งานเข้า ‘เซียนเหยียบเมฆ’ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

เมื่อมีการรวบรวมสถานการณ์ของแม่น้ำอีกสาย ฝั่ง “นิติบัญญัติ” หรือ “สภาผู้แทนราษฎร” ช่วงนี้ มีประเด็นดราม่ามาให้เคลียร์ ทับซ้อนกันอยู่ 3 ปมเงื่อน “หนึ่ง” คือ กรณีที่ “พรรคก้าวไกล” คิดว่าตัวเองเล่นบทเซียนเหยียบเมฆไร้ร่องรอย

กับกรณีที่มีมติขับ “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ส.ส.พิษณุโลก 2 สมัย เขต 1 พ้นสมาชิกภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) และข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อ 64 ด้วยสาเหตุที่ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1

ตามไฟต์บังคับ เมื่อถูกขับออกจากพรรค “นายปดิพัทธ์” ต้องหาสังกัดพรรคใหม่ภายในกรอบ 30 วันเพื่อรักษาสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ และมีข่าวว่า ได้พรรคใหม่เข้าสังกัด แบบโดยพลันเรียบร้อยแล้วคือ “พรรคเป็นธรรม”

สาเหตุที่ “หมออ๋อง” ตีนตุ๊กแก ไม่ยอมไขก๊อกออกจากรองประธานสภา เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 กำหนดไว้ว่า ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด

“และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

พรรคก้าวไกล อยากกินรวบ 2 ตำแหน่ง คือ “รองประธานสภาผู้แทนราษฎร” กับ “ผู้นำฝ่ายค้าน” แต่ติดเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ด้วยประการดังกล่าว ต้นสังกัดคือก้าวไกล จึงมีมติขับ “หมออ๋อง” ออกจากพรรค

เมื่อสำเร็จโทษแล้ว เปิดโอกาสให้ “นายชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ สามารถตีกรรเชียงขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร

ได้สบายๆ

เพราะ “นายปดิพัทธ์” ถูกขับออกจากพรรคก้าวไกลไปแล้ว เท่ากับก้าวข้ามข้อห้ามที่ว่า “พรรคที่เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ต้องไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร”

ก้าวไกลคิดว่าตัวเองฉลาดปราดเปรื่อง กินสองต่อเข้าฮอส ได้ทั้ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” โดยนิตินัย “รองประธาน” โดยพฤตินัย

แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น กลายเป็นหาเรื่องเข้าตัว “คิดอย่างเสือ เดินอย่างแมว” งานเข้าเพียบ เพราะหลังจากนั้น ถูกบรรดา “นักร้องทั้งกิตติมศักดิ์-นิรนาม” มาตามนัด รุมกินโต๊ะกันมือระวิง ระบุว่า การมีมติขับให้ ส.ส.คนหนึ่งคนใดออกจากพรรค ต้องเป็นเรื่องกระทำความผิดที่ร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรค จนอยู่ด้วยกันไม่ได้

มีการยื่นหนังสือร้องให้ “ป.ป.ช.” ดำเนินการไต่สวน ว่ากรณีนี้ พรรคก้าวไกล และ ส.ส.เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรา 234 หรือไม่ หากพบว่าเข้าข่าย ให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา วินิจฉัย หรือพิพากษาลงโทษ

ไม่เพียงแต่นักร้องขาจร-ขาประจำเท่านั้น แม้แต่ “พรรคเพื่อไทย” กัลยาณมิตร เกลอเก่ากันแท้ๆ ก็เอากับเขาด้วย “นายอดิศร เพียงเกษ” ประธานวิปรัฐบาล ในฐานะ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็หยิบกรณีของ “หมออ๋อง” เข้าหารือในที่ประชุมวิปรัฐบาล และมีมติว่า จะนำไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การขับดังกล่าว ไม่เป็นไปตามข้อบังคับพรรคก้าวไกล ข้อที่ 64(5)

ที่กำหนดเอาไว้ว่า การจะขับออกจากพรรคได้ ก็ต่อเมื่อทำผิดวินัยร้ายแรง หรือผิดจรรยาบรรณ หรือมีเหตุร้ายแรงอื่น ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องว่าฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ที่จะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้อีกกรณีหนึ่ง

สรุป การไม่ประเมินสถานการณ์ให้ถ่องแท้ อยู่ให้ดี บ้าให้เป็น มิต่างอะไรกับงานนี้ “ก้าวไกล” เอาไข่ไปกระแทกหิน…ไข่แตกอีกแล้ว

 

“สอง” คือ การแต่งตั้งกรรมาธิการและประธานกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 จำนวน 35 คณะ จนถึงขณะนี้ ยังเตะตัดขา ตกลงกันไม่แล้วเสร็จ

ตามสัดส่วน ส.ส. “พรรคก้าวไกล” ที่มี ส.ส.ในสังกัดมากที่สุด ได้โควต้าประธาน กมธ. 11 คณะ “เพื่อไทย” 10 คณะ “ภูมิใจไทย” 5 คณะ “พลังประชารัฐ” 3 คณะ “รวมไทยสร้างชาติ” 2 คณะ “ประชาธิปัตย์” 2 คณะ “ชาติไทยพัฒนา” 1 คณะ “ประชาชาติ” 1 คณะ

“ประธาน กมธ.” ที่เป็นห้องเครื่องของปัญหาคือ “กรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” หรือ “กมธ.ป.ป.ช.” กับ “กมธ.ติดตามงบประมาณ” ที่ “เพื่อไทย” ต้องการจะยึดมาเป็นโควต้า แต่ “ก้าวไกล” มองว่า ควรเป็นของพรรคฝ่ายค้าน

โดยยกตัวอย่างว่า สมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังเลือกตั้งปี 2562 ยังใจกว้างดุจแม่น้ำ ยกตำแหน่งประธานกรรมาธิการทั้ง 2 คณะให้กับพรรคฝ่ายค้าน แต่รัฐบาลชุดนี้กลับคิดจะกินรวบ

ตามการจัดสรร พรรคเพื่อไทยคิดจะฮุบประธาน กมธ.เกรดเอไว้ทั้งหมด นอกจาก 2 คณะข้างต้นแล้ว ยังมี กมธ.คมนาคม, กมธ.ท่องเที่ยวและกีฬา, กมธ.การเงิน การคลัง และสถาบันการเงินและตลาดการเงิน

ขณะที่ก้าวไกลจะได้รับตำแหน่งแค่จิ๊บๆ เช่น ประธาน กมธ.พัฒนาการเมือง, พัฒนาเศรษฐกิจ, ทหารความมั่นคงแห่งรัฐ, การปฏิรูปประเทศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่สลักสำคัญ เหมือนที่เพื่อไทยได้รับ

เมื่อเกิดความเห็นต่าง เลยไม่สามารถตกล่องปล่องชิ้นกันได้ลงตัว ว่าใคร หรือพรรคการเมืองใดได้โควต้าประธาน กมธ.ชุดไหน คาดว่าต้องยื้อกันสุดขีด ถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นอย่างน้อย

“สาม” คือ ขณะนี้ มีมือดีปล่อยข่าวลือว่อนว่า “พรรคเพื่อไทย” กำลังจะขับเคลื่อน เดินแผนลับมาก เพื่อเปลี่ยนม้ากลางศึก ให้ “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ซึ่งอายุมาก และเชื่องช้า ตามยุคสมัยสังคมสมาร์ตโฟนไม่ทัน หมดยุค หมดไฟ ลงจากหลังเสือ สละเรือในตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”

“นายวันนอร์” เป็นหัวหน้าพรรคขนาดจิ๋ว ประชาชาติ ถูกมองว่าเป็นนอมินี มี ส.ส.เพียง 9 เสียง การได้มาซึ่งตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคเพื่อไทยพายเรือให้นั่ง ถึงเวลาก็คว่ำเรือได้เช่นเดียวกัน

เพื่อเปิดทางสะดวกให้ “นายสุชาติ ตันเจริญ” บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรองประธานสภา กลับมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร