตั้งแต่อินเดียแล้ว

 

“พระรบ” สร้างเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่ทหารยามออกรบ

คําว่า “พระรบ” นั้นเล่า มาได้อย่างไร หลายท่านเห็นว่า ควรใช้คำนี้มากกว่า เนื่องจาก “รบ” หมายถึงการสู้รบ ประหัตประหาร

การใช้ตัวสะกดนี้ ปราชญ์ลำพูนก็มีคำอธิบายสองนัยเช่นเดียวกัน

นัยแรก จากการที่หนองน้ำแห่งนี้ต้องเป็นที่ตั้งรับของสะเหน้าที่ฝ่ายศัตรูพุ่งตกลงมา ถือว่าหนองน้ำแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิรบ

นัยที่สอง บางท่านว่าการสร้างพระพิมพ์รุ่นพระรบนั้น เป็นการสร้างเพื่อ “ตัดไม้ข่มนาม” เป็นขวัญกำลังใจให้แก่ทหารนำพระรบติดตัวไปเป็นขวัญกำลังใจในคราวออกศึก

สรุปคำว่า “พระลพ” “พระลบ” และ “พระรบ” สามคำนี้มีความหมายคนละอย่าง ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ชาวลำพูนเวลาพูดถึงกู่ร้างและพระพิมพ์สกุลช่างหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของลำพูน มักพูดหรือเขียนสลับกันไปมาระหว่างสามคำนี้

 

“พระรถ” ข้อเสนอใหม่จากเมธีวิจัยอาวุโส

เมื่อปี 2562 อ.ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร อดีตเมธีวิจัยอาวุโส ได้เดินทางมาเก็บข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่เมืองลำพูน ดิฉันได้พาท่านไปเยี่ยมชนวัดมหาวันและกู่พระลพ/ลบ/รบ พร้อมอธิบายถึงความสับสน กับชื่อเรียกอันหลากหลายของกู่แห่งนี้ที่ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า ชื่อไหนถูกต้องแน่ชัดนัก

อาจารย์วินัยกล่าวแก่ดิฉันว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ท่านอยากขอเพิ่มความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ดิฉันไปขบคิดต่ออีกสักหนึ่งปริศนาจะเป็นไรไป นั่นคือ การที่ท่านเสนอทฤษฎีเพิ่มขึ้นมาใหม่อีกหนึ่งข้อ

เป็นไปได้ไหมว่า ไม่ใช่ทั้งพระลพ/พระลบ/พระรบ แต่อาจเป็น “พระรถ” ต่างหาก

“ในความเห็นของผม บริเวณด้านทิศตะวันตกของนครหริภุญไชย ที่ ดร.เพ็ญ กับท่านครูบาประกอบบุญ เจ้าอาวาสวัดมหาวันพาผมไปดูนั้น เกลื่อนไปด้วยกู่อัฐิของพระบูรพมหากษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย อาทิ สุวรรณจังโกฏ วัดจามเทวี กู่บรรจุพระบรมอัฐิและพระสรีรางคารพระนางจามเทวี ถัดมาเป็นกู่พระญาติ๊บ ก็บรรจุพระบรมอัฐิของพระญาอาทิตยราช (จามเทวีซอย 1)

ผมเชื่อว่า บริเวณฟากตะวันตกนี้น่าจะต้องมี ‘กู่ของพระญาสรรพสิทธิ์’ อีกที่ไหนสักแห่ง แต่คงล่มสลายไปแล้ว ส่วนกู่ที่บรรจุพระอัฐิของพระราชบิดาของพระองค์ ผู้มีพระนามว่า พระญารถราช (ระ-ถะ-ราช) หรือ ‘พระรถ’ (อ่าน รด) นั้น อาจจะเป็นเจ้าของชื่อที่แท้จริงของกู่ปริศนาหลังนี้ก็ได้ เพียงแต่ว่าภายหลังมาเรียกเพี้ยนไปจากแม่กดเป็นแม่กบ กลายเป็น ลพ/ลบ/รบ ในทัศนะของผม ที่ถูกต้องน่าจะเป็น ‘กู่พระรถ’ มากกว่า”

ในท้ายที่สุด ดิฉันได้โจทย์เพิ่มขึ้นมาอีก 1 คำ 1 นัย ว่าด้วยประเด็นแปลกใหม่ ฤๅกู่แห่งนี้อาจเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระรถ (พระญารถราช) กษัตริย์หริภุญไชยองค์ที่ 34?

พุทธลักษณะผิดแผกแตกต่างจากพระสกุลลำพูน

ปัญหาเกี่ยวกับชื่อคำสะกดนั้นยังไม่นิ่ง เพราะต้องอิงกับข้อเท็จจริงที่ใช้งาน ประเด็นเหล่านี้คงยังต้องถกเถียงกันอีกยาวนาน จึงขอแขวนไว้ก่อน

ลองหันมาพินิจพุทธลักษณะของพระพิมพ์ที่พบในกู่พระลบ (ขออนุญาตใช้คำนี้เป็นหลักเพียงชื่อเดียวก่อน เพราะเป็นชื่อที่ใช้ออกเสียงเรียกของคนในชุมชน) พบว่า มีความผิดแผกแตกต่างจากพระพิมพ์สกุลลำพูนองค์อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง

ทั้งพิมพ์ทรงและเนื้อดินของพระลบ แตกต่างไปจากพระพิมพ์สกุลลำพูนโดยสิ้นเชิง ขอบคุณภาพประกอบจากคุณน้อย ไอยรา
ทั้งพิมพ์ทรงและเนื้อดินของพระลบ แตกต่างไปจากพระพิมพ์สกุลลำพูนโดยสิ้นเชิง ขอบคุณภาพประกอบจากคุณน้อย ไอยรา

เริ่มตั้งแต่เนื้อดิน เนื้อดินของพระพิมพ์ลำพูนทุกสกุลช่าง ไม่ว่าองค์ใหญ่แบบพระสิบแปด พระสิบสอง หรือองค์เล็กอย่างพระรอด พระคง องค์กลางอย่างพระเลี่ยง พระสาม

ไม่ว่าจะเก่ามาก เช่น กลุ่มพระพิมพ์ร่วมสมัยกับพระทวารวดี พยู่ ของวัดสันป่ายางหลวง หรือจะเป็นสมัยหริภุญไชยตอนปลายยุคที่ได้รับอิทธิพลขอมขึ้นมาแล้ว เช่น พระสามละโว้ ฯลฯ

ด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่าพระพิมพ์ลำพูนแล้วไซร้ ล้วนได้รับยกย่องว่าเป็นสุดยอดของเนื้อดิน ที่มีความนวลละเอียด ผิวสีชมพูอมเหลือง ใบหน้าคมเด่นชัด เกิดจากการกดแม่พิมพ์ที่คมกริบ

การลดรูปใช้เส้นน้อยมาก ดูหนาและหนักของพระลบ จนบางองค์ดูคล้ายสามง่าม ทำให้เซียนพระหลายท่านมองว่า พระลบมีลักษณะค่อนไปทางงานพุทธศิลป์อยุธยาตอนปลายเมื่อ 400 ปีก่อนเท่านั้น ภาพจากคุณน้อย ไอยรา
ด้านหลัง ด้านข้าง มุมก้นของพระลบ แตกต่างจากพระพิมพ์สกุลลำพูนโดยสิ้นเชิง ทั้งเนื้อดินและวิธีปาด ภาพจากคุณน้อย ไอยรา

ในขณะที่พระลบ กลับเป็นพระพิมพ์ที่ลบเลือนไม่ชัดเจน ลบเลือนทั้งพระพักตร์ พระวรกาย และฐาน ในเรื่องของสีดินเผา ยุคหลังเริ่มพบว่ามีหลายสีอยู่เหมือนกัน ย้อนกลับไปสู่ยุคของเกจิชื่อดังคือ “ตรียัมปวาย” บันทึกไว้ว่าพบพระลบเพียงแค่สีแดงเข้มเท่านั้น

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะกำหนดอายุของพระลบไว้ว่า “ไม่เก่าถึงยุคหริภุญไชย” เป็นพระพิมพ์ที่สร้างสมัยล้านนาตอนปลาย ร่วมสมัยกับอยุธยา (พ.ศ.2000-2101) ด้วยเหตุที่พระลบใช้เส้นหนัก (ลดรูป ลดทอนรายละเอียดเครื่องเครา คล้ายศิลปะแบบนามธรรมมากแล้ว) วิธีการกดพิมพ์ก็ไม่ประณีตวิจิตรเท่าพระพิมพ์สกุลลำพูน

เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ร่ายยาวมาซะขนาดนี้แล้ว แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว แต่เชื่อว่าข้อมูลทั้งหมดจะช่วยให้ผู้ที่สนใจประเด็นนี้ ได้รับการคลี่คลายปมปริศนาที่เคยสงสัยลงบ้าง •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ