มองไทยใหม่ : ภาษาไทยมามีรูปวรรณยุกต์ไม่พอที่จะผันเสียงในภาษาไทยถิ่นได้ ?

วรรณยุกต์ในภาษาไทยถิ่นและภาษาท้องถิ่น (๒)

ความเห็นเรื่องการไม่น่าจะต้องถอดเสียงวรรณยุกต์ในภาษาถิ่นนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของ “อภิรัตน์” ที่ปรากฏใน คอลัมน์ “ถ้อยแถลง” สตรีสาร ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๓๓ วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ ที่ว่า

“ภาษาไทยมาตรฐานนั้นมีรูปวรรณยุกต์ไม่พอที่จะผันแทนระดับเสียงทั้งหมดในภาษาไทยถิ่นได้ จึงลำบากที่จะถอดคำพูดสำเนียงไทยถิ่นต่างๆ มาเป็นตัวอักษร โดยใช้ระบบรูปวรรณยุกต์ของภาษาไทยมาตรฐาน มันไม่ลงพอดี”

“อภิรัตน์” ได้ยกตัวอย่างคำคมในภาษาใต้ที่ว่า

“อยากมั่งมี ให้สร้างสวนหมาก อยากให้ยาก มีเมียสอง”

ควรเขียนตรงๆ โดยไม่ต้องเติมเครื่องหมายวรรณยุกต์เป็น “ย้าก…” หรือ

“ดินดำน้ำชุ่ม ป(ล)ากุ่มบ้อน คือแขแกว่งหาง”

ก็ไม่ต้องพยายามถอดเป็น “ดิ๊นด๋ำ…” ซึ่งนอกจากจะรุงรังแล้ว ยังมีปัญหาด้านสำเนียงอีกด้วย แม้จะไม่มีเครื่องหมายวรรณยุกต์กำกับ คนใต้ก็สามารถออกเสียงสำเนียงใต้ได้เอง และเป็นไปได้มากว่า คนใต้จาก ๒ จังหวัด อาจจะออกสำเนียงไม่เหมือนกันก็ได้ ส่วนคนไม่รู้ภาษาใต้เลย แม้จะเห็นรูปวรรณยุกต์ ก็ไม่สามารถออกเสียงได้เหมือน

ความเห็นของ “เอื้อ มณีรัตน์” และ “อภิรัตน์” คือเสียงสะท้อนจากเจ้าของภาษาถิ่นที่มีต่อการใช้รูปวรรณยุกต์เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนี้ ราชบัณฑิตยสภา กำลังดำเนินการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ๓ ภาค ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน และ ภาษาไทยถิ่นใต้ สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ จะใช้อักษรไทย (สระ พยัญชนะ วรรณยุกต์) เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เขียนคำจากทั้ง ๓ ภาคนี้อย่างไร

หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านแล้ว ก็พอจะสรุปความได้ว่า

รูปเขียนที่เก็บไว้ในพจนานุกรมจะมีทั้งรูปเขียนอักษรถิ่น และรูปเขียนอักษรไทย ตามหลักเกณฑ์การปริวรรตอักษรถิ่น ภาคอีสานเก็บทั้งรูปอักษรไทยน้อยและอักษรธรรมอีสาน ส่วนภาคเหนือเก็บรูปอักษรธรรมล้านนา นอกจากนี้ยังใช้สัทอักษร ซึ่งหมายถึงอักษรและเครื่องหมายที่กำหนดใช้แทนเสียงต่างๆ ด้วย เช่น 

เนื่องจากภาษาถิ่นทั้ง ๓ ถิ่นนี้มีเสียงวรรณยุกต์มากกว่าเสียงวรรณยุกต์ของภาษาไทยมาตรฐาน จึงต้องใช้ตัวเลขกำกับระดับเสียงที่สัทอักษร โดยจะขอยกตัวอย่างภาษาไทยถิ่นเหนือ ดังนี้

ภาษาไทยถิ่นเหนือ มี ๖ ระดับเสียง คือ ๑ (เทียบเสียงสามัญ) ๒ (เทียบเสียงเอก) ๓ เทียบเสียง (โท) ๔ (เทียบเสียงตรี) ๕ (เทียบเสียงจัตวา) ๖ (เทียบเสียงโท)

ขอให้สังเกตว่าระดับเสียงที่ ๖ นั้น ในรูปการเขียนอักษรกลางกับอักษรสูงใช้รูปโทของภาษาไทย แต่การออกเสียงนั้นเจ้าของภาษาจะรู้ว่าระดับเสียงที่ ๖ ออกอย่างไร ส่วนอักษรต่ำใช้รูปโทแล้วออกเป็นเสียงตรีเช่นเดียวกับภาษาไทย

ภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยถิ่นใต้แม้ว่าจะมี ๗ ระดับเสียงเท่ากัน แต่บางระดับเสียงก็ออกต่างกัน ซึ่งจะไม่ขอลงรายละเอียดในที่นี้

เมื่อใดที่พจนานุกรมภาษาไทยถิ่นเผยแพร่ออกมา ก็คงจะได้เห็นหลักเกณฑ์ต่างๆ อย่างละเอียด

คอลัมน์ “มองไทยใหม่” เพียงแต่นำมาบอกเล่าว่า แม้จะไม่มีการสร้างรูปวรรณยุกต์ใหม่ให้สับสน แต่ก็มีวิธีการเขียนเทียบเสียงได้ โดยไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์ทั้งหมดของภาษาไทยมาตรฐานซึ่งมีเสียงวรรณยุกต์เพียง ๕ ระดับ

หมายเหตุ

ขอขอบคุณ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมภาษาไทยถิ่น ราชบัณฑิตยสภา ที่เอื้อเฟื้อภาพ ตารางเสียงวรรณยุกต์ภาษาไทยภาคเหนือ