โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์ : ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

โบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในพิพิธภัณฑ์สาธารณ์

: ข้อสังเกตว่าด้วยการสร้างสมดุลทางความหมาย (3)

 

ในทัศนะผม หนึ่งในประเด็นท้าทายมากที่สุดในการบริหารจัดการพื้นที่พิพิธภัณฑ์ในสังคมไทยสมัยใหม่ คือ การรักษาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างสถานะของการเป็นโบราณวัตถุแบบสาธารณ์กับรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ (สำหรับโบราณวัตถุบางชิ้น และอาจจะอีกหลายชิ้นตามมาในอนาคต ที่กำลังเปลี่ยนความหมายไปสู่รูปเคารพ) ท่ามกลางบรรยากาศที่เรียกร้องการย้อนกลับไปสู่การสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในทุกปริมณฑลทางสังคม

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องความสมดุล เพื่อให้เรามองเห็นภาพของประเด็นนี้ชัดเจนขึ้น ผมอยากขอยกอีกตัวอย่าง แต่เป็นกรณีตัวอย่างในมุมกลับ (ถ้าเทียบกับกรณีของประติมากรรมพระคเณศ) ซึ่งบ่งชี้ให้เราเห็นเค้ารางของปัญหาโบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์อีกด้านที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นั่นก็คือ กรณีการจัดแสดง ผอบทรงสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุกรุวัดมหาธาตุ อยุธยา ภายในห้องจัดแสดงเครื่องทองอยุธยาหลังใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ที่เพิ่งเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 30 ธันวาคม พ.ศ.2565

การจัดแสดงพระบรมสารีริกธาตุ กรุวัดมหาธาตุ อยุธยา ภายในอาคารใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

ตามรูปแบบเดิม ผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุชิ้นนี้ถูก “จัดแสดง” หรือเรียกให้ถูกต้องมากกว่าคือ “ประดิษฐาน” อยู่ภายในบุษบก ในสถานะที่ก้ำกึ่งคาบเกี่ยวกันระหว่างการเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับโบราณวัตถุมาอย่างยาวนาน ภายในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา

อย่างไรก็ตาม หากจะพูดกันตามตรง สถานะของพระบรมสารีริกธาตุมีแนวโน้มที่ค่อนไปทางวัตถุศักดิ์สิทธิ์มากกว่า สังเกตได้จากการเข้าไปเยี่ยมชมของผู้คน ซึ่งมีเป็นจำนวนไม่น้อยเลยที่ ณ ขณะเข้าชมจะทำการสักการะพระบรมสารีริกธาตุไปพร้อมกัน

แต่ในการจัดแสดงใหม่ ภัณฑารักษ์ต้องการให้ผู้เข้าชมเข้าใจถึงลักษณะของการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามคติความเชื่อของคนอยุธยาโบราณที่เป็นการบรรจุไว้ภายในภาชนะที่ทำด้วยวัตถุมีค่าประเภทต่างๆ ซ้อนกันเป็นชั้นๆ ซึ่งในกรณีนี้วัดมหาธาตุ มีการบรรจุซ้อนกันมากถึง 7 ชิ้น

ดังนั้น ภัณฑารักษ์จึงได้ตัดสินใจที่จะนำผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมภาชนะบรรจุทั้งหมดมาจัดแสดงโดยวางเรียงยาวต่อกันทั้ง 7 ชิ้น เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถมองเห็นลักษณะของโบราณวัตถุได้อย่างชัดเจน และเข้าใจได้ถึงการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นชั้นๆ ตามแบบโบราณ

หากมองในเชิงวิชาการและในมิติของการจัดแสดงโบราณวัตถุ การจัดแสดงใหม่ถือเป็นการออกแบบที่ยอดเยี่ยมและช่วยสร้างความเข้าใจประเพณีโบราณของผู้คนในอดีตได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญ วิธีการจัดแสดงแบบนี้จะช่วยให้เกิดการคิดต่อยอดทางความรู้ในหลากหลายสาขาได้เป็นอย่างดี

แต่หากมองในมุมที่โบราณวัตถุชิ้นนี้คือวัตถุศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเคารพสักการะ การจัดแสดงใหม่ได้เข้าไปลดทอนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ตั้งใจให้เป็นแบบนี้ก็ตาม

พระบรมสารีริกธาตุภายใต้รูปแบบการจัดแสดงใหม่ มีสถานะเป็นเพียงโบราณวัตถุ ถูกตั้งอยู่ในระดับสายตามนุษย์ ภายใต้แสงไฟที่สาดส่องเกือบทุกซอกมุม ผู้ชมสามารถยืนมองอย่างใกล้ชิด (แม้จะมีกระจกกั้น) จนแลเห็นพื้นผิวของวัสดุที่ถูกนำมาทำภาชนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุทุกชิ้นได้อย่างชัดเจน

ไม่เหลือความเร้นลับ ความขรึมขลัง ตลอดจนบรรยากาศของความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป

ด้วยรูปแบบใหม่ คงไม่น่าจะมีใครใช้คำว่า “ประดิษฐาน” ที่มีนัยยะของวัตถุศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป โดยคำที่เหมาะสมมากกว่าคือ “จัดแสดง” ที่มีนัยยะของการเป็นโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์โดยสมบูรณ์

การจัดแสดงผอบทรงสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ กรุวัดมหาธาตุ อยุธยา ที่ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นได้อย่างใกล้ชิด

ความเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดแสดงดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจและก่อให้เกิดข้อวิจารณ์ไม่น้อยในกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งแม้จะไม่ได้กลายมาเป็นกระแสต่อต้านในวงกว้าง แต่ก็สะท้อนให้เราเห็นถึงความขัดแย้งที่น่าสนใจในการสร้างความหมายให้แก่โบราณวัตถุที่แตกต่างกันในกลุ่มคนกลุ่มต่างๆ ที่กำลังปรากฏให้เราเห็นบ่อยครั้งมากขึ้นในพื้นที่พิพิธภัณฑ์

นอกจากพื้นที่พิพิธภัณฑ์ ในพื้นที่โบราณสถานหลายแห่ง เราก็จะเริ่มพบเห็นความขัดแย้งนี้เช่นกัน ที่แฝงอยู่ภายใต้การออกกฎระเบียบใหม่ๆ บางอย่างที่น่าสนใจ

โบราณสถานหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มเข้มงวดกับการเดินขึ้นไปเหยียบโบราณสถาน ซึ่งแน่นอน กฎระเบียบเหล่านี้เริ่มต้นด้วยความกังวล (ที่เข้าใจได้) ในการที่นักท่องเที่ยวในอดีตชอบปีนป่ายไปในที่ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานและในบางกรณีอาจเป็นอันตรายต่อต่อนักท่องเที่ยวเองด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดเหล่านี้ในหลายกรณีเกิดขึ้นอย่างผสมปนเปไปด้วยเหตุผลเรื่อง “ความไม่เหมาะสม” ที่นักท่องเที่ยวจะเดินขึ้นไปเหยียบโบราณสถานบางจุดที่เคยเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ข้อห้ามเหล่านี้ในบางกรณีมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงเลยกับความเสียหายหรืออันตรายที่อาจจะมีต่อโบราณสถาน

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า การออกข้อห้ามลักษณะนี้มิใช่มีแค่สังคมไทยนะครับ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่โบราณสถานหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในสังคมที่มีความเข้มข้นทางศาสนาค่อนข้างมาก

อีกทั้งข้อห้ามเหล่านี้ก็มิใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดใหม่แต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า ปรากฏการณ์นี้ในสังคมไทย แม่ในอดีตจะพบเจออยู่บ้าง แต่ในปัจจุบันระเบียบข้อห้ามต่างๆ เริ่มปรากฏให้เราเห็นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

บางแห่งมีป้ายห้ามเหยียบลงบนพื้นที่ที่เคยเป็นอาสนะสงฆ์ภายในโบสถ์วิหารร้าง บางแห่งห้ามถึงขนาดไม่ให้เดินขึ้นไปภายในอาคารที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ทำได้แต่เพียงเดินชมอยู่บนฐานชั้นล่างเท่านั้น ซึ่งบางกรณีด้วยสภาพของโบราณสถาน เราเข้าใจได้ว่าข้อห้ามเกิดขึ้นจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย

แต่ในหลายกรณีเช่นกันที่เกิดขึ้นเพราะเหตุผลที่ไม่อยากให้มีคนเดินขึ้นไปเพราะพื้นที่เหล่านั้นเคยเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ข้อห้ามเหล่านี้ หลายคนอาจมองว่าไม่เห็นเสียหายอะไร แต่หากมองในรายละเอียด ในหลายกรณีได้เริ่มส่อเค้ารางที่นำไปสู่การเป็นข้อกำหนดที่ขัดขวางการศึกษาหาความรู้ทางวิชาการ

ในทริปหนึ่งที่ไม่นานมานี้เอง ผมได้พานักศึกษาไปทัศนศึกษาโบราณสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโบราณสถานประเภท “มูลคันธกุฎี” (มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีการออกแบบองค์พระพุทธรูปคับแน่นเต็มอาคาร ซึ่งนักวิชาการลงความเห็นว่า การออกแบบเช่นนี้เพื่อสื่อนัยยะของการเป็นกุฏิของพระพุทธเจ้า) ซึ่งเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวน่าสนใจ

เนื่องจากความต้องการที่จะให้นักศึกษาได้มองเห็นร่องรอยของโครงสร้างอาคารด้วยตาตนเอง เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งจึงได้ให้นักศึกษาเดินเข้าไปภายในอาคารมณฑป แต่เมื่อนักศึกษาเดินเข้าไปก็ถูกตะโกนห้าม ด้วยเหตุผลเรื่องความเหมาะสม

ที่น่าสังเกตคือ ผู้ที่ตะโกนห้ามไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่เป็นคนอื่นที่กังวลถึงความไม่เหมาะควรที่นักศึกษาจะเดินขึ้นไปภายในมณฑปร้างที่เคยเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ได้เคยพานักศึกษาไปทัศนศึกษา ไม่เคยเกิดกรณีเช่นนี้มาก่อนเลย

ตัวอย่างนี้ แม้จะยังเป็นเพียงประเด็นเล็กน้อย แต่โดยเนื้อแท้แล้ว มันสะท้อนถึงความขัดแย้งที่ลึกซึ้งระหว่างการเป็นพื้นที่ศึกษาหาความรู้แบบสาธารณ์กับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งกำลังเพิ่มขึ้นและท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้โดยส่วนตัว จะมีความเห็นโน้มเอียงไปในทางที่ไม่อยากให้โบราณวัตถุและโบราณสถานซึ่งเคยมีสถานะเป็นวัตถุและพื้นที่แบบสาธารณ์ถูกเปลี่ยนความหมายกลับไปสู่การเป็นรูปเคารพและพื้นที่ทางศาสนา แต่ก็เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนที่มองโบราณวัตถุสถานเหล่านี้ว่าคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ความย้อนแย้งที่น่าปวดหัวนี้ นำเราย้อนกลับมาสู่ประเด็นคำถามตอนต้นของบทความอีกครั้ง

สังคมไทย โดยเฉพาะกรมศิลปากรในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจในการบริหารจัดการโบราณวัตถุและโบราณสถานทั่วประเทศ ควรจัดการกับประเด็นเหล่านี้อย่างไร เพื่อที่จะสร้างสมดุลที่เหมาะสมให้เกิดขึ้น โดยที่ด้านหนึ่งก็ไม่เข้าไปขัดขวางหรือทำลายการศึกษาหาความรู้จากโบราณวัตถุและโบราณสถานตามหลักวิชาการ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถรักษาสถานะของการเป็นรูปเคารพและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนาเอาไว้ได้

แม้ผมเองจะยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจ แต่ก็อยากทดลองนำเสนอเป็นข้อสังเกตบางประการในเบื้องต้นเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจนำไปคิดต่อ หากเกิดกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต