โมเมนต์ในหางโจว 2022

วัชระ แวววุฒินันท์

ปิดฉากไปแล้วสำหรับการแข่งขันกีฬาอันยิ่งใหญ่ของชาวเอเชีย กับ “หางโจว 2022” หรือเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19

ผลงานด้านการคว้าเหรียญของประเทศไทยก็สวยงามไม่น้อย พวกเขาและเธอเอาหยาดเหงื่อไปคว้าเหรียญทองมาได้ 12 เหรียญ, เหรียญเงินอีก 14 เหรียญ และ เหรียญทองแดงอีก 32 เหรียญ รวมทั้งสิ้น 58 เหรียญ จบในอันดับที่ 8 ของเอเชีย และยืนหนึ่งในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ในการแข่งขันครั้งนี้หากใครเป็นคอกีฬาคงจะได้รับทราบถึงเหตุการณ์ทั้งที่น่าประทับใจและที่น่าเสียใจที่เกิดขึ้นกันไปบ้าง

เครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ขอนำมาย้อนเล่าในบางโมเมนต์ก็แล้วกันนะครับ

 

เริ่มจากโมเมนต์ที่สุดดราม่ากันตั้งแต่แข่งขันวันแรกๆ เลย ก็คือ การได้เหรียญทองเทควันโด รุ่น 49 ก.ก. ของ “น้องเทนนิส-พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ที่มีเรื่องที่ต้องเล่าถึง เพราะเหมือนกับพล็อตในหนังญี่ปุ่นที่เราเคยดูเลยก็ว่าได้

ในยกที่สามที่เป็นยกตัดสิน เทนนิสแข่งกับนักกีฬาประเทศเจ้าภาพ แล้วเหมือนผีจับยัดให้ทางเจ้าภาพ คะแนนไหลพรวดๆ เร็วยิ่งกว่าคลื่น 5 G จากที่นำอยู่ 6-0 แป๊บเดียวไปถึง 23-0 และเหลือเวลาอีกเพียง 1 นาทีนิดๆ เท่านั้น

โมเมนต์แรกที่น่าประทับใจคือการต่อสู้เพื่อประท้วงแบบ “กูไม่ยอม” ของโค้ชเชของเรา ที่เข้าไปกดดันกรรมการกลางแบบถึงลูกถึงคน บวกกับการเข้าไปสอบถามแบบ “เอ็งเล่นอะไรของเอ็งวะ” ของนายกสมาคมเทควันโดของไทย คือ คุณพิมล ศรีวิกรม์ ก็ทำให้กรรมการต้องยอมปรับคะแนนใหม่ให้ลงมาที่ 6-0 ก่อนที่จะเกิดแต้มไหล

เหตุการณ์ชุลมุนช่วงนี้ใช้เวลาหลายนาที ตัดภาพมาที่น้องเทนนิสที่สับสนอยู่ว่าจะเป็นยังไง และตนต้องทำอย่างไร ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์ในภายหลัง น้องเทนนิสเล่าว่าเธอใช้คาถา “ช่างแม่ง” คือถ้าต้องแข่งกับแต้ม 23-0 จริงๆ ในเวลาแค่ 1 นาทีก็จะขอสู้ให้ถึงที่สุด อะไรจะเกิดก็ช่างแม่ง

ฮะ ฮะ ฮ่า เป็นวิธีการคิดที่สุดยอดจริงๆ ขอชื่นชม

แม้สุดท้ายจะได้กลับมาที่ 6-0 ก็ตาม แต่การตามเจ้าภาพโดยมีเวลาเหลือแค่ 1 นาทีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยกหัวจิตหัวใจของเธอที่เลือกการเข้าทำโดยเตะศีรษะ เพราะถ้าโดนจะได้ถึง 3 แต้มทีเดียว และในเวลา 1 นาทีทองที่ว่า เธอก็รัวเตะเหน่งๆ ไปได้ถึง 4 ครั้ง คะแนนขึ้นมาเป็น 12 แต้ม ชนะไปในที่สุด

 

ซึ่งในเหตุการณ์นี้ มีโมเมนต์ซ้อนเข้ามาอีกที่ต้องขอเล่า นั่นคือ “กำลังใจที่สำคัญของเธอ” ที่มาจากเสียงเชียร์ของครอบครัวที่เข้ามาเชียร์ในสนามถึง 11 คน ตะโกนว่า “พ่ออยู่นี่ เราอยู่นี่ สู้ๆ” เป็นยาโด๊ปทางใจอย่างดีเยี่ยมที่ทำให้เธอสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมาได้ ถ้าเป็นซีรีส์ก็ต้องชื่อตอนนี้ว่า “เตะเพื่อครอบครัว”

แต่โมเมนต์ที่ซ้อนลงไปอีกคือ หะแรกทั้งครอบครัวจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาส่งเสียงเชียร์ในสนามอย่างที่ว่า เพราะหาตั๋วไม่ได้ ในขณะที่ร้อนรนเรื่องตั๋วอยู่นั้น มีหญิงชาวจีนที่ตั้งใจมาดูกีฬาสังเกตเห็น และเมื่อเข้าไปสอบถาม เธอก็ยินดีสละตั๋วของเธอให้ พร้อมทั้งช่วยรวบรวมจากคนอื่นๆ อีกจนครบ 11 ใบให้ครอบครัวของเทนนิสได้เข้าไปเชียร์ได้ เธอให้สัมภาษณ์ว่า

“ฉันจะเข้าไปดูตอนไหนก็ได้ เพราะเราเป็นเจ้าภาพ แต่สำหรับครอบครัวนี้ ถ้าพวกเขาไม่ได้เข้าไปเชียร์ลูกหลานของตัวเองในนัดชิง คงจะรู้สึกแย่แน่ๆ”

ต้องขอชื่นชมกับน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของเธอผู้นี้จริงๆ นี่แหละคือเสน่ห์ของกีฬาที่เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ ในหางโจว

 

อีกโมเมนต์หนึ่งที่เป็นน้ำใจที่น่าประทับใจเช่นกัน แต่เป็นเรื่องระหว่างนักกีฬาด้วยกัน นั่นคือ ในกีฬาว่ายน้ำหญิงประเภทผีเสื้อ 50 เมตร ผลการแข่งขันคือผู้ได้เหรียญทองเป็นนักว่ายน้ำสาวจากประเทศจีน “จาง หยูเฟย” ส่วนเหรียญทองแดงเป็นของญี่ปุ่น “ริกาโกะ อิคิเอะ”

หลายคนคงรู้ดีว่า ระหว่างสองประเทศนี้มักไม่ค่อยถูกกัน มีเรื่องให้ต้องกระทบกระทั่งกันเสมอ แต่กับการแข่งขันครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะเธอทั้งสองเป็นเพื่อนนักว่ายน้ำด้วยกันมาก่อน การอยู่คนละประเทศไม่ได้กีดขวางมิตรภาพดีๆ ลงได้

และโมเมนต์ที่เกิดขึ้นคือ ตอนรับเหรียญที่สองคนโผเข้ากอดกันและร้องไห้ออกมาอย่างมากมาย นั่นก็เพราะ “ความดีใจจากความสำเร็จของการต่อสู้ของเพื่อน” เนื่องมาจากสาวน้อยริกาโกะ เธอป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตั้งแต่ปลายปี 2019 ต้องใช้เวลากว่า 1 ปีในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่ใจของเธอไม่ยอมแพ้ เธอต่อสู้กับโรคร้ายและผ่านมันมาได้ และสู้ต่อเพื่อให้ได้ว่ายน้ำในกีฬาที่เธอรักอีกครั้ง

และครั้งนี้เธอทำมันได้ ไม่ใช่แค่กลับมาลงแข่งได้ แต่ได้ถึงเหรียญทองแดง ได้ขึ้นโพเดียมเคียงข้างเพื่อนรักของเธอที่ได้เหรียญทองไปครอง

นี่เป็นตัวอย่างที่น่าประทับใจของการเป็นผู้ไม่ยอมแพ้

 

อีกโมเมนต์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับกีฬาวอลเลย์บอลหญิง เมื่อทีมชาติญี่ปุ่นต้องเจอกับทีมชาติอัฟกานิสถาน และในเซ็ตที่สองของการแข่งขัน สกอร์นั้นออกมาที่ญี่ปุ่นเอาชนะได้ 25-0 เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่น่าจดจำของทีมชาติอัฟกานิสถานแต่อย่างใด

ในขณะที่คนที่ไม่รู้ได้ออกมาวิจารณ์แถมล้อเลียนมากมาย แต่เบื้องหลังของสาวๆ ทีมชาติอัฟกานิสถานคือ เธอไม่ได้เสียใจ แต่กับดีใจ และภูมิใจด้วยซ้ำ ที่ตนเองได้มาร่วมแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อกลุ่มทาลิบันได้ปกครองประเทศนี้อีกครั้งเมื่อปี 2021 ก็ได้จำกัดสิทธิ์และเสรีภาพของ “ผู้หญิงอัฟกานิสถาน” มากมาย รวมทั้งการไม่ส่งเสริมการเล่นกีฬาด้วย ในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ไม่มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่หญิงได้เดินทางมาที่หางโจวแม้แต่คนเดียว

แล้วนักกีฬาหญิงกลุ่มนี้มาจากไหน?

เธอเป็นผู้ลี้ภัยที่ต้องจากครอบครัวไปอยู่ในประเทศต่างๆ การได้มาแข่งขันครั้งนี้ เกิดจากนโยบาย “ไม่นำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับกีฬา” จึงทำให้เจ้าภาพอนุญาตให้พวกเธอรวมตัวกันมาแข่งในนามทีมชาติของเธอได้

ด้วยจิตใจที่กล้าหาญที่ต้องการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเธอในการเป็นพลเมืองสตรีของอัฟกานิสถาน ทำให้เธอได้มารวมตัวเฉพาะกิจ บางคนมาจากอินเดีย, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ พวกเธอได้รวมตัวกันซ้อมแค่ 1 วันเมื่อเดินทางมาถึงประเทศจีน นั่นทำให้ผลการแข่งขันออกมาดังที่เห็นนั้น

แต่นั่นก็คือความสำเร็จของพวกเธอที่ภาคภูมิใจว่า ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสตรีในประเทศของตนแล้ว และหวังว่ามันอาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดที่กลุ่มทาลิบันมีต่อผู้หญิงได้ เราจึงได้เห็นรอยยิ้มและน้ำตาแห่งความดีใจจากพวกเธอหลังจบสิ้นการแข่งขัน เป็นความประทับใจที่มีความเศร้าเสียใจเจือปน

และในการแข่งขันเพื่อจัดอันดับ พวกเธอก็ขอถอนตัวไม่ลงแข่งขัน เพราะเกรงว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวของพวกเธอที่ยังอยู่ในอัฟกานิสถาน

เพียงเท่านี้ก็ถือว่ายิ่งใหญ่เกินพอแล้วสำหรับหัวจิตหัวใจของพวกเธอ

 

อีกหนึ่งโมเมนต์เล็กๆ ที่เป็นเรื่องของครอบครัว แต่ก็ชวนให้ชื่นใจไม่น้อย สำหรับนักตะกร้อสาวไทยที่เป็นมือเสิร์ฟ ที่ชื่อ “น้องปริม-ปริมประภา แก้วคำไสย์” ในหางโจวเกมส์นี้เธอคว้าไปได้ 2 เหรียญทอง คือ ตะกร้อทีมชุดหญิง และ ตะกร้อทีมเดี่ยวหญิง นอกจากความดีใจที่สามารถคว้าเหรียญทองได้ เธอยังดีใจที่ได้เดินตามรอยเท้าพี่สาวแท้ๆ อีกด้วย

พี่สาวของเธอคืออดีตนักตะกร้อหญิงทีมชาติไทย “นิตินัดดา แก้วคำไสย์” ฉายา “เพชฌฆาตเงียบ” ที่ได้ฉายานี้เพราะเธอเป็นใบ้ แต่การเป็นใบ้นั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคให้เธอได้แสดงความสามารถทางตะกร้อจนประสบผลสำเร็จมาแล้วมากมาย

น้องปริมอายุห่างจากพี่สาวถึง 11 ปี และตั้งใจว่าจะต้องติดทีมชาติให้ได้ เธอเคยถูกเรียกให้ไปฝึกซ้อมกับทีมชาติเหมือนกัน แต่ไม่เคยถูกเรียกในตอนท้าย มาครั้งนี้ที่เธอมุมานะจนสำเร็จ เสียดายที่พี่สาวเธอได้เลิกเล่นไปแล้ว ไม่อย่างนั้นถ้าได้เล่นร่วมกันคงเป็นนักตะกร้อสองพี่น้องที่ใครๆ ต้องพูดถึงแน่ๆ ถึงอย่างนั้นตอนที่โทรศัพท์ไปบอกว่าติดทีมชาติแล้วนะ พี่สาวเธอถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความดีใจแทนน้อง

และแล้วน้องปริมก็คว้ามาได้สองเหรียญทองกับการติดทีมชาติครั้งแรก กลายเป็นฮีโร่ของคนไทยเหมือนที่พี่สาวเธอเคยเป็น ช่างเป็นเหรียญทองที่มีสายใยความผูกพันระหว่างสองคนพี่น้องที่น่าประทับใจไม่น้อยเลย

 

ซึ่งจากโมเมนต์ที่เล่ามานี้ ล้วนเกิดกับนักกีฬาผู้หญิงทั้งนั้น เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดกับนักกีฬาผู้ชาย ที่ไม่ได้เป็นโมเมนต์ที่ดีเสียเลย

โมเมนต์แรกเกิดขึ้นเมื่อจบการแข่งขันเทนนิสชายเดี่ยวในรอบ 32 คน ที่นักกีฬาของไทย คือ “กษิดิศ สำเร็จ” พลิกล็อกเอาชนะนักหวดลูกสักหลาด “ควอน ซุนวู” จากเกาหลีใต้ลงได้ ทั้งที่มีอันดับโลกที่สูงกว่ามาก และเป็นตัวเต็งในครั้งนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ นักเทนนิสเกาหลีเก็บอารมณ์โกรธและผิดหวังไม่อยู่ ฟาดแร็กเก็ตกับพื้นสนามอย่างแรงหลายครั้งเพื่อระบายอารมณ์จนไม้เทนนิสหักบิดเบี้ยว ไม่เท่านั้น เมื่อกษิดิศเดินจะไปขอจับมือ ก็ปฏิเสธการจับมือด้วย ซึ่งเป็นการผิดมรรยาทอย่างร้ายแรง

แม้ในภายหลังเมื่อข่าวเรื่องนี้ได้แพร่ออกไป เจ้าตัวจะได้เข้ามาขอโทษในภายหลัง แต่มันก็สายเกินไปแล้วในความรู้สึกของแฟนกีฬาที่ได้รับรู้

เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬายิงปืนทีมชาย ประเภทปืนยาวอัดลม ผู้ได้เหรียญทองคือทีมจากเกาหลีใต้ ส่วนเหรียญเงินคือทีมจากเกาหลีเหนือ แน่นอนที่ทั้งสองประเทศเป็นคู่อริกันมายาวนาน แต่ในการแข่งขันกีฬานั้นไม่น่าจะนำเรื่องการเมืองมาปะปน

ภาพอันน่าเกลียดที่แฟนกีฬาได้เห็นในตอนรับเหรียญบนโพเดียม คือ การเมินเฉยจากทีมเกาหลีเหนือต่อผู้ชนะคือเพื่อนนักกีฬาจากเกาลีใต้ ทั้งตอนที่เพลงชาติเกาหลีใต้บรรเลง พวกเขาก็ไม่ได้หันตัวไปเพื่อแสดงความเคารพแต่อย่างใด เมื่อเพลงจบจะมีการถ่ายภาพรวม ก็ไม่ยอมเข้าใกล้ หรือแสดงความยินดีกับนักกีฬาเกาหลีใต้ตามธรรมเนียม

ช่างเป็นความคับแคบทางจิตใจโดยแท้

 

ส่วนโมเมนต์อื่นๆ ที่ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นกับนักกีฬาในหลายประเภทคือ อาการบาดเจ็บ แฟนๆ ที่เชียร์อยู่หน้าจอได้ทราบข่าวถึงการถอนตัวบ้าง การลงแข่งขันได้ไม่เต็มที่บ้าง รวมทั้งการพลาดเป้าไปเพราะความไม่พร้อมของร่างกาย ซึ่งเป็นเหมือนฝันร้ายของนักกีฬาและทีมงานที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

ขอเป็นกำลังใจให้นักกีฬาที่บาดเจ็บหรือร่างกายไม่พร้อม ให้กลับมามีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์พร้อม เพื่อได้เล่นกีฬาที่ตนรักโดยเร็ว รวมทั้งให้มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ลบอดีตที่ผิดหวังทิ้งไป และก้าวต่อไปถึงเป้าหมายในวันข้างหน้าที่รออยู่

ขอขอบคุณนักกีฬา ทีมงาน และผู้เกี่ยวข้องในทุกชนิดกีฬาที่ลงแข่งขันใน “หางโจว 2022” นี้ ไม่ว่าจะได้เหรียญหรือไม่ได้ แต่พวกคุณๆ คือ ฮีโร่ของคนไทยอย่างแท้จริง •

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์