ถนนสีลม วันวาน วันนี้ และวันหน้า

ปริญญา ตรีน้อยใส

ฉบับที่แล้ว พาไปมองถนนคลองขวางและถนนขวางในอดีต หรือถนนสีลมในปัจจุบัน ที่เริ่มจากถนนเจริญกรุง สิ้นสุดที่ถนนพระรามที่ 4 ระยะทางรวม 2,300 เมตร

พาไปมองมาแล้วว่า ในตอนแรกนั้น ไม่ค่อยมีผู้คน จึงกลายเป็นที่เลี้ยงวัวบ้าง

ที่ปัจจุบัน เหลือหลักฐานแค่วัดและชื่อถนน และเป็นสุสานบ้าง ที่ปัจจุบันถูกคนทยอยไล่ที่ จนเหลืออีกไม่มาก

ต่อมา ความเจริญทางด้านคลองตรง (ถนนพระรามที่สี่) ที่เริ่มจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบ้านศาลาแดง และทางด้านถนนเจริญกรุง จึงมีอาคารบ้านเมือง ร้านค้า ตลาด และโรงงาน เพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริจะเฉลิมฉลองวโรกาสทรงครองราชย์ครบสิบห้าปี ด้วยการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ สยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งหวังให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ของสยาม ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำในขณะนั้น

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดิน ตรงทุ่งศาลาแดง กว่า 360 ไร่ ให้เป็นสถานที่จัดงาน ด้วยติดกับทางรถไฟสายปากน้ำ ที่ทำให้ผู้จะเข้าชมงานสะดวก

ทั้งนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรถรางเพิ่มอีกสาย จากถนนเจริญกรุง เลียบคลองสีลม ผ่านศาลาแดง ไปจนถึงประตูน้ำ

 

อย่างไรก็ตาม มีการยกเลิกงานดังกล่าว ด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ในขณะที่พื้นที่จัดงานได้เตรียมการขุดสระ ถมดิน สร้างเกาะกลางน้ำ ตัดถนน สร้างอาคาร และปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ไปแล้ว ได้ประกาศให้เป็นสวนสาธารณะ คือ สวนลุมพินี ในเวลาต่อมา

ตอบรับกับสภาพภูมิทัศน์ของถนนสีลมในเวลานั้น ที่มีคลองสีลมคู่ขนานถนน ทำให้ฝั่งเหนือกลายเป็นบ้านพักอาศัยของชาวต่างชาติ คหบดี ที่จะมีการสร้างสะพานข้ามคลอง สร้างถนนผ่านสนามหญ้ากว้าง ไปจนถึงตัวบ้านที่เป็นตึกแบบฝรั่ง ในขณะที่ฝั่งใต้ ที่ติดกับแนวรถราง จะเป็นร้านค้า ตึกแถว และโรงงาน

ความงดงาม และความคึกคัก นำมาซึ่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เริ่มจากการตัดถนนเชื่อมกับถนนสาทร ทางทิศใต้ และถนนสุรวงศ์ ทางทิศเหนือ สองข้างถนน แบ่งเป็นแปลงๆ สำหรับปลูกบ้านพัก หรือโรงงาน ไปจนถึงโรงเรียน และโบสถ์คริสต์ เริ่มตั้งแต่ ถนนศาลาแดง ถนนคอนแวนต์ ถนนพิพัฒน์ ถนนปั้น ถนนประมวญ ถนนสุรศักดิ์ ถนนประดิษฐ์ ถนนปราโทย์ และถนนมเหสักข์ มาจนถึงถนนพัฒน์พงศ์ และถนนธนิยะ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้จะทำให้ความงดงามของภูมิทัศน์จะลดลง แต่ความเจริญและคึกคักกลับเพิ่มมากขึ้น จนถนนสีลมกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ แทนเยาวราช

เสียดายว่า ระบบขนส่งมวลชนลอยฟ้า ที่เพิ่มขึ้นมา ไม่ได้วิ่งตามแนวรถรางในอดีต หากเลือกเส้นทางศาลาแดง มาถึงคลองช่องนนทรี แล้วเลี้ยวไปถนนสาทร เพื่อข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ความคึกคักของถนนสีลมในปัจจุบัน หยุดที่ถนนนราธิวาสราชนครินทร์

รวมทั้งมีการพัฒนาอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ บนถนนสาทร ทำให้กิจการใหญ่ย้ายตาม ส่งผลให้ถนนสีลมมีบทบาทเพียงย่านธุรกิจ และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเพศทางเลือก

แต่ก็คึกคัก เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในยุคที่เมืองไทยกำลังมีชื่อเป็นศูนย์กลางซีรีส์วาย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส