14 ตุลาฯ กับทหาร (2) วันเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ถ้ารัฐบาลไม่ชอบให้ใครพูดถึงรัฐบาลในสิ่งที่ไม่ดี รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้น รัฐบาลต้องแก้การกระทำของรัฐบาล ไม่ใช่มาเรียกร้องให้เราแก้…”

ศรีบูรพา (แลไปข้างหน้า)

 

ถ้ามองจากคลื่นความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร 2514 แล้ว ต้องถือว่าในช่วงปลายปี 2515 เป็นเส้นเวลาที่น่าสนใจ ดังได้กล่าวแล้วว่าในช่วงเวลานั้น สังคมได้เห็นการก่อตัวของการประท้วงของนิสิต นักศึกษา และปัญญาชนเสรีนิยม ที่ไม่ตอบรับกับระบอบการปกครองของทหาร และเป็นการประท้วงข้ามคืนที่ทำให้คำสั่งคณะรัฐประหารหมดความศักดิ์สิทธิ์ลงทันที เนื่องจากคณะรัฐประหารมีคำสั่งที่ชัดเจนว่า ห้ามการชุมนุมมั่วสุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน

แต่การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในเรื่อง “กฎหมายโบดำ” ที่อนุญาตให้รัฐบาลแทรกแซงการแต่งตั้งผู้พิพากษานั้น มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากอย่างคาดไม่ถึง และน่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของการเมืองไทยในยุคหลังรัฐประหาร 2500 ที่รัฐบาลทหารมีการควบคุมการเมืองไว้อย่างเข้มงวด แต่กลับไม่สามารถหยุดยั้งการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นได้ อันเท่ากับเป็นสัญญาณในตัวเองว่า อำนาจในการควบคุมทางการเมืองที่ผู้นำทหารเคยมีอย่างมากนั้น กำลังลดลงอย่างเห็นได้ชัด

การประท้วงครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ต้องยอมยกเลิกแนวคิดของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จของการชุมนุมครั้งนี้เป็นความท้าทายในตัวเอง เพราะด้านหนึ่งเท่ากับเป็นสัญญาณทางการเมืองว่า การต่อต้านในรูปแบบของการชุมนุมเช่นนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกแน่นอน ถ้าเช่นนั้นแล้ว รัฐบาลจะเตรียมตัวเผชิญกับการมาของ “กระแสต่อต้านรัฐบาลทหาร” ในอนาคตอย่างไร

ขณะเดียวกันก็ท้าทายกับฝ่ายทหารว่า ผู้นำทหารและบรรดาหน่วยข่าวกรองทหารจะเรียนรู้และทำความเข้าใจในเรื่องของ “กระแสต้านทางการเมือง” ได้เพียงใด หรือพวกเขามองด้วยทัศนะที่เชื่อว่า อำนาจทางทหารที่อยู่ในมือพวกเขาจะสามารถกำราบและหยุดยั้งกระแสต่อต้านได้เสมอ

ซึ่งว่าที่จริงผู้นำเผด็จการทหารทั่วโลกมักอยู่ในกระบวนทัศน์ของความเชื่อเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน หรือกล่าวตามความคิดตามแบบประธานเหมาเจ๋อตุงได้ว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน”

 

แรงกดดันในโครงสร้างเดิม

การรวมตัวจนสามารถก่อให้เกิดพลังทางการเมืองของกลุ่มนิสิต นักศึกษา เช่น ในปลายปี 2515 ย่อมเป็นสัญญาณในตัวเองว่า การต่อต้านรัฐบาลในอนาคตอาจจะต้องใช้วิธีการ “จัดม็อบ” อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และภาวะเช่นนี้ทำให้การสร้างอำนาจของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษายกระดับขึ้น และค่อยๆ ก่อตัวเป็น “ขบวนการ” อย่างชัดเจน (ในความหมายของการเป็น “movement” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเพียง “กลุ่มนักศึกษา” ที่กระจัดกระจายในมหาวิทยาลัย)

ความเป็นขบวนนักศึกษาที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องเรียนรู้ถึง “การเคลื่อนมวลชนบนถนน” เนื่องจากมวลชนบนถนนจะเป็นพื้นฐานการเคลื่อนไหวของขบวนนิสิต นักศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ และการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นพลังสำหรับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รออยู่เบื้องหน้า ซึ่งการเรียนรู้ในทางคู่ขนานเกิดจากการปฏิบัติจริง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลพวงจากการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการต่อต้านกฎหมายโบดำในช่วงก่อนหน้านี้ที่สร้างความรู้สึกของการต่อต้านรัฐบาลทหารที่เริ่มมีมากขึ้นในสังคม

การขยับตัวของ “กระแสต่อต้านทหาร” (หรืออาจเทียบเคียงว่าเป็นแนวคิดแบบ “anti-militarism” ในกระแสสากล) นั้น เป็นผลโดยตรงจากการขยายตัวของ “กระแสเสรีนิยม” ที่มาจากหลายปัจจัยในสังคมไทย ซึ่งส่วนหนึ่งคือ การไหลบ่าของ “กระแสตะวันตก” ที่มาพร้อมกับ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernization) ที่โลกตะวันตกได้พามาสู่ประเทศต่างๆ

เพราะการรับแนวคิดแบบตะวันตก ย่อมมีนัยถึงการมาของชุดความคิดการเมืองแบบตะวันตกด้วย แม้ในช่วงสงครามเย็นจะเป็นยุคของรัฐบาลทหาร

 

การกลับมาของปัญญาชนและข้าราชการไทยที่กลับมาจากการศึกษาระดับสูงจากโลกตะวันตก พร้อมกับการนำคุณค่าทางการเมืองและสังคมแบบตะวันตกเข้าสู่สังคมไทยคือตัวอย่างในกรณีนี้ สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับการขยายตัวของระบบราชการ การพัฒนาและการขยายการศึกษาสมัยใหม่ ที่สอดรับกับกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อรองรับต่อการเข้าร่วมในกระบวนการการผลิตของโลกทุนนิยมของไทย ทั้งยังมีนัยถึงการขยายตัวของการคมนาคม และการติดต่อภายใน

กล่าวคือ สังคมไทยในยุคหลัง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” คือการก้าวสู่ “ความเป็นสมัยใหม่” ที่เป็นแนวทางการสร้างสังคมตามแนวคิดของโลกตะวันตก

ผลพวงเช่นนี้ทำให้เกิด “ชนชั้นกลางใหม่” ที่อยู่นอกระบบราชการ เนื่องจาก “ชนชั้นกลางเดิม” ของไทยนั้น อยู่กับระบบราชการเป็นหลัก แต่ในยุคทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาแล้ว การขยายตัวของอุตสาหกรรมและทุนนิยมไทยทำให้เกิด “ชนชั้นกลาง” ในสังคมจริงๆ โดยเฉพาะชนชั้นกลางในมหาวิทยาลัยที่เป็นนิสิต นักศึกษา ซึ่งพวกเขาเป็นตัวแทนของกระแสเสรีนิยมที่ชัดเจน และพวกเขาไม่ตอบรับกับระบอบการปกครองของทหารอย่างแน่นอน…

พลวัตทางสังคมเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนถึงแรงกดดันทางการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้นในโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย ที่ผู้นำทหารมีอำนาจในการปกครองมาอย่างยาวนาน

 

แรงเสียดทานในโครงสร้างเดิม

ความรู้สึกของการต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอมนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการปลุกกระแสเท่านั้น หากแต่ส่วนสำคัญเกิดจาก “แรงเสียดทาน” ภายในโครงสร้างอำนาจรัฐเดิม ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ให้ความสำคัญ เพราะปัญหาความตึงเครียดภายในโครงสร้างเดิมของคณะทหารที่เป็นฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐนั้น มักนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลทหารเสมอ

ปัญหาเช่นนี้มักจะเริ่มด้วยสัญญาณของผู้นำทหารที่ไม่แตกต่างกันทั่วโลกคือ การแตกแยก และเห็นถึงรอยร้าวของ “เอกภาพทางการเมือง” ของผู้นำที่เคยรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นมาก่อน

ในยุคก่อน 14 ตุลาฯ ภาพสะท้อนถึงความแตกแยกของผู้นำทหารเห็นชัดจากรัฐบาลจอมพลถนอมก่อนการรัฐประหาร 2514 แล้ว ได้แก่

1) การไม่ต่ออายุราชการของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ (อธิบดีกรมตำรวจ) ที่มีความขัดแย้งกับ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายของจอมพลถนอม กิตติขจร และปรากฏเป็นข่าวชัดจากการใช้ทหารบุกพังป้อมตำรวจในปลายปี 2513 และแต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้นำทหารในสายของจอมพลถนอม เข้ามารับตำแหน่งแทน ซึ่งเท่ากับเป็นการกดดันให้กลุ่มของ พล.ต.อ.ประเสริฐให้ต้องหมดอำนาจในการควบคุมตำรวจ

2) การขยายบทบาทของ พ.อ.ณรงค์ กลายเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจอื่นในโครงสร้างอำนาจเดิม อันเป็นสัญญาณของการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจทั้งในและนอกกองทัพ

3) แรงเสียดทานภายในระบบยังเป็นผลมาจากความพยายามที่อยู่ในอำนาจหลังจากเกษียณอายุราชการ ด้วยการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 2514 และต่ออายุราชการของจอมพลประภาส ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2516 ซึ่งเท่ากับมีนัยถึงความพยายามที่กลุ่มจอมพลถนอม-จอมพลประภาสจะ “ผูกขาด” อำนาจทางการเมืองไว้ต่อไป และเท่ากับเป็นสัญญาณว่า กลุ่มอื่นที่จะไม่สามารถขึ้นมาแข่งขันได้

สภาวะเช่นนี้เท่ากับเป็นสัญญาณว่า นับจากความขัดแย้งเริ่มก่อตัวให้เห็นในปี 2514 แล้ว แรงเสียดทานจากการแข่งขันของ “กลุ่มอิทธิพล” ภายในกองทัพนั้น ทวีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อแรงเสียดทานที่เกิดจากการสร้างอำนาจของกลุ่มผู้นำทหาร เผชิญเข้ากับแรงกดดันในสังคมที่เป็นกระแสเสรีนิยม และผนวกเข้ากับกระแสต่อต้านทหารด้วยแล้ว ก็เท่ากับเกิดภาวะของ “ความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง” (structural stress) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

ดังจะเห็นได้ว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารนับจากรัฐประหารตัวเองในตอนปลายปี 2514 และการออก “กฎหมายโบดำ” ในปี 2515 แล้ว เสียงเช่นนี้ดังมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยข้อเขียนในการวิพากษ์รัฐบาลทหารที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามรัฐเป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้

จนกล่าวกันว่า ไม่มีใครวิจารณ์ทหารได้สนุกเท่ากับข้อเขียนของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในสยามรัฐ

 

ตัวเร่งปฏิกิริยา

แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทุกกรณีจะต้องมี “ตัวเร่ง” ที่จะเป็นตัวทำปฏิกิริยาเพื่อให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่นั้น เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้อีกระดับหนึ่งเสมอ แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่า ตัวเร่งของสถานการณ์คืออะไร เพราะส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่อาจคาดคะเนถึงสถานการณ์ข้างหน้าได้อย่างแท้จริง

ทั้งยังไม่อาจประเมินได้อย่างแม่นยำว่า ผลสืบเนื่องของสถานการณ์หนึ่งๆ จะนำไปสู่อะไร และผลสืบเนื่องที่จะตามมานั้น จะอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้หรือไม่ ซึ่งฝ่ายที่มีอำนาจมักประเมินเข้าข้างตนเองเสมอว่า เขาจะสามารถควบคุมผลของสถานการณ์ที่จะเกิดตามมาได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นทั้ง “ผู้กุมอำนาจรัฐ” และเป็น “ผู้กุมอำนาจปืน” พร้อมกัน

พร้อมกับการที่อยู่ในอำนาจอย่างยาวนานนั้น ยิ่งทำให้ผู้นำทหารเหล่านั้นเชื่อมั่นว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

แต่ในที่สุดสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดได้เกิดขึ้น ดังปรากฏในแถลงการณ์ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ว่า “ได้มีคณะนายตำรวจนายทหารชั้นผู้ใหญ่และพลเรือนจำนวนหนึ่งได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย พระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 โดยได้ออกไปตั้งค่ายล่าสัตว์ในเขตป่าทุ่งใหญ่จังหวัดกาญจนบุรีในระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน ศกนี้ อีกทั้งได้นำพาหนะและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของทางราชการไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว จนเป็นเหตุให้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการตก อันเป็นการเสียหายแก่สมบัติของชาติโดยส่วนรวม…”

(แถลงการณ์ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2516)

 

ใครเลยจะคิดว่า “กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร” จะขยายตัวเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่เป็นการกระตุ้นความรู้สึกทางการเมืองของผู้คนในสังคมได้อย่างไม่คาดคิด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลพยายามที่จะปกปิดความผิดที่เกิดขึ้น ด้วยการยืนยันว่าบุคคลเหล่านั้น เดินทางไป “ราชการลับ” ในการติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลพม่า และการปกปิดนี้ ถูกนำมาเปิดเผยในหนังสือชื่อ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ที่จัดพิมพ์โดยชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติจาก 4 มหาวิทยาลัยและศูนย์นิสิตฯ

หนังสือนี้พิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 5 พันเล่ม ราคาจำหน่าย 5 บาท โดยจำหน่ายที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็จำหน่ายหมด (บางสื่อรายงานว่าจำหน่ายเพียงชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น)… น่าสนใจว่า รัฐบาลมองเรื่องนี้อย่างไร!