ดาวฤกษ์ ดาว ‘เคราะห์’

นิธิ เอียวศรีวงศ์ คือปัญญาชนสาธารณะคนแรกๆ ที่เขียนและสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาต่อ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย หลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปี 2553 เรื่องการปรับตัวทางการเมืองให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน

เมื่อพรรคเพื่อไทยปรับตัวไม่ทัน จึงปรากฏเป็นความพ่ายแพ้ครั้งแรกในศึกเลือกตั้งกลางปีที่ผ่านมาจากยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผิดพลาด

นำมาสู่การเขย่าโครงสร้างพรรคการเมืองไทยและระบบเครือข่ายการเมืองแบบเดิมครั้งใหญ่

แม้รู้ว่าการเมืองใหม่แบบอนาคตใหม่ ต่อเนื่องมาจนถึงก้าวไกล จะได้รับความนิยม ครองความคิดจิตใจคนมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครนึกว่าจะล้มแชมป์เก่าฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยได้อย่างถล่มทลาย

ขณะเพื่อไทยหันจับมือขั้วอำนาจเก่า พลิกกลับมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ประกาศยอมรับเสียงก่นด่า การถูกวิจารณ์ต่อการผิดคำพูดตอนหาเสียง หวังจะใช้ผลงาน ใช้การทำงานฟื้นฟูศรัทธาประชาชน มั่นใจในสไตล์เพื่อไทย พูดแล้วทำได้จริง

โจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยขณะนี้จึงไม่ใช่การต่อสู้กับฝ่ายอนุรักษนิยมแบบที่ตัวเองเคยสู้มา แต่คือจะจัดการกับความนิยมทางการเมืองของพรรคก้าวไกลอย่างไร จะต่อสู้กับกระแสวิจารณ์ของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลอย่างไรในตลอด 4 ปีของรัฐบาล

รวมถึงจะสู้กับพรรคก้าวไกลอย่างไรในการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้า

 

หลังตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 สำเร็จ นอกจากการเดินเครื่องฟื้นฟูศรัทธาด้วยขาที่หนึ่ง นำโดย เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี เดินหน้าทำงานจริงจัง

ขณะที่อีกขาหนึ่ง คือบทบาทการฟื้นฟูศรัทธา ผ่านการทำงานในนามพรรคเพื่อไทย

นี่คือห้วงจังหวะการมาของ แพทองธาร ชินวัตร ในตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่นานหลังการตั้งรัฐบาลใหม่

จังหวะแรกคือการทำงานคู่ขนานกับรัฐบาลในนามรองประธานคณะกรรมการซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน นำมาสู่การจัดทำนโยบาย OFOS หรือ One Family One Soft Power และการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่าง THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นนโยบายที่สร้างระบบนิเวศให้กับซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทย

การผลักดันบทบาทของ น.ส.แพทองธาร การที่ น.ส.แพทองธาร เดินเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล ประกบข้างกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งสะท้อนความจริงจังของพรรคเพื่อไทย การพยายามดึงเอาภาพความสำเร็จทางการเมืองยุคเก่า สไตล์ชินวัตร รวมเข้ากับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือการเดินเกมตามยุทธศาสตร์ใหม่ของพรรคเพื่อไทย

ต้องยอมรับว่า น.ส.แพทองธาร มีภาพของความเป็นคนรุ่นใหม่ จุดยืนทางการเมืองสังคมที่ผ่านมา แสดงออกถึงการมีความเข้าอกเข้าใจในปัญหาทางการเมือง วิถีชีวิต เศรษฐกิจแบบคนรุ่นใหม่

ยิ่งการเดินเกมสร้างบทบาทนำในการผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ ยิ่งเด่นชัดในบทบาทแม่ทัพนำในการต่อกรกับการเมืองแบบก้าวไกล

 

ต่อมาคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภายในพรรคเพื่อไทย

แต่อย่าลืมว่า เครือข่ายกลุ่มก้อนทางอำนาจในโครงสร้างพรรคเพื่อไทยนั้น ประกอบด้วยกลุ่มก้อนการเมืองแบบเดิมเสียส่วนใหญ่

แม้จะพยายามเพิ่มบทบาทของคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังน้อยและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ขณะที่นักการเมืองหลายคนที่ถูกผลักดันให้เล่นบทบาทความเป็นคนรุ่นใหม่ก็ยังหนีไม่พ้นภาพความเป็นธุรกิจการเมืองของครอบครัว ซึ่งการวางตัว สถานะ บทบาททางการเมืองอาจก้าวไม่ทันต่อตลาดการเมืองยุคใหม่ ที่ข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เสียงการผลักดัน น.ส.แพทองธาร ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคจึงดังขึ้น ทั้งในแง่ความสามารถ บารมี และความเป็นลูกของทักษิณ ชินวัตร ได้รับการตอบรับจากนักการเมืองรุ่นเก๋าของเพื่อไทยหลายคน แม้เจ้าตัวจะยังแบ่งรับแบ่งสู้ ออกตัวแบบเหนียมๆ

ไม่ว่าจะเป็นนายเกรียง กัลป์ตินันท์ แห่งเมืองอุบล, ประเสริฐ จันทรรวงทอง แห่งเมืองโคราช, สมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งเมืองสุโขทัย, มนพร เจริญศรี แห่งเมืองนครพนม ล้วนออกมาประสานเสียงในวันเดียวกัน ว่า ตำแหน่งหัวเรือใหญ่พรรคเพื่อไทยวันนี้ ถึงเวลาของ “แพทองธาร ชินวัตร” แล้ว จุดมุ่งหมายคือทวงศักดิ์ศรีพรรคอันดับ 1 คืน

คำของนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.เพื่อไทย น่าจะชัดเจนเห็นภาพที่สุด

“น.ส.แพทองธาร ถือเป็นดาวฤกษ์ มีแสงในตัวเอง เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ในยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นำพาพรรคเพื่อไทยพุ่งทะยานไปข้างหน้า วางเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง”

 

หันมาที่พรรคก้าวไกล จากพรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน สู้กับระบอบ 3 ป.มาด้วยกันตลอดหลายปี วันนี้กลายเป็นพรรคที่ถูกโดดเดี่ยว

แม้จะมีสถานะเป็นพรรคการเมืองใหญ่ มีคะแนนเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปยึดครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายบริหารของประเทศได้ ไม่แม้แต่จะครอบครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไว้ด้วยซ้ำ

ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน มาถึง ก็ต้องเจอกับเกมต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ตั้งแต่กรณีการตั้งคำถามความสัมพันธ์กับการต่อสู้เพื่อคนเสื้อแดงจริงหรือ? ไปยืนอยู่ข้างประชาชนในการสลายการชุมนุมปี 2553 ไปเป็นผู้นำการตั้งเวทีปราศรัยที่คลองเตยจริงหรือ? ตั้งแต่วันแรกๆ

ร้อนแรงกระทั่งเสื้อแดงตัวจริงอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด, จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ หรือ อุเชนทร์ เชียงเสน ต้องออกมายืนยันในการต่อสู้ของชัยธวัช ขุดภาพถ่ายหลากมุม มาต่อกรกับขบวนการดิสเครดิต

โดยที่เจ้าตัวใช้วิธีการ “นิ่ง” ไม่ออกมาเล่นในเกมสกปรกที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเปิดไว้

 

เมื่อพรรคก้าวไกลตั้งเป้าหมายใหม่ในทางการเมือง ยึดกุมยุทธศาสตร์สู้ในแบบพรรคฝ่ายค้าน ก็จำเป็นต้องคว้าตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาไว้ให้ได้ ก็เกิดปัญหาทางสองแพร่งทางการเมืองขึ้นมาอีก จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ต้องไม่ใช่ ส.ส.จากพรรคการเมืองเดียวกับตำแหน่งประธาน หรือรองประธานสภา

มีมุมมอง 2 มุมเกิดขึ้น มุมแรก ไม่เห็นด้วยที่ก้าวไกลจะรักษาเก้าอี้ทั้งผู้นำฝ่ายค้าน ทั้งรองประธานสภา ก้าวไกลในฐานะที่สร้างการเมืองใหม่แบบฉบับของตัวเองขึ้นมา ก็ควรเล่นการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายแบบที่เคยทำมาดีอยู่แล้ว ควรสละตำแหน่งรองประธานสภา และสู้ต่อในฐานะผู้นำฝ่ายค้านดีกว่า

กับอีกมุมที่มองว่า พรรคก้าวไกลถูกกระทำทางการเมืองด้วยเกมการเมืองจากฝ่ายการเมืองฝั่งรัฐบาลมาอย่างหนัก แม้ชนะอันดับ 1 แต่ประมุขฝ่ายบริหาร กลับตกเป็นของพรรคเพื่อไทย ส่วนประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ตกเป็นของพรรคการเมืองสาขาของพรรคเพื่อไทย ไม่นับการถูกเล่นงานจากกลไกมรดก คสช. และมวลชนฝ่ายขวาอย่างหนัก

การจะมีตำแหน่งรองประธานสภาไว้เป็นเครื่องมือต่อสู้ ต่อรอง ลดแรงกระแทกและการกระทำทางการเมืองในรัฐสภา รวมถึงเพิ่มเครื่องมือในการขับเคลื่อนวาระต่างๆ ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย ถึงเวลาที่นางเอกต้องหันมาสู้ ไม่ยอมให้รุมอีกแล้ว นี่คือมุมมองอีกมุม

สุดท้ายพรรคก้าวไกลเลือกเดินหนทางการรักษาเก้าอี้ ทั้งผู้นำฝ่ายค้านและรองประธานสภาไว้ ด้วยยุทธศาสตร์ แยกกันเดิน รวมกันตี โดยแลกกับต้องเสียเก้าอี้ ประธาน กมธ.ไป 1 คณะ เหลือ 10 คณะ

ยุทธศาสตร์นี้ของพรรคก้าวไกลถูกวิจารณ์จากนักวิชาการ กระทั่งสื่อสารมวลชนอาวุโสหลายคนว่าเป็นการทำการเมืองแบบผิดหลักการ แถมถูกพรรคฝ่ายรัฐบาลมีมติเตรียมยื่นองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคำร้องว่าการขับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา พ้นพรรค มีความผิดหรือไม่?

นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลขณะนี้

 

ส่วนการเมืองระดับมวลชนของพรรคก้าวไกล ต้องยอมรับว่ากระบวนการสร้างวาทกรรม “ด้อมส้ม” โยงเข้ากับความสุดขั้วทางการเมือง ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง สังเกตจากเกิดกรณีหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ส.ว. ถูกคนไทยไล่ในร้านอาหารที่ประเทศไอซ์แลนด์

คำถามแรกกลับไม่ใช่การที่หมอพรทิพย์ และเพื่อน ส.ส.พรรครัฐบาล ไปเที่ยวต่างประเทศช่วงเปิดสมัยประชุม เหมาะสมแล้วหรือ ทำไมไม่ไปตอนปิดสมัยประชุม? หรือเบื้องหลังทางความคิดใดจึงทำให้ชายไทยดังกล่าวแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น

แต่กลับเป็นการกระทำของชาวไทยร้านอาหารดังกล่าว รุนแรง ไม่เคารพความเห็นต่าง ละเมิด ใช้วิธีการต่อต้านอย่างไม่มีอารยะ และมีการผูกโยงว่าผู้กระทำเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือเป็นด้อมส้ม จึงแสดงอาการลักษณะเช่นนี้

ร้อนแรงกระทั่ง กมธ.วุฒิสภาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประเทศต้นทาง กลายเป็นปัญหาข้ามประเทศไปอีก

นี่คืออาการ “ขยี้ต่อ” ของพลพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม

 

สถานะพรรคก้าวไกลวันนี้เปรียบดั่ง “ดาวเคราะห์” แม้จะมีมวลวัตถุที่มองเห็นได้ แต่ยังไม่สามารถให้กำเนิดแสงด้วยตัวเองได้ แถมยังเจอ “เคราะห์” ซ้ำกรรมซัดในทางการเมือง ถูกเล่นงานอย่างหนักจากฝ่ายตรงข้าม ร่วมถล่มรุมสกรัมไม่เว้นแต่ละวัน

ทุกสมรภูมิของพรรคก้าวไกลเต็มไปด้วยประเด็นทางการเมือง ไม่สามารถผ่านอะไรไปได้ง่ายๆ

พาให้นึกถึงคำเตือนของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่แสดงความเป็นห่วงไว้อย่างตรงไปตรงมาหลายประเด็น

แน่นอนว่าสถานการณ์การเมืองจากนี้ แนวโน้ม “ดาวฤกษ์” จะปะทะ “ดาวเคราะห์” อย่างแน่นอน

ฝ่ายหนึ่งขอทวงคืนความชอบธรรมการเมืองผ่านการสร้างผลงาน ฝ่ายหนึ่งขอรักษาความชอบธรรมการเมืองด้วยสถานะการวิพากษ์วิจารณ์ในบทบาทฝ่ายค้าน

ทั้งสองฝ่ายล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ “ไม่ง่ายและไม่เหมือนเดิม” ในทางการเมืองทั้งคู่ นับจากนี้