‘ก้าวต่อไป’ หลัง ’50 ปี 14 ตุลา’ ในทรรศนะ ‘3 ปัญญาชน’

เปลี่ยนผ่าน | ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ก้าวต่อไป’ หลัง ’50 ปี 14 ตุลา’

ในทรรศนะ ‘3 ปัญญาชน’

 

หมายเหตุ : ในวาระ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “มติชนทีวี x ใบตองแห้ง (อธึกกิต แสวงสุข)” ร่วมกันจัดทำรายการสัมภาษณ์พิเศษ 6 “คนเดือนตุลา” ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว และนักการเมือง

ในสามตอนแรก ใบตองแห้งได้ไปสนทนากับปัญญาชนสามราย ซึ่งนอกจากจะวิเคราะห์วิจารณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อห้าทศวรรษก่อนแล้ว พวกเขายังแสดงทรรศนะถึงสภาวะปัจจุบันและอนาคตของสังคมการเมืองไทยด้วย ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

 

จรัล ดิษฐาอภิชัย

“มีคนถามผมว่า ทำไมผมจึงสนับสนุนก้าวไกล? ที่ผมสนับสนุนก้าวไกลเพราะว่าแนวทางการต่อสู้ของผมเป็นแนวทางพื้นฐานเลย ซึ่งมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว คือต้องหนุนกองหน้า แล้วไปโอบล้อมกองกลาง แล้วก็ผลักดันกองหลัง

“ในทุกสังคม ในทุกกลุ่มชน ในทุกขบวนการ ในทุกองค์การ มันจะมีคนสามกลุ่มอยู่ตลอดเวลา หนึ่ง กองหน้า ซึ่งจะเป็นส่วนน้อย สอง กองกลาง มากกว่าหน่อย สาม กองหลัง คนส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้จุดยืนจากการต่อสู้ เราต้องหนุนกองหน้า แม้ว่ากองหน้าเขาอาจทำอะไรเหมือนที่คุณ (ใบตองแห้ง) เคยเขียนครั้งหนึ่งว่า พาให้พวกเราต้องตีลังกาตาม

“หมายความว่ากับกองหน้าเราต้องหนุน ไม่เขาอาจจะเลยธงไปบ้าง สมัยก่อน เราใช้คำว่าอาจจะซ้ายจัดไปบ้าง หรือรุนแรงไปบ้าง สำหรับกองกลางมันจะลังเล เอนไปเอนมา โลเลไปโลเลมา เราต้องโอบอุ้มไปต่อ สำหรับกองหลัง ดันเลย

“ผมใช้แนวความคิดนี้ ผมจะพูดถึงก้าวไกลมากหน่อย จนกระทั่งพรรคพวกที่อยู่พรรคเพื่อไทยเขาหาว่าผมเป็นพวกก้าวไกล บางคนประกาศจะไม่คบผม ผมอายุ 76 ปีแล้ว อีกไม่กี่ปีก็จะตาย ถ้าผมมัวแต่ไปยึดถือพรรคนั้นพรรคนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ (การต่อสู้ก็ไม่สำเร็จ)

“ผมต้องการผนึกกำลัง เพราะอย่าลืมว่าศัตรูของเรา ใช้ภาษาทหารหน่อย ศัตรูของฝ่ายประชาธิปไตยหรือของประชาชนเขายังเข้มแข็ง เขายังแข็งแกร่ง แม้ว่าคนจะด่าเขา แม้ว่าคนจะเสื่อมความนิยมเขา แต่เขายังแข็งแกร่งอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ผนึกกำลังกัน เราจะไปสู้เขาได้อย่างไร เราไปต่อต้านเขาได้อย่างไร

“สรุปอย่างนี้ คือ ในโอกาส 50 ปี 14 ตุลา ผมก็อยากให้พวกเราคนรุ่น 14 ตุลา มาทบทวน-สรุปตัวเอง ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ควรจะก้าวต่อไปอย่างไร ก้าวต่อไปก็คือก้าวหน้า แล้วก็อย่างไรต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่…

“เพราะฉะนั้น ต่อคนรุ่นใหม่ ต่อ (เยาวชนเช่น) หยก อย่างไรเราต้องสนับสนุนเขา ถ้าเขาทำอะไร เราต้องแนะนำ ช่วยเหลือเขา ไม่ใช่ไปด่า หาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นจุดยืนของผม แล้วก็อยากให้พวก 14 ตุลา 6 ตุลา ที่อยู่ในพรรคเพื่อไทยทบทวนตัวเอง”

 

เกษียร เตชะพีระ

“ตอนที่มืดที่สุด ผมรู้สึกแบบนั้นตอน 2520 กว่า ก่อนที่ผมจะไปเรียนต่อ (ดังที่เคยเขียนกลอนว่า) ‘ที่นั่นริมฝั่งเจ้าพระยา ลมชายโชยมาเวลาค่ำ ท้องฟ้าเป็นสีมืดดำ ดาวตกเดือนต่ำราตรี เป็นคืนที่ทุกสิ่งนิ่งหยุด เงียบเชียบทั้งมนุษย์ภูตผี’ คือทุกอย่างเงียบหมดเลย ผมไม่คิดว่าจะมี (เหตุการณ์) แบบ 4-5-6 ปีที่ผ่านมา

“ไอ้ตอนที่เกิดรัฐประหารของบิ๊กตู่ โอ้โห แม่งมืดฉิบหาย ผมยอมรับว่า ตอนนั้นอาจจะรู้สึกยิ่งกว่าตอน 2520 กว่า เพราะนี่เป็นรัฐบาลที่อำนาจนิยม และเล่นงานสิทธิเสรีภาพผู้คนอย่างใจไม้ไส้ระกำมาก

“ผมไม่คิดว่าจะมีพรรคอนาคตใหม่ ผมไม่คิดว่าจะมีพรรคก้าวไกล และที่สำคัญกว่านั้น ผมไม่คิดว่าจะมีคนตัวเล็กๆ ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร

“มีกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นี่คือสิ่งดีงามที่สุด สวยงามที่สุด ที่เกิดจากรัฐประหารของบิ๊กตู่ คือกลุ่มทนายที่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้คน

“ถ้าดูสิ่งเหล่านี้แล้ว ผมมีความหวังว่า มันไม่ได้อยู่ที่ไอ้พวกตัวใหญ่ๆ ที่ข้าวต้มมัดหรือเลิกมัดอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่คนตัวเล็กๆ ที่เขาไม่ยอม และเขาสู้ แล้วเขากล้าเสียสละ เขารู้ว่าเขาจะต้องเสียอะไรบ้าง แล้วเขากล้าเสีย ใจแบบนี้ มึงระวัง!

“คือไม่ได้บอกว่าจะชนะพรุ่งนี้ ไม่ได้แปลว่าจะชนะมะรืนนี้ 10-20 ปี ผมไม่รู้ (แต่) มีคนไม่ยอมมึง แล้วเขากล้า เขาฉลาด”

 

ธงชัย วินิจจะกูล

“การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สิ่งที่ผมประทับใจ บอกได้ตรงๆ ผมประทับใจก้าวไกล ผมไม่ได้ปิดบัง แต่แน่นอน อย่ามาบอกผมเป็นด้อมส้ม ผมมีระยะห่างพอที่จะบอกว่า เราก็สามารถวิจารณ์พรรคก้าวไกลในแบบนั้นในประเด็นนั้นได้เยอะแยะ

“สิ่งที่ผมประทับใจคืออะไร? (ก้าวไกล) พูดถึงปัญหาหลายอย่าง แล้วที่เราพูดกันมานาน เป็นปัญหาเชิงระบบ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เขาสามารถทำให้สิ่งที่เรียกว่าระบบและโครงสร้างมันเป็นรูปธรรม

“หลายประเด็นทำให้ผมเห็นแล้วผมมีความหวังด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างชัดๆ เลย เมื่อพูดเรื่องปฏิรูปกองทัพ ที่ผ่านมาผมก็เห็นอยู่ กองทัพมีอำนาจมากเกินไป แทรกแซงสังคมไทยมากเกินไป มีอำนาจอิทธิพลจนเป็นรัฐบาลเงาที่เป็นรัฐปรสิต ทำให้สังคมไทยมีปัญหาอย่างมาก เห็นมาตลอด

“แต่พอเรื่องปฏิรูปกองทัพ ผมไม่เคยลงไปคิดลงไปศึกษาเป็นรูปธรรมว่าต้องทำอะไรบ้าง ก้าวไกลมาเป็นชุด (นโยบาย) เลย เป็นรูปธรรม กฎหมายเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้เกี่ยวข้องกัน

“มีกรณีอื่นอีกใช่ไหม ก็มีเรื่องไฟฟ้า คือมาเป็นชุดเป็นรูปธรรม ทำให้ผมเห็นเลยว่า ไอ้สิ่งที่ผมเอง ขนาดเราก็ฉลาดพอสมควรนะ เราก็ยังไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรมขนาดนี้เลย เวลาพูดว่าเป็นปัญหาเชิงระบบ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ว่าไปแล้วเราก็ขี้ตู่สาธารณชนหน่อยๆ คือเราพูดเป็นนามธรรม โดยที่ในหัวเราเองเรายังไม่ชัด นี่เขามี

“สิ่งเหล่านี้เหรอคือสิ่งที่เรียกว่า ‘เลยยอดมะพร้าว’? ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็น ‘สิ่งที่เลยยอดมะพร้าว’ แปลว่า ‘ยอดมะพร้าว’ นี่แสนจะผิวเผิน ไปลูบหลังลูบไหล่กันแค่นั้นหรือ?”