มงคล ‘ร.9’ ทรงสร้าง ‘พระสมเด็จจิตรลดา’ คุณค่าไม่ต่างจากเพชร

“พระสมเด็จจิตรลดา” หรือ “พระกำลังแผ่นดิน” เป็นพระเครื่องที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ช่วงระหว่าง พ.ศ.2508-2513

“พระดีที่มีคุณค่าไม่ต่างจากเพชร” ไม่ว่าผู้ใดล้วนอยากได้มีไว้ในครอบครองที่เป็นขวัญกำลังใจ มหามิ่งมงคลของพสกนิกรไทยทั้งประเทศ

จัดสร้าง “พระสมเด็จจิตรลดา” มีทั้งสิ้นประมาณ 2,500 องค์ ทุกองค์มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์

โดยทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ”

ขณะปิดทองให้ตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานขอให้ความดีงามที่มีอยู่ในตัว จงดำรงอยู่ต่อไป และขอให้ยังความเป็นสิริมงคล จงบังเกิดแก่ตัวยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ประสบแต่ความสุขความเจริญในทางที่ดีงาม

 

การปิดทองด้านหลังองค์พระ เป็นปริศนาธรรมบางอย่างที่ทรงมีพระราชดำริในการปลูกฝังนิสัยให้ผู้รับพระราชทาน นำไปคิดเป็นทำนองว่า การที่บุคคลใดจะทำกุศลหรือประโยชน์สาธารณะใดๆ พึงมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยแท้จริง มิได้หวังลาภยศ ชื่อเสียง ตามคติโบราณที่ว่า “ปิดทองหลังพระ”

สำหรับความเป็นมาของการสร้าง พระสมเด็จจิตรลดา ในช่วงเวลาก่อนที่จะทรงมีพระราชดำริให้สร้าง “พระพุทธนวราชบพิตร” ในราวปีพุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป กรมศิลปากร เข้ามาเป็นผู้แกะแม่พิมพ์พระพุทธรูปพิมพ์นี้ในพระราชฐาน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พระองค์ทรงตรวจพระพุทธศิลป์ของพระพุทธรูปพิมพ์องค์นี้ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย

พระสมเด็จจิตรลดา

พระพุทธรูปพิมพ์ที่แกะถวายนั้น เป็นพระพุทธรูปพิมพ์นั่งปางสมาธิแบบขัดราบ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย ประทับเหนือดอกบัวบานบน 5 กลีบ ล่าง 4 กลีบ รวมเป็น 9 กลีบ รูปทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร สูง 3 เซนติเมตร และองค์เล็กขนาดกว้าง 1.2 เซนติเมตร สูง 1.9 เซนติเมตร

ความพิเศษอยู่ที่ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง โดยทรงใช้เวลาหลังจากทรงพระอักษร และทรงงานอันเป็นพระราชภารกิจในตอนดึก มวลสารประกอบด้วยผงมหามงคลจาก “สิ่งมงคลในส่วนพระองค์” และ “ผงมหามงคลร้อยแปด” อาทิ ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่พสกนิกรทูลเกล้าฯ ถวาย ในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกต, เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา), สีจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์, ชันและสีซึ่งทรงขูดจากเรือใบพระที่นั่ง รวมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ ดอกไม้แห้ง ผงธูป เทียนบูชาจากพระอารามหลวงที่สําคัญ, ดินจากสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งในประเทศอินเดีย และประเทศศรีลังกา ซึ่งสมณทูตได้ถวายเก็บไว้ในเจดีย์ที่วัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี, ดินและตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมาจากวัดทุกจังหวัดในประเทศไทย, น้ำจากบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเคยนํามาใช้ เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและน้ำอภิเษก เป็นต้น

ส่วนความแตกต่างของพุทธลักษณะขององค์พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์ใหญ่ในแต่ละปี มีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งสามารถพอจะแยกจุดเด่นๆ ขององค์พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์ใหญ่ ตั้งแต่ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2508 ถึงปี พ.ศ.2513

 

สังเกตดูตามลักษณะพิมพ์ทรง ความคมลึกชัดขององค์พระในแต่ละปีไม่เท่ากัน ซึ่งเข้าใจว่าเกิดจากการที่ทรงถอดจากแม่พิมพ์หินเป็นแม่พิมพ์ยาง และตกแต่งแม่พิมพ์ ดูจากเนื้อสีวัสดุที่เป็นส่วนผสม ทำให้มวลสารวัตถุมงคต่างๆ แข็งตัวรวมกันเป็นองค์พระ ซึ่งพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์ใหญ่จะมีสีสันขององค์พระในแต่ละปีค่อนข้างจะดูแตกต่างกัน

ลักษณะด้านหลัง ด้านข้างสันขอบขององค์พระ และความหนาความบางขององค์พระ ซึ่งในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกัน สังเกตได้ชัดเจนพอสมควร และลักษณะการเก็บงานความเรียบร้อยหลังจากทรงเทพิมพ์เป็นองค์พระแล้ว

สำหรับพุทธลักษณะขององค์พระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็ก ตามประวัติที่ทรงสร้างประมาณว่ามีไม่มากนัก และทรงมีการพระราชทานให้เพียง 2 ปีเท่านั้น คือ ปี พ.ศ.2508 และปี พ.ศ.2509 ดูเหมือนจะหาความแตกต่างไม่ได้ สำหรับพระสมเด็จจิตรลดาพิมพ์เล็กในแต่ละปี

ประการสำคัญ ผู้ได้รับพระราชทานสมเด็จพระจิตรลดาทุกองค์ จะได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และมีใบประกาศนียบัตร (ใบกำกับองค์พระ) ทุกคน

ปัจจุบันความนิยมใน “พระสมเด็จจิตรลดา” มีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แตกต่างจาก “พระเครื่องชุดเบญจภาคี” •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]