ปฏิวัติเกษตรกรรม ด้วยเทคโนโลยีการปลูกเซลล์ฝ้ายในถังหมัก | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

วงการเครื่องหนังมีการเพาะเลี้ยงหนังสัตว์จากเซลล์แล้วสำหรับสินค้าแฟชั่น

วงการสิ่งทอก็ล้ำไม่แพ้กัน!!!

ในวงการสิ่งทอ เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการออกแบบวัสดุใหม่ๆ จากธรรมชาติ เช่น เส้นใยฝ้ายเจนใหม่ (Next generation cotton) ที่มีคุณสมบัติเทียบเคียงได้กับเส้นใยสังเคราะห์ในแง่ของความทนทาน ยืดหยุ่น มีสีในตัว หรือแม้แต่มีคุณสมบัติพิเศษ อย่างเช่น ยับยาก ไปจนถึง กันน้ำ กันไฟ กันรังสียูวี

นี่เป็นมิชชั่นที่เกือบจะเรียกได้ว่าอิมพอสซิเบิล แต่ยังไงก็ยังต้องทำให้ได้ของทีมวิจัยจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization) ประเทศออสเตรเลีย หรือที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า CSIRO

แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน?

“เพราะทุกครั้งที่คุณซักหรือล้างเส้นใยสังเคราะห์อย่างโพลีเอสเตอร์และไนล่อน เส้นใยไมโครไฟเบอร์ขนาดจิ๋วจะหลุดออกมาและปนเปื้อนลงใปในแหล่งน้ำ เส้นใยพวกนี้ไม่ย่อยสลาย และสะสมในห่วงโซ่อาหาร” แมเดลีน มิตเชลล์ (Madeline Mitchell) นักวิจัยจาก CSIRO กล่าว

แต่สำหรับเส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย แม้จะมีเส้นใยหลุดออกมาบ้างไม่ต่างกัน แต่เนื่องจากเป็นวัสดุธรรมชาติ ท้ายที่สุดก็จะถูกย่อยสลายหมดไปในสิ่งแวดล้อม

และนั่นคือต้นเหตุที่ทำให้แมเดลีนเลือกที่จะศึกษาบทบาทของพันธุกรรมที่มีผลกับโครงสร้างของผนังเซลล์ในใยฝ้ายและพยายามที่จะพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ทางชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อสร้างเส้นใยฝ้ายเจนใหม่ ที่มีคุณสมบัติไม่ยับย่น และทนทาน

ความทุ่มเทของ CSIRO และทีมวิจัยในประเทศออสเตรเลียทำให้เส้นใยฝ้ายจากออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในเส้นใยฝ้ายที่คุณภาพดีที่สุดในโลก

เพื่อรักษาสถานะผู้นำในวงการสิ่งทอ และการเกษตรของโลก รัฐบาลออสเตรเลียได้ทุ่มทุนกว่า 13 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราวๆ สามร้อยล้านบาทเพื่อสร้างโครงสร้างวิจัยวิทยาศาสตร์อนาคตด้านชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology Future Science Platform) เพื่อศึกษาวิจัย และสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านชีววิทยาสังเคราะห์ทางการเกษตร และอุตสาหกรรม

ซึ่งถ้ามองในแง่ของการลงทุน ต้องบอกว่าคุ้มสุดคุ้มเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับคืนมา เพราะในเวลานี้ ต้นฝ้ายสายพันธุ์ออสซี่พัฒนาจาก CSIRO ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเส้นใยฝ้ายในออสเตรเลียจนพุ่งทะยาน และถ้าคิดเป็นมูลค่าของผลตอบแทนที่ได้มาก็น่าจะแตะๆ อยู่ที่ราวๆ 5 พันล้านเหรียญ หรือราวๆ แสนสองหมื่นล้านบาทไปแล้ว

ทั้งนี้เพราะฝ้ายออสเตรเลียที่พัฒนาขึ้นมาจาก CSIRO นั้นทั้งอึด ทั้งถึก ทั้งทน จนแทบไม่ต้องพึ่งยาฆ่าแมลง หรือยาปราบศัตรูพืชใดๆ ในการเพาะปลูก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ ต้นฝ้ายเวอร์ชั่นออสซี่ ยังเป็นฝ้ายเวอร์ชั่นนิยมน้ำน้อย แม้จะร้อน และแล้งแค่ไหน ก็ยังให้ผลผลิตเส้นใยได้ไม่ขี้ริ้วขี้เหร่ แมเดลีนเผยว่า ถ้าเทียบปริมาณเส้นใยที่ได้ กับน้ำที่ใช้ไป ฝ้ายสายพันธุ์ออสซี่จะสามารถให้ผลได้มากกว่าฝ้ายในประเทศอื่นๆ มากถึงสามเท่า

ทว่า แม้เทคโนโลยีการเพาะปลูกจากแดนจิงโจ้จะฟังดูแล้วน่าตื่นเต้น และน่าจับตามองในฐานะคู่แข่ง แต่นั่นยังไม่น่าตกใจเท่ากับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์ฝ้ายในถังหมัก ที่เพิ่งจะเป็นข่าวใหญ่ในวงการสิ่งทอไปเมื่อราวกลางปี 2023

เนื้อไก่จากห้องแล็บก็มาแล้ว กระเป๋าจากเซลล์เพาะเลี้ยงก็กำลังจะมี… แน่นอนว่า เทคโนโลยีการผลิตเส้นใยฝ้ายจากห้องแล็บก็มาแล้ว และกำลังรอจ่อเข้าตลาดอยู่เช่นกัน

และหนึ่งในผู้นำแห่งวงการใยฝ้ายจากห้องแล็บนี้ ก็คือ แกลี (Galy) บริษัทสตาร์ตอัพมือรางวัลจากบอสตันกำลังพยายามปฏิวัติวงการสิ่งทอด้วยการเกษตรระดับเซลล์

 

แม้จะมีกรีนเฮาส์ที่สวยงามเต็มไปด้วยฝ้ายสายพันธุ์ต่างๆ มากมาย แต่สิ่งที่ “แกลี” กำลังทำอยู่นั้นคือพัฒนาวิธีการปลูกเซลล์ฝ้าย “ไม่ใช่ปลูกต้นฝ้าย” ในแล็บ ลูเซียโน บูเอโน (Luciano Bueno) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งแกลีกล่าว พวกเขาต้องการที่จะพัฒนา “เส้นใยฝ้ายที่ขาวบริสุทธิ์ และมีเบื้องหลังที่บริสุทธิ์” ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจก หรือมลพิษซ้ำเติมลงไปในสิ่งแวดล้อม (เอาจริงๆ ก๊าซเรือนกระจกก็ต้องมีสร้างบ้างแหละ แต่ถ้าเทียบกันกับที่ปล่อยจากการปลูกแบบดั้งเดิมก็ถือว่าน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่สำหรับยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืชนั้น ไม่ต้องใช้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม)

ในการทำงาน ทีมวิจัยของแกลีจะเริ่มจากการคัดแยกสเต็มเซลล์จากต้นฝ้ายในกรีนเฮาส์ของพวกเขา เอามาเก็บรักษาไว้ในคลังเซลล์ และจะเลือกเฟ้นเอาแค่สเต็มเซลล์มาเพาะเลี้ยงในถังหมัก (bioreactor) จนเจริญเติบโตและจะกระตุ้นให้แปรสภาพไปผลิตเส้นใย (หรือผลิตภัณฑ์) ออกมา

ซึ่งหมายความว่าตราบใดที่มีห้องแลบ การผลิตจะทำที่ไหนก็ได้ พื้นที่ไม่จำเป็นต้องใช้เยอะ และแทบไม่ต้องสนใจสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ภายนอกเลย เพราะยังไงเซลล์ก็เติบโตอยู่ในถังหมักที่ควบคุมสภาวะแวดล้อมอยู่แล้ว (ยกเว้นน้ำท่วมแลบ อันนั้นอีกเรื่อง)

ด้วยการใช้ถังหมักที่เป็นระบบปิด ไม่ว่าสภาพแวดล้อมนอกแลบจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะผลิตในฤดูไหน เส้นใยฝ้ายที่พวกเขาผลิตขึ้นมาจะมีคุณภาพคงที่เสมอ ซึ่งดีมากสำหรับบริษัทที่รับไปแปรรูป

และที่สำคัญ เทคโนโลยีของพวกเขาสามารถผลิตเส้นใยฝ้ายได้รวดเร็วกว่าการผลิตจากไร่ ถึง 10 เท่า

 

แนวคิดของทีมแกลี เข้าตากรรมการในการประกวดรางวัลอันทรงเกียรติ Global Change Award จากมูลนิธิ H&M ในประเทศสวีเดน ซึ่งถ้าอ้างอิงจากนิตยสาร Forbes รางวัลนี้เทียบๆ ได้กับรางวัลโนเบลแห่งวงการแฟชั่นเลยทีเดียว

ทีมแกลีกลายเป็นสตาร์ตอัพดาวรุ่งแห่งวงการ และได้เซ็นสัญญาร่วมงานกับ ซูซูรัน เมดิคัล (Suzuran Medical Inc) ที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายแผ่นสำลีทางการแพทย์ แผ่นซับหน้า ทิชชู่เปียก คอตตอนบัต และหน้ากากอนามัยรายใหญ่ของโลกจากประเทศญี่ปุ่น

ดีลนี้ มีมูลค่าถึง 50 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ เกือบสองพันล้านบาทไทย และการันตีว่าซูซูรันจะซื้อผลิตภัณฑ์ใยฝ้ายที่ทีมแกลีตั้งชื่อว่า “Literally Cotton” จากห้องแล็บของแกลีเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษ ตราบใดที่ทีมแกลีสามารถผลิตเส้นใยที่ได้มาตรฐานตามที่ตกลงกันไว้มาป้อนให้กับทางซูซูรัน

จากการประเมิน ซูซูรันเผยว่าแผนของพวกเขาคือจะซื้อเส้นใย Liteally Cotton จากแกลีอย่างน้อยก็หลักหลายพันตันต่อปี ซึ่งตอนนี้งานหนักก็ไปตกอยู่ที่แกลีว่าจะขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของทีมซูซูรันได้หรือไม่

 

แกลีเผยว่าพวกเขาเริ่มลงทุนในด้านการผลิตแล้วทั้งในห้องทดลองของพวกเขาที่บอสตัน และได้เริ่มตั้งอีกห้องแล็บหนึ่งแล้วด้วยที่เมืองเซาเปาโล ประเทศบราซิล

แม้ว่าจะมีแผนเปลี่ยนแนวการผลิตผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไปใช้ใยฝ้ายจากห้องแล็บแกลี และเปิดหน้าซัพพอร์ตแนวคิดการเกษตรระดับเซลล์อย่างเต็มที่ แต่ทางซูซูรันเองก็ยังไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนทุกสายการผลิตทั้งหมดของเขามาใช้ Literally Cotton

เพราะถึงจะประหยัดกว่า รักษ์โลกกว่า คุมคุณภาพได้ง่ายกว่า แต่ไม่แน่ว่าผู้บริโภคจะยอมรับเส้นใยจากแล็บ

ซูซูรันเผยว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของพวกเขาจะยังผลิตจากใยฝ้ายที่มาจากการเกษตรแบบดั้งเดิม เก็บจากไร่ ปั่นในโรงงาน มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่น่าจะมาจากแล็บ และตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง และจะออกสู่ตลาดเมื่อไร แต่คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นเป็นชิ้นเป็นอัน และเปิดตัวได้ภายในอีกไม่เกินสองถึงสามปี

จากที่ไปส่องไลน์ผลิตของซูซูรันในปัจจุบัน ยังบอกยากว่าอะไรจะมา ถ้าให้เดาก็น่าจะเป็นก้อนสำลี หรือแผ่นซับหน้า คงยังไม่ใช่เสื้อผ้า

แต่ที่ชัดเจนก็คือ สำหรับประเทศเกษตรกรรม “การเกษตรระดับเซลล์” นี้อาจไม่ใช่แค่กระแสธรรมดา แต่อาจจะเป็นคำเตือนว่า “รีบวางแผนเดินไปข้างหน้ากันได้แล้ว”