จดหมาย

จดหมาย | ฉบับประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2566

 

• ร้องขอ (1)

แอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก

ถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เรียกร้องให้คืนสิทธิในการประกันตัว ดูแลและเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังเป็นอย่างดี

พร้อมแสดงจุดยืนขอให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ

รวมทั้งต้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันทีและไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ #FREERATSADON

แอมเนสตี้ได้ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

พบว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบยังเป็นที่น่ากังวลในสังคมไทย

ประชาชน นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ยังถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยรัฐบาล

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2566 เก็บสถิติเมื่อเดือนสิงหาคม พบนักกิจกรรมการเมืองถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกไม่ได้รับการประกันตัวอย่างน้อย 23 คน

สิทธิในการประกันตัว หรือการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในการประกันว่าผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ถูกปฏิบัติเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 9(3) ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในการรับรองสิทธิดังกล่าว

โดยเฉพาะการคุมขังก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดีจะต้องไม่ถูกบังคับใช้เป็นการทั่วไป

ศาลต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลและไม่สามารถอ้างเหตุว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวกระทำความผิดที่มีโทษสูงเพียงอย่างเดียวในการคุมขังได้

แอมเนสตี้ ประเทศไทย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคืนสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวแก่ผู้ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และประกันว่าสิทธินี้จะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกของรัฐบาล

ในวาระนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการไปยังกรมราชทัณฑ์

ให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อประกันสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี เท่าเทียม และทันท่วงที

สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนดแมนเดลา)

และปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชนรอบด้านเช่นกัน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ประเทศไทย

 

โปรดอ่าน

อีเมลฉบับต่อไป

• ร้องขอ (2)

ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ และ ส.ส.ก้าวไกล

มีมติเมื่อ 28 กันยายน ให้นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือหมออ๋อง ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค

เพื่อให้ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ ได้ต่อไป

และหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้

โดยให้เหตุผลในแถลงการณ์ว่า “เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์”

พร้อมกับโพสต์รูปภาพและข้อความว่า “แยกกันเดิน เปลี่ยนประเทศด้วยกัน” นั้น

พฤติการณ์ดังกล่าว อาจมีเจตนาที่จะทำเป็นกลฉ้อฉลหรือนิติกรรมอำพรางซึ่งเป็นโมฆียกรรม

อันขัดหรือแย้งต่ออุดมการณ์ของพรรคที่ได้ให้ไว้กับนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อ 23 มิถุนายน 2563

ว่าจะยึดมั่นในหลักนิติรัฐและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ชัดเจน

แต่กลับใช้วิธีการเยี่ยงนักการเมืองน้ำเน่า

มุ่งกอดรัดอำนาจหรือตำแหน่งไว้อย่างไม่ละอาย

มิได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่

อีกทั้งถูกสังคมตำหนิ ติเตียน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ซึ่งอาจเป็นทฤษฎีสมคบคิดกัน โดยมิได้ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน

อันเป็นข้อห้ามตามหมวด 1 ของมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดตาม ม.219 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะไต่สวนและมีความเห็นได้โดยตรง

ดังนั้น เพื่อความชัดเจนทางกฎหมาย

จึงนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นว่าเข้าข่ายกลฉ้อฉลหรือนิติกรรมอำพราง อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ อย่างไร ตาม ม.234(1) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช.2561

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีความเห็นเป็นไปตามคำร้อง ก็จะต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาเอาผิดคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล (กก.บห.) ชุดใหม่ และ ส.ส.ก้าวไกลที่มีมติเมื่อ 28 กันยายน รวมทั้งหมออ๋องด้วย

และหากหมออ๋องไปสังกัดพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองดังกล่าวก็จะต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการร่วมในนิติกรรมอำพรางเหล่านี้ด้วย

นายศรีสุวรรณ จรรยา

ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน

 

มีความแตกต่าง

ระหว่างข้อเสนอของแอมเนสตี้ฯ

กับ องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน

องค์กรแรกเสนอให้ “ปลด” พันธนาการ

ส่วนองค์หลังเสนอให้ “มัด” พันธนาการ

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล

คำถาม แล้วสังคมจะโน้มเอียงไปทางใด

สำหรับประเด็น “คนละเรื่องเดียวกัน” นี้ •