กระวานเทศ ของดีในตำรับพื้นบ้าน

กระวานเทศ ไม่ใช่ กระวานไทย

ในสังคมมนุษย์รู้จักใช้กระวานเทศมายาวนานกว่า 1,000 ปี และเป็นที่ต้องการมากเพราะกระวานเทศเป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่ราคาแพงมาก ราคาต่อน้ำหนักจะเป็นรองเพียงวานิลลา (Vanilla) และหญ้าฝรั่น (Saffron) ปัจจุบันจึงมีการปลูกในหลายพื้นที่ เช่น ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย แทนซาเนีย เวียดนาม คอสตาริกา กัวเตมาลา เป็นต้น และประเทศผู้ส่งออกกระวานเทศจำนวนมาก ได้แก่ กัวเตมาลา อินเดีย ศรีลังกา เนปาล ปาปัวนิวกีนี แทนซาเนีย ซึ่งแต่เดิมอินเดียมีพื้นที่ปลูกกระวานเทศมากที่สุด แต่ต่อมามีผู้ผลิตกาแฟในเยอรมนีได้ไปลงทุนปลูกกระวานเทศในกัวเตมาลา ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งปลูกที่ใหญ่ที่สุด

ฝรั่งเรียกชื่อสามัญของกระวานเทศว่า Cardamom, Cardamon, Cardamum, Green Cardamom, True Cardamom มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Elettaria cardamomum (L.) Maton อยู่ในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) เช่นเดียวกับกระวานไทย แต่อยู่กันเป็นคนละสกุลกับกระวานไทย (Wurfbainia) กระวานเทศมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น กระวานแท้ ลูกเอล (Ela) ลูกเอน ลูกเอ็น กระวานขาว กะวานต้น เป็นต้น

มีถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดีย ศรีลังกา และเมียนมา

 

ลักษณะลำต้นกระวานเทศเกิดมาจากการรวมตัวกันของกาบใบที่เจริญขึ้นมาเหนือดิน จนมีลักษณะเป็นกอ สูงประมาณ 3 เมตร ใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ใบรูปหอกเรียงสลับกัน ดอกออกเป็นช่อ สีขาวแกมเขียว ก้านช่อดอกจะผุดออกมาจากลำต้นที่อยู่ติดกับเดิน ผลเป็นรูปรี กลมเกลี้ยง เมล็ดสีน้ำตาล ผลแก่แห้งสีน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว มีรสเผ็ดร้อน ใน 1 ผลมีประมาณ 20 เมล็ด มีสีน้ำตาลอมดำ อัดแน่นเป็นกลุ่ม รูปร่างเป็นสามเหลี่ยมแบน แข็ง ภายในผลมีน้ำมันหอมระเหย

ผลของกระวานเทศนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารกันมาก โดยเฉพาะอาหารของคนอินเดียและคนเอเชียในบางประเทศ ในประเทศตะวันออกกลางนำมาผสมในชาและกาแฟ ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียนิยมปรุงเป็นเครื่องชูรสในอาหารประเภทปิ้งย่าง อบและอาหารหมักดองด้วย หากรวบรวมการใช้ประโยชน์จากกระวานก็พอจะกล่าวได้ดังนี้ ใช้แต่งกลิ่นและรสอาหาร เช่น ข้าว เนื้อ ผัก เป็นส่วนผสมในเครื่องแกง อาหารปิ้ง ย่าง น้ำชากาแฟ เหล้า ไอศกรีม หมากฝรั่ง ใช้ในกลุ่มเครื่องสำอางและน้ำหอม น้ำยาปรับอากาศ และใช้ในทางการแพทย์

ตามสรรพคุณทางยา กระวานเทศใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน เช่น ใบเป็นยากระตุ้นหรือขับลมให้ลงสู่เบื้องล่าง แก้ไข้เซื่องซึม ลดไข้ ผลใช้บำรุงธาตุ กระจายโลหิต เสมหะ ขับลม ช่วยเจริญอาหาร และระบาย แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้อาการเกร็งของลำไส้ กลิ่นบำบัดหรือสุคนธบำบัดใช้น้ำมันกระวานเทศ ช่วยแก้ผู้มีจิตใจอ่อนล้าหรือกระตุ้นให้มีพลัง และยังใช้กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แก้เกร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้อาเจียน แก้ท้องอืดเฟ้อด้วย

ในประเทศจีนและอินเดีย ใช้เป็นยาขับลม และรักษาอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระวาน เช่น พบว่าน้ำมันจากเมล็ด ลดอาการเกร็งของลำไส้หนู และยังมีการทดสอบฤทธิ์การยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร พบว่าเมื่อเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู (rat) ด้วยเอทานอล แต่เมื่อใช้กระวานเทศทำสารสกัดเมทานอลในขนาด 500 ม.ก./ก.ก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 70% สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 50 และ 100 ม.ก./ก.ก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 50% และทดสอบเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหนู ด้วยยาแอสไพริน พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ในขนาด 12.5 ม.ก./ก.ก. ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ 100% และที่ขนาดมากกว่า 12.5 ม.ก./ก.ก. ออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายามาตรฐาน รานิทิดีนที่ให้ในขนาด 50 ม.ก./ก.ก. ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยในตำรับพื้นบ้านของหลายประเทศ เช่น ในปี ค.ศ.2005 พบว่าสารสกัดจากเมล็ดสามารถใช้ในการรักษาอัลไซเมอร์ และมีการทดสอบตำรับของอายุรเวทที่มีส่วนผสมของกระวานเทศพบว่าสามารถรักษาอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ

และยังมีการทดลองในหนูในปี ค.ศ.2004 โดยใช้ยาอายุรเวทตำรับหนึ่งที่มีกระวานเทศเป็นส่วนผสม พบว่าสามารถกดระบบประสาทส่วนกลาง ป้องกันการชักในหนูได้

การทดลองในปี ค.ศ.2005 ได้นำตำรับพื้นบ้านของทิเบตที่มีส่วนผสมของกระวานเทศ พบว่าสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งและยังสามารถสร้างกรดนิวคลีอิกซึ่งร่างกายนำมาใช้ในการซ่อมแซมดีเอ็นเอได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็นศักยภาพของกระวานเทศ รวมถึงในปัจจุบันมีการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกระวานเทศอีกไม่น้อยกว่า 52 รายการ

กระวานอยู่ในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมในหลายประเทศทั้งอาหารและยา ที่น่าสนใจยิ่งในตำรับยาพื้นบ้านของหลายประเทศได้รับการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้วยความรู้สมัยใหม่ ทำให้ย้อนดูวงการวิชาการไทย น่าจะต้องเร่งการทำงานระหว่างภูมิปัญญาดั้งเดิมกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ให้มากขึ้น

เรียกว่ายกระดับ ซอฟต์เพาเวอร์ สมุนไพรเพื่อสุขภาพและเศรษฐกิจไทยดีหรือไม่ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org