เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ : ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (6)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

เบิ่งอีสานภายหลังการปฏิวัติ

: ตะลอนไปกับทีมปาฐกถาประชาธิปไตย (6)

 

การไปปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยในอีสานในช่วงปี 2477-2479 นั้น ในคณะมีแต่คนหนุ่ม เพราะงานนี้สมบุกสมบันมาก ทุกคนไม่ห้องห่วงสุขภาพกันเลย ทุกคนล้วนมุ่งมั่นเพื่อระบอบใหม่ แม้นบางแห่งต้องขี่ม้า บางแห่งใช้เกวียนเดินทางก็ตาม แต่ส่วนใหญ่คณะเดินทางด้วยรถยนต์บรรทุก ต้องเอาเครื่องปั่นไฟไปด้วย ไมโครโฟนก็เครื่องใหญ่

(ไพโรจน์ ชัยนาม, 2515, 29)

 

ข่าวลือในชนบทจากกลุ่มอนุรักษนิยม

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ปรากฏข่าวลือจากกลุ่มอนุรักษนิยม และฝ่ายกบฏในทำนองคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อประโยชน์ตนเอง พยายามสถาปนาการปกครองแบบราชาธิปไตยที่เอาตนเองเป็นผู้นำคนใหม่ บ้างก็มีลักษณะสร้างปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่จะบีบบังคับหรือประทุษร้ายต่อกษัตริย์

โดยรวมคือ การโจมตีระบอบการปกครองที่ตั้งขึ้นใหม่ว่า เป็นการปกครองที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการปกครองแบบกดขี่ หรือเป็นการปกครองแบบที่ไม่มีกษัตริย์อีกต่อไป เป็นการล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่ปกครองไทยมาอย่างยาวนานตามที่คนไทยคุ้นเคย

ในช่วงการก่อกบฏบวรเดชนั้น มีการปล่อยข่าวว่า รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนากำลังจะถอดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ออกจากพระมหากษัตริย์ และจะยกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แทน (สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1 ผู้มีชื่อขออาสารายงานเหตุการณ์ เสนอความเห็นและขอบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏ (แผนกข้าราชการพลเรือนและประชาชน) (5 ตุลาคม 2476-12 กันยายน 2481)) เพื่อปลุกเร้าราษฎรให้เข้าร่วมต่อต้านรัฐบาล

สภาพอีสานเมื่อ 90 ปีที่แล้ว เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton และภาพการเทิดรัฐธรรมนูญ

ข้าราชการระบอบเก่าในทัศนะของชาวอีสาน

ถึงแม้นว่า กบฏบวรเดช (2476) จะใช้ภาคอีสานเป็นฐานกำลังและการปลุกระดมราษฎรให้ช่วยฝ่ายกบฏก็ตาม แต่ชาวอีสานอีกส่วนหนึ่งทราบและเข้าใจการปกครองระบอบใหม่ จึงให้การสนับสนุนรัฐบาลในการปราบกบฏครั้งนั้น ดังหลักฐานที่เหลือรอดมาว่า

มานิต ชัยศรี สกลนคร กล่าวยกย่องพระยาพหลฯ ว่าเป็นเสมือน “ประมุขของประชาราษฎร” เขาเล่าว่า ตนเองและพลเมืองในจังหวัดต่างๆ ทางภาคอีสานมีความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ได้สนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องการบ้านการเมืองกันอยู่เป็นประจำ บ้างมีความเห็นอยากให้กลับคืนสู่ “ลัทธิราชาธิปไตย” แต่มีไม่มาก บ้างเห็นว่า “พวกเจ้า” ควรจะมีสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองเช่นเดียวกับคนทั่วไปด้วย มานิตเชื่อมั่นว่า ถ้าราษฎรทั้งหลายมีความเคารพต่อกฎหมายและช่วยประเทศด้วยการเสียภาษีแล้วระบอบรัฐธรรมนูญนี้ก็จะมั่นคง เขาได้ทิ้งท้ายเป็นการขอร้องให้พระยาพหลฯ กรุณา “ถือหางพวงมาลัยของประเทศอยู่จนตราบเท่ากัลปาวสาน” (ประวิทย์, 245)

ศุขแก้ว สุริยสานต์ ชาวชัยภูมิ รายงานมายังรัฐบาลว่า ในชัยภูมินั้นมีหลวงอำพลคดี อัยการจังหวัด ข้าราชการที่ฝักใฝ่ระบอบเก่า ว่า ในระหว่างเหตุการณ์กบฏบวรเดช หลวงอำพลคดีเข้าข้างฝ่ายกบฏอย่างเปิดเผยและยังคอยโจมตีรัฐบาลและนายปรีดี พนมยงค์ ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ (ประวิทย์, 240-241)

ส่วนสวาสดิ ศศะนาวิน มีความเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยซึ่งเป็นคนหนุ่มได้มีบทบาทในการทำงานให้บ้านเมืองมากกว่านี้ เพราะ “มีสมองเฉียบไว พอจะเข้าใจทำงานการได้ทันใจ…” ดีกว่าพวกข้าราชการรุ่นเก่า เช่น เจ้ากรม ปลัดกรม ซึ่งได้ดิบได้ดีมาก่อน เพราะอาศัยการประจบประแจง เข้าหาเจ้านายเพื่อความก้าวหน้ามากกว่าการมีความรู้ความสามารถ (ประวิทย์, 243)

ชาวนาศรีสะเกษนำข้าวเปลือกมาขายเมื่อ 2479 เครดิตภาพ : Robert Larimore Pendleton

คืนสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศ

หลัง 2476 กรมโฆษณาการมีภารกิจหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่ระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนมีความเข้าใจ ชวาลา สุกุมลนันท์ อดีตข้าราชการของกรมคนหนึ่งเล่าว่า สาเหตุที่รัฐบาลจัดให้มีการปาฐกถาออกไปพูดคุยกับราษฎรในชนบท เนื่องจากแม้นสังคมไทยมีหนังสือพิมพ์ แต่มีผู้อ่านน้อย แม้นจะมีวิทยุแต่กำลังส่งคลื่นได้ไม่ไกล อีกทั้งเครื่องรับวิทยุก็มีน้อย วิธีการบอกเล่าด้วยการปาฐกถาพบปะพูดคุยแบบถามตอบจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โดยใช้ข้าราชการของกรมเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และให้รายงานสภาพที่เกิดขึ้นกลับมายังกรุงเทพฯ เพื่อทราบและแก้ปัญหาการสื่อสาร

ทั้งนี้ นักพูดของกรมที่ออกไปปาฐกถาในชนบท เช่น เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ อำพัน ตัณฑวรรธนะ บรรเจิด กาญจนินทุ สมบุญ เหล่าวานิช เป็นต้น (เขมชาติ บุณยรัตพันธุ์, 2538)

ด้วยเหตุที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ห่างไกลและกันดารมากกว่าที่อื่น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการเผยแพร่ความรู้ให้แก่อีสานก่อน แต่การเดินทางไปอีสานสมัยนั้น ไม่มีถนนให้รถยนต์วิ่งอย่างสะดวก การเดินทางหน้าแล้งจะเดินทางสะดวกกว่าหน้าฝน คณะต้องไปปาฐกถาทุกอำเภอ และพยายามไปให้ได้ในทุกตำบลใหญ่ การเดินทางจากจังหวัดหนึ่งมาอีกจังหวัดด้วยเกวียน ต้องพักค้างแรมกลางทาง นอนกันตามคบไม้ ไม่สามารถนอนบนดินได้เพราะสัตว์ร้ายชุกชุม แต่หากเป็นจังหวัดริมน้ำโขงจะเดินทางด้วยการล่องเรือด้วย

ไพโรจน์ ชัยนาม หนึ่งในคณะปาฐกถาเล่าว่า การไปปาฐกถาภาคอีสานในช่วงปี 2477-2479 นั้น ในคณะมีแต่คนหนุ่ม เพราะงานออกชนบทเป็นงานสมบุกสมบัน ที่คนหนุ่มผู้มุ่งมั่นไม่ห่วงสุขภาพ บางแห่งต้องขี่ม้า บางแห่งใช้เกวียนเดินทาง แต่ส่วนใหญ่ในรถยนต์บรรทุก ต้องเอาเครื่องปั่นไฟไปด้วย ไมโครโฟนก็เครื่องใหญ่ (ไพโรจน์ ชัยนาม, 2515, 29)

ในระหว่างปาฐกถา มีการแจกหนังสือที่รัฐบาลให้ผู้ที่อ่านออก ในหนังสือเขียนอธิบายการปกครองและรัฐธรรรมนูญด้วยภาษาแบบง่ายๆ สำหรับชาวบ้านอีกด้วย

คณะปาฐกถาเผยแพร่ประชาธิปไตยและหนังสือเผยแพร่ฯ ของสำนักงานโฆษณาการ

ราษฎรไทยอยู่ภายใต้ระบอบเก่ามายาวนาน

จากประสบการณ์ของเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ สมาชิกในคณะปาฐกถาเคยเดินทางไปตามชนบทในพื้นที่ห่างไกลหลังการปฏิวัติเห็นว่า ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลว่า “กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ส่วนมากมักมีความรู้สึกไปในทางไม่เอาใจใส่ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ปล่อยให้ตกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการบริหารไปในทางที่ควร”

เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ถูกปกครองมาอย่างยาวนาน ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ นอกจากการถูกเกณฑ์แรงานและการจ่ายส่วยภาษี ผนวกกับความยาวนานของการปกครองเดิมที่เชื่อกันว่า ประเทศนั้นเป็นของ “คนใดคนหนึ่ง” ทำให้ราษฎรทั่วไปไม่ตระหนักว่าพวกเขามีความสำคัญในการปกครองแต่อย่างใด

เขาเห็นว่า มูลเหตุแห่งความสำนึกเฉี่อยชาทางการเมืองนี้เกิดจาก ที่ผ่านมา ไทยปกครองโดยระบอบกษัตริย์เหนือกฎหมายมาอย่างยาวนาน จวบกระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุด หรือเขาเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งระบอบใหม่ที่เกิดให้ความสำคัญกับราษฎรเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

เขาย้ำว่า “นับแต่ลัทธิประชาธิปไตยได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักแห่งการปกครองของประเทศแล้ว อำนาจอธิปไตยซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในมือของคนคนเดียวได้คลายออกและกระจายส่วนไปอยู่ในมือของประชาชนชาวสยามโดยทั่วกัน คนไทยทุกๆ คนได้ชื่อว่ามีส่วนปกครองประเทศและมีความรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของประเทศโดยไม่จำกัด” (เขมชาติ, 2478)

กล่าวโดยสรุป ในความเห็นของเขมชาติแล้ว เขาเห็นว่า ด้วยเหตุที่วิธีการและเป้าหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นของใหม่สำหรับราษฎรสมัยนั้น ดังนั้น รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องให้ความรู้และกระตุ้นให้ราษฎรเห็นว่า พวกเขาเป็น “เจ้าของประเทศ” ทุกคนต้องช่วยกันเป็นกำลังผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้า เป็นอารยะทัดเทียมนานาประเทศ ทำให้ทุกคนตระหนักถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “การปกครองโดยวิธีราษฎร ของราษฎร เพื่อราษฎร” (เขมชาติ, 2478)

ประมวลเหตุการณ์การปฏิวัติ 2475 และหนังสือ นักการเมือง (2478)