Story ของไทยวันนี้คืออะไร? น่าสนใจกว่าของคนอื่นอย่างไร? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน บอก Bloomberg ว่าขอเวลา 6 เดือนที่จะเปลี่ยนใจนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่มีความมั่นใจในเศรษฐกิจของไทย

เพราะนักข่าวคนนั้นเธอบอกว่านักลงทุนต่างชาติ not quite buying into the Thai story

แปลตรงตัวว่า “ไม่ซื้อเรื่องราวของไทย”

อันมีความหมายความว่าไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับโอกาสที่จะมาลงทุนในไทยแล้วจะได้ผลที่เขาต้องการ

คุณเศรษฐาบอกว่าอาจจะเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้ออกไปเล่าเรื่องของประเทศไทยให้โลกข้างนอกได้รับทราบเพียงพอ

ดังนั้น นายกฯ คนใหม่จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจว่าจะเดินสายไปชี้แจงอธิบายว่าประเทศไทยน่าลงทุนเพียงใด

คุณเศรษฐาประกาศว่าจะเป็น Salesman หมายเลขหนึ่งของประเทศด้วยซ้ำ

ความมั่นใจของคุณเศรษฐาว่าภายใน 6 เดือนจะ “เปลี่ยนใจ” นักลงทุนที่ยังมีความสงสัยคลางแคลงเกี่ยวกับไทยนั้นไม่ทราบว่ามาจากไหน

และ 6 เดือนนี้จะต้องทำอะไรบ้างจึงจะทำให้ความสงสัยเหล่านั้นหายไป

แต่ที่แน่ๆ คือปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ออกไป “เล่าขาน” ถึงความน่าลงทุนของประเทศไทย

ประเด็นคงอยู่ที่ว่า story ที่ว่านี้คืออะไร?

 

คําว่า “story” ในความหมายของนักลงทุนต่างชาติหรือนักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์ในไทยนั้นคือ “ตัวตนจริงๆ ของประเทศไทยที่เป็นจุดขาย” ของประเทศนี้

story ของเราที่ผ่านมาเป็นเรื่องเก่าๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

หรือไม่ก็ใช้คำเท่ๆ สวยๆ ตามสมัย แต่ไม่เข้าใจและไม่มีความเชื่อจริงๆ ว่ามันคือ “คุณค่าที่จะต้องสร้างให้ได้ไม่ว่าจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม”

รัฐบาลที่ผ่านมาใช้ “คำขวัญ” ที่แขวนป้ายหน้าบ้านเฉยๆ แต่ไม่ปัดกวาดชะล้างสิ่งโสโครกในบ้าน

นักการเมืองและข้าราชการไทยมีความเก่งกล้าสามารถในการแขวนป้ายขึ้นแผ่นผ้าในสถานที่ราชการเพื่อให้เห็นว่าทำตามนโยบายของรัฐบาล

แต่ไม่ทำจริง ไม่เข้าใจ ไม่สนใจ และไม่กล้าวิเคราะห์แยกแยะและตั้งคำถาม

ใครบอกว่าโลกกำลังเห่อเรื่องอะไร ทางการไทยก็จะเอาเรื่องนั้นมาวางเป็นนโยบายเพื่อของบประมาณ ทำรายงานบนกระดาษ แล้วก็ลืมกันไป

ทุกกระทรวงล้วนเสนอให้เรื่องของตนเป็น “วาระแห่งชาติ” และรัฐบาลก็ต้องการประชาสัมพันธ์ว่ากำลังทำเรื่องใหญ่ๆ ให้ประชาชน

ไปๆ มาๆ เรื่องที่เป็น “วาระแห่งชาติ” มีเป็นร้อยๆ เรื่อง

เมื่อทุกอย่างสำคัญเท่ากันก็แปลว่าไม่มีอะไรสำคัญเลย

 

เราบอกว่าจะยกเลิกกฎหมายเก่าล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

นายกฯ ตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อจะพิจารณายกเลิกกฎหมายล้าสมัยเหล่านั้น

เรียกตามชาติอื่นให้เก๋ไก๋ว่าเป็น Guillotine ที่จะใช้ฟาดฟันเฉือนกฎหมายคร่ำครึเหล่านั้นทิ้งให้หมดสิ้น

แต่เอาเข้าจริงๆ ข้อเสนอของคณะกรรมการระดับชาติก็ไม่มีความหมายอะไร

เพราะข้อสรุปและข้อเสนอแนะทั้งหลายเหมือนยักษ์ไร้กระบอง ไปสั่งการกระทรวงไหนให้เลิกกฎหมายฉบับไหน

ถ้านายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงเองไม่เอาจริงก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เราบอกว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 และต้องหาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับ S Curve

แต่ในทางปฏิบัติยังน่าสงสัยว่าหน่วยราชการสักกี่แห่งที่เข้าใจความหมายของศัพท์แสงเหล่านี้

 

ดังนั้น ไทยจึงมีแต่ story เก่าๆ ที่ขายไม่ออก

พอเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย (ก่อนหน้านี้เราถูกสิงคโปร์และมาเลเซียแซงหน้าไปก่อนแล้ว) เริ่มปรับตัวเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศของตนด้วย story ใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจกว่าประเทศไทย เราก็พยายามจะปลอบใจตัวเองว่าของเรายังดีกว่า

ใครบอกว่าเวียดนามและอินโดนีเซียนำหน้าเราไปในหลายด้าน ก็จะมี “คนรักชาติ” มาบอกว่าคนพูดอย่างนั้น “ไม่รักชาติ” เห็นคนอื่นดีกว่าตัวเอง

เพราะคนในรัฐบาลยังท่องบ่น story เดิมๆ ว่าไทยยังดีกว่าเพื่อนบ้าน

เพราะเรามีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดีกว่าใครในแถบนี้

เพราะคนไทยน่ารัก ยิ้มเก่ง และอาหารไทยอร่อย

เพราะใครๆ ก็อยากมาเที่ยวประเทศไทย

เพราะค่าใช้จ่ายของเราถูกกว่าคนอื่นที่เป็นคู่แข่ง

รัฐบาลไทยก็อยากจะเชื่อว่าเรายังเหนือกว่าคนอื่น ดังนั้น จึงไม่มีความพยายามอะไรที่จะปฏิรูปยกเครื่องทั้งระบบให้แข่งกับคนอื่นเขาได้

หรือหากจะมีความพยายามก็เป็นแค่การตั้งคณะกรรมการศึกษา ส่งคนไปดูงานต่างประเทศ และกลับมาทำรายงานที่เก็บขึ้นหิ้งต่อไป

 

ดังนั้น story ของเราก็ยังเหมือนเดิม เช่น เรามี BoI มี EEC และมีข้าวที่อร่อยที่สุดในโลก

แต่ก็เป็นเพียงป้ายที่ติดไว้ที่ข้างฝา ไม่ได้สร้างเรื่องราวและเนื้อหาสาระที่เป็นรูปธรรมน่าจับต้องแต่ประการใด

ตรงกันข้าม เพื่อนบ้านเราสร้าง story ที่ปิดจุดอ่อน และสร้างจุดแข็งขึ้นมาใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง

เขาสร้างความแข็งแกร่งด้านตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาพรวมก่อนเพราะนั่นคือข้อมูลชุดแรกที่นักลงทุนรายใหญ่ๆ วิเคราะห์เป็นเบื้องต้นก่อน

จากนั้นเขาออกไปถามไถ่ทั้งโลกว่าแนวโน้มของการลงทุนกำลังจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด

ประเทศเหล่านั้นกลับมาพร้อมข้อมูลที่วิเคราะห์แล้วกลับมา “จัดบ้าน” ของตัวเองให้พร้อมสรรพ

อะไรที่ต้องเปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎกติกามารยาท หรือขั้นตอนของการขอเข้าประเทศหรือคุณภาพของแรงงาน รวมไปถึงทุกมิติของ “ความสะดวกในการเข้ามาทำธุรกิจ”

เขาไปประเมินว่าโลกข้างนอกเขากำลังให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดอะไรมากที่สุด แล้วเขาก็ปรับให้ได้ตามนั้น

ไม่ว่าจะเป็น Corruption Index หรือดัชนีวัดคอร์รัปชั่นของตน

หรือ Competitiveness ความสามารถในการแข่งขันกับคนอื่นโดยเฉพาะในย่านเดียวกัน

หรือคุณภาพของการศึกษา

หรือความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมที่พร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลง

หรือมาตรการต่อสู้กับ Climate Change ที่กำลังกลายเป็นมาตรฐานสำหรับการส่งออกของสินค้าต่างๆ ไปยังยุโรปและสหรัฐ

และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยอื่นๆ ที่ว่ามาแล้ว นั่นคือ การบังคับใช้กฎหมาย หรือ law enforcement

ซึ่งโยงกับเรื่องการทับซ้อนแห่งผลประโยชน์หรือ conflict of interests ในหมู่ผู้นำ, นักการเมือง, ข้าราชการ และนักธุรกิจ

โยงไปถึงเสถียรภาพการเมืองที่ตั้งอยู่บนหลักการของความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ทั้งหมดนี้คือ story ที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายแห่งตระหนักมาหลายปี ลงมือแก้ไขปรับปรุง และให้คนข้างนอกมาประเมิน

ผู้นำในเพื่อนสมาชิกอาเซียนของเรามีบทบาทอย่างยิ่งยวดในการออกไปเล่า story ของประเทศของตน

ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์

หรือนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย

หรือนายกฯ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนาม

และประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย

ท่านเหล่านี้คือผู้นำที่ปรากฏตัวในเวทีสาธารณะทั่วโลกเพื่อนำเสนอ story ของประเทศตัวเอง

ผู้นำเหล่านี้สามารถนำเสนอความเห็นและแนววิเคราะห์สถานการณ์โลกจากมุมมองของตนและภูมิภาคเพื่อสะท้อนว่าประเทศของตนมีความเป็นสากลและมีจุดยืนที่ลุ่มลึกทันกับความเปลี่ยนแปลง

ผู้นำเหล่านี้ไม่แสดงสุนทรพจน์แบบโบราณ อ่านถ้อยคำที่เจ้าหน้าที่เขียนให้อย่างเป็นทางการเหมือนไม่เคารพในสติปัญญาและเวลาของผู้ฟัง

แต่ละท่านได้สร้าง story ของประเทศตนด้วยการแสดงวิสัยทัศน์ รู้เท่าทันกับแนวโน้มใหม่ๆ ของโลก

และสามารถสร้างสายสัมพันธ์กับประเทศใหญ่น้อยได้อย่างมีเกียรติ, รู้เท่าทันและนำพาประเทศไปปักหมุดบนแผนที่โลกอย่างชาญฉลาดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

 

คําถามของเราก็คือว่าเรารู้หรือยังว่า story ของไทยใน พ.ศ.นี้คืออะไร

เมื่อยังไม่รู้ เราจะมีกระบวนอย่างไรจึงจะเข้าใจซึ้งถึง story ที่มีทั้งเนื้อหาสาระอันน่าเชื่อถือ

ไม่ใช่แค่การสร้างภาพให้ฟังดูสวยงามและห่างไกลจากความเป็นจริง

และสำคัญกว่าอะไรอื่นต้องไม่ลืมว่า story ของเรามิใช่วางอยู่โดดๆ ในเวทีสากล

คนอื่นจะเอา story ของเราไปเปรียบกับ story ของคนอื่นเสมอ

คำถามสุดท้ายจึงต้องเป็นว่า

story ของเราน่าตื่นเต้นเร้าใจกว่าของคนอื่นตรงไหนอย่างไร?