คำถามเปลี่ยนชีวิต 

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมเชื่อว่าทุกคนจะมี “คำถามเปลี่ยนชีวิต”

ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ตัวเราเป็นคนตั้งคำถามเอง

หรือเป็นคำถามจากผู้อื่น

อย่างผมก็มี “คำถามเปลี่ยนชีวิต” เหมือนกัน

ตอนทำงานครั้งแรกเป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”

ทำงานได้ไม่กี่ปีก็เกิดอาการธาตุไฟกำเริบตามประสาเด็กหนุ่มไฟแรง อยากเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่

แต่พอเสนออะไรไป ผู้ใหญ่ก็นิ่งๆ

ตัดสินใจจะลาออก

ไปสมัครงานใหม่ได้เรียบร้อย

แต่ก่อนจะยื่นใบลาออก ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมาง่ายๆ

“เอ็งพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง”

เพราะถ้าเรายังไม่พยายามอย่างเต็มที่ ไปอยู่ที่ใหม่แล้วที่ใหม่มีปัญหาแบบเดิม

เราจะเสียดาย

“รู้งี้”

รู้งี้อยู่ที่เดิมดีกว่า

แต่ถ้าเราตอบตัวเองได้ว่าเราพยายามเต็มที่แล้ว

หากมีปัญหาที่ทำงานใหม่ เราก็จะไม่เสียดายที่เก่า

เพราะเต็มที่แล้ว

พอได้คำตอบว่ายังพยายามไม่เต็มที่

ผมก็ไม่ลาออก เป็นนักข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ต่อไป

และทำงานที่มติชนมายาวนานถึง 20 กว่าปี

เพราะ “คำถาม” เพียงคำถามเดียว

 

“สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอของ “ไมโครซอฟต์” ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขามี “คำถามเปลี่ยนชีวิต” เหมือนกัน

เป็นคำถามตอนที่เขามาสมัครงานที่ “ไมโครซอฟต์”

ผู้บริหารตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวกับงานเลย

เป็นคำถามง่ายๆ

“สมมุติว่าคุณอยู่บนถนน เห็นเด็กนอนร้องไห้อยู่กลางถนน คุณจะทำอย่างไร”

“สัตยา” ตอบแบบคนที่มีหลักการและเหตุผล

“ผมจะโทร.ไป 911 เพื่อแจ้งตำรวจ”

ให้เจ้าหน้าที่มาจัดการ

หลังจากสัมภาษณ์จบ ผู้บริหารคนนั้นบอกกับ “สัตยา” ว่าคุณต้องปรับปรุงเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นให้มากขึ้น

หรือที่เรียกว่า Empathy

“สิ่งแรกที่คุณควรทำเมื่อเห็นเด็กอยู่ในอันตรายและร้องไห้ คือ ไปอุ้มและกอดเขา ก่อนที่จะโทร.เรียกตำรวจ”

ต้องทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยก่อน

นี่คือ “คำถามเปลี่ยนชีวิต” ของเขา

ตอนที่อ่านเรื่องนี้ ผมคิดว่าหลายคนคงคิดเหมือนกันว่าทำไม “สัตยา” ถึงไม่รีบไปอุ้มเด็กก่อน

เพราะคนส่วนใหญ่เห็นเด็กนอนร้องไห้กลางถนน

เราต้องไปอุ้มและปลอบเด็กก่อน

เรื่องนี้น่าจะเป็นสัญชาตญานพื้นฐานปกติของคนทั่วไป

แต่ “สัตยา” ไม่ทำ

แสดงให้เห็นว่า “สัตยา” ไม่ละเอียดอ่อนในเรื่องนี้

พอมีคนตั้งคำถามขึ้นมา ทำให้เขาเริ่มให้ความสนใจเรื่อง Empathy

และกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ “ไมโครซอฟต์” ในวันนี้

เขาบอกว่า Empathy ไม่ใช่แค่ความใส่ใจต่อคนใกล้ตัว

แต่ต้องนำมาใช้กับการทำงานด้วย

“หน้าที่ของเราคือการตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่จะตอบสนองได้อย่างไรถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการฟัง”

ไม่ใช่แค่ฟังเสียงที่ลูกค้าพูด

แต่ต้องฟัง “เสียงที่ไม่ได้ยิน” ของลูกค้าด้วย

จริงๆ แล้วลูกค้าต้องการอะไร?

 

“โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ” ผู้ก่อตั้งบริษัทพานาโซนิค เป็นนักธุรกิจที่มีสไตล์การ บริหารไม่เหมือนใคร

ลูกน้องคนสนิทเคยเล่าว่าครั้งหนึ่งนายเฮอร์มาน คาห์น จะเดินทางมาหา “มัตสึชิตะ”

ก่อนวันนัดหมายประมาณ 7 วัน “มัตสึชิตะ” เดินมาถามลูกน้อง

“รู้จักนายเฮอร์มาน คาห์น ไหม เขาจะมาหาผม”

ลูกน้องก็ตอบทันทีว่าเขาเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยฮัดสัน เป็นคนที่ทำนายว่าศตวรรษที่ 21 จะเป็นยุคของญี่ปุ่น

“มัตสึชิตะ” พยักหน้า

“เข้าใจแล้ว”

พอวันรุ่งขึ้น “มัตสึชิตะ” ก็เดินมาถามอีก

“เฮอร์มาน คาห์ม จะมาหาผม รู้ไหมว่าเขาเป็นใคร”

ลูกน้องก็งงว่าทำไมเจ้านายมาถามคำถามซ้ำเดิม

ถามแบบเดิม เขาก็ตอบแบบเดิม

“มัตสึชิตะ” พยักหน้า

“อ๋อ เข้าใจแล้ว”

วันต่อมา เขาก็เดินมาถามลูกน้องด้วยคำถามเดิม

คราวนี้ลูกน้องไม่ใช่แค่เพียงแต่งง

แต่เริ่มโกรธ

เพราะรู้สึกว่าเจ้านายไม่ตั้งใจฟังที่เขาพูด

ถามซ้ำซากในเรื่องเดิม

แต่ลูกน้องคนนี้คงยังไม่อยากหางานใหม่ เขาจึงตอบเจ้านายด้วยคำตอบเดิม

เพียงแต่เสียงเริ่มเข้มขึ้น

“มัตสึชิตะ” ก็พยักหน้าเหมือนเดิม และตอบแบบเดิม

แต่เมื่อเจ้านายเดินกลับไป

ลูกน้องคนนี้ก็เริ่มฉุกคิด และตั้งคำถามกับตัวเอง

“ทำไมเจ้านายที่ฉลาดอย่างคุณมัตสึชิตะจึงตั้งคำถามซ้ำๆ กับเขาถึง 3 ครั้ง”

แล้วเขาก็เกิดอาการ “ซาโตริ”

ครับ คำถามเหมือนเดิม

แต่ความหมายของการตั้งคำถามซ้ำไม่เหมือนกับการถามครั้งแรก

นี่คือ “เสียงที่ไม่ได้ยิน” ของคุณมัตซึชิตะที่ต้องการสอนลูกน้อง

เย็นวันนั้น ลูกน้องคนนี้ไปซื้อหนังสือของ “เฮอร์มาน คาห์น” มานั่งอ่าน

ใช้เวลาทั้งคืน เพราะหนังสือหนาถึง 650 หน้า

เขาจดบันทึกย่อไว้เรียบร้อย

และยังอัดเสียงไว้ด้วย

วันรุ่งขึ้น ตอนเที่ยงคุณมัตสึชิตะก็เดินมาหา

และถามคำถามเดิม

แต่คำตอบของลูกน้องไม่เหมือนเดิม

“มัตสึชิตะ” นั่งฟังลูกน้องเล่าเรื่องของ “เฮอร์มาน คาห์น” อย่างตั้งใจเป็นเวลา 30 นาที

“เข้าใจดีแล้ว เข้าใจดีแล้ว”

ประโยคคำพูดที่เปลี่ยนไปนิดเดียวของเจ้านายคนนี้มีความหมายมาก

เพราะแสดงว่า “มัตซึชิตะ” ไม่ใช่เพียงแค่พอใจต่อคำตอบที่ละเอียดขึ้น

แต่ยังชื่นชมลูกน้องที่มีการพัฒนา

สำหรับลูกน้องคนนี้ “คำถามเปลี่ยนชีวิต” ของเขา คือ คำถามซ้ำๆ ของ “มัตสึชิตะ”

เป็นการสอนแบบไม่สอน

สอนให้เขาเรียนรู้ว่าอย่าหยุดที่จะค้นคว้าหาความรู้

อย่าพึงพอใจในความรู้ที่มีอยู่

และถ้าทำในสิ่งเดิม ต้องทำให้ดีขึ้น

…อย่าให้ถามซ้ำอีก •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC