เรียนวิชา ‘ซอฟต์เพาเวอร์ 101’ กับ ‘ช่อ พรรณิการ์’

คนมองหนัง

หมายเหตุ ในวาระที่นโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์เพาเวอร์” ของรัฐบาลเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจัง ภายหลังการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาตินัดแรกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม

จึงอยากชวนทุกคนย้อนไปอ่านเนื้อหาส่วนต้นของการขึ้นพูดในหัวข้อ “พลังของ ‘ซีรีส์วาย’ ในสังคมวัฒนธรรมไทย และโอกาสในอุตสาหกรรมความบันเทิงโลก” โดย “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” บนเวที “FEED Y CAPITAL 2nd เมืองหลวงซีรีส์วาย ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 23 กันยายน ซึ่งบรรยายถึงความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ได้เป็นอย่างดี

 

สาววายทั้งหลายเข้าใจว่าตัวเองรู้เรื่องซอฟต์เพาเวอร์และเข้าใจว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไรไหม? ได้ยินเรื่องซอฟต์เพาเวอร์กัน ทุกคนน่าจะได้ยินจนแทบจะเบื่อกันไปข้างหนึ่งแล้วใช่ไหมคะ?

ใครคิดว่าฉันเข้าใจว่าซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร? มากกว่าข้าวเหนียวมะม่วงและรำไทย ใครกล้ายกมือว่าฉันเข้าใจฉันเป็นตัวแม่ในวงการซอฟต์เพาเวอร์?

คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ พูดกันเยอะ เป็นเรื่องที่ดี หมายความว่าสังคมเริ่มให้ความสนใจ วันนี้เลยอยากจะถือโอกาสนี้ คงไม่ได้บอกว่ามาสอน เพราะว่าเราก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ แต่ว่าอยากจะมาคุยกันให้เคลียร์ๆ ชัดๆ

ก่อนเราจะพูดเรื่องอุตสาหกรรมซีรีส์วาย ก่อนเราจะพูดเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โอกาสในอนาคต ประเทศไทยจะไปอยู่ตรงไหนในโลกอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เข้าใจคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” ก่อนค่ะ ซอฟต์เพาเวอร์เวลาพูดฟังดูเป็นเรื่องวัฒนธรรม ฟังดูเป็นเรื่องศิลปะ แต่ทุกท่านทราบไหมคะว่าหลักคิดซอฟต์เพาเวอร์จริงๆ มันมาจากแนวคิดทางการทหาร?

คำว่าเพาเวอร์-อำนาจ คือเรื่องของความมั่นคง ซอฟต์เพาเวอร์ คนที่คิดหลักการหลักคิดนี้ขึ้นมาคนแรก เขาไม่ใช่รัฐมนตรีวัฒนธรรม ไม่ใช่ศิลปิน เขาคือผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา “โจเซฟ ไนย์”

ซอฟต์เพาเวอร์ในวันที่มันถูกคิดคอนเซ็ปต์ขึ้นมาคืออะไร? มันคือแนวคิดที่ว่าอำนาจแข็งไม่เพียงพอ เอารถถัง เอาเรือดำน้ำ เอาทหารไปรบ มันไม่ใช่เทคนิคการทูตการเมืองในระดับระหว่างประเทศที่จะได้ผลมากพอ

สิ่งที่อาจจะได้ผลมากกว่า ก็คือการสร้างพลังต่อรอง ที่คุณไม่จำเป็นต้องบังคับ แต่ใช้กระบวนการการโน้มน้าวด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องใดๆ ก็ตามที่ทำให้การเจรจาต่อรองของประเทศคุณต่อประเทศอื่นไม่ต้องใช้กำลังบังคับ มันเป็นอารยะกว่า และมันอาจจะได้ผลมากกว่า นี่คือที่มาเริ่มแรกของแนวคิดซอฟต์เพาเวอร์

พูดง่ายๆ ซอฟต์เพาเวอร์คืออะไร? คือพลังในการโน้มน้าวประเทศอื่นหรือคนอื่นบุคคลอื่น ให้ทำในสิ่งที่เราต้องการได้ โดยใช้เครื่องมือทางการสื่อสาร วัฒนธรรมอื่นๆ นี่ก็คือแนวคิดซอฟต์เพาเวอร์

ช่อ-พรรณิการ์ วานิช

ทําไมเราถึงต้องเริ่มด้วยเรื่องแบบนี้? เพราะพูดว่าซอฟต์เพาเวอร์ ถ้าเราไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ ไม่มีวันจะเข้าใจว่าซอฟต์เพาเวอร์ไม่มีวันเกิดขึ้นโดยบังเอิญ และซอฟต์เพาเวอร์ไม่มีวันเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์ที่แท้จริง” ถ้าไม่ได้เกิดจากการวางแผนของรัฐ มันอาจจะเรียกว่าเครื่องมือทางวัฒนธรรม หรือเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่มันจะไม่ถูกเรียกว่า “ซอฟต์เพาเวอร์”

ซอฟต์เพาเวอร์คือรัฐต้องมีนโยบายตั้งใจทำสิ่งนี้ขึ้นเพื่อสร้างพลังต่อรอง เพื่อจุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง

กลับมาที่ประเทศไทย อยากจะมีซอฟต์เพาเวอร์ ไม่ใช่สิ่งที่มโนเอาว่าเรามีหรือไม่มี มันมีสิ่งที่เรียกว่า “โกลบอล ซอฟต์เพาเวอร์ อินเด็กซ์” ที่จัดอันดับอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ วัดว่าประเทศไทยมีซอฟต์เพาเวอร์อยู่ในอันดับที่เท่าไหร่ของโลก

อยากลองทายกันดูไหมคะ ประเทศไทยอยู่อันดับที่เท่าไหร่? พูดถึงซอฟต์เพาเวอร์เราชอบคิดถึงประเทศอะไร? เกาหลีใช่ไหม? คุณคิดว่าเกาหลีใต้ในดัชนีซอฟต์เพาเวอร์โลกเขาอยู่ในอันดับที่เท่าไหร่? เกาหลีใต้อยู่อันดับ 12 นะคะ

อยากทราบไหมคะว่าประเทศที่ได้อันดับหนึ่งในด้านซอฟต์เพาเวอร์โลกคือประเทศอะไร? จริงๆ มันง่ายกว่าที่เราคิดมากเลย อเมริกาค่ะ แต่จีนอยู่ในอันดับที่สองที่สามมาโดยตลอด มันจะเรียงประมาณนี้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น

พูดอย่างนี้มันจะเริ่มเห็นชัดใช่ไหมว่า คำว่าซอฟต์เพาเวอร์หมายถึงอะไร? มหาอำนาจในด้านที่คนรู้สึกว่ารู้จัก และรู้สึกว่าน่าเป็นแบบอย่าง มันมีความหมายทางจิตใจอะไรกับเราสักอย่างหนึ่ง ถึงแม้มันจะไม่เกี่ยวกับว่ามันรบชนะเราได้

สหรัฐอเมริกาทำไมถึงมีซอฟต์เพาเวอร์อันดับหนึ่ง? ทุกคนดูหนังฮอลลีวู้ดถูกเปล่า? ต่อให้คุณดูเน็ตฟลิกซ์ มันก็เป็นอิทธิพลของอเมริกันอยู่ดี นั่นก็คือซอฟต์เพาเวอร์

ถ้าคุณมีตังค์ คุณจะส่งลูกไปเรียนที่ไหน? อเมริกาถูกไหม? คุณรู้สึกว่าพอพูดว่า “ฝรั่ง” คุณนึกถึงฝรั่งชาติไหน? ฝรั่งอเมริกัน ฝรั่งอังกฤษ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าซอฟต์เพาเวอร์ มันเป็นอำนาจนำทางวัฒนธรรม เวลาคุณคิดถึงประเทศเหล่านั้น

 

ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จริงๆ ก็ไม่เลว จาก 120 ประเทศ เราก็ถือว่าอยู่กลางค่อนไปทางต้นๆ ตาราง

แต่ทีนี้ อันดับ 35 เพียงพอหรือเปล่าที่จะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์? เพียงพอไหมที่จะทำให้แฟชั่นไทยไปอยู่ในแฟชั่นโลก? มิลานแฟชั่นวีก ปารีสแฟชั่นวีก อย่างมีศักดิ์ศรี เพียงพอไหมที่จะทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายสามารถไปบุกตลาดโลกได้? เป็นประเทศที่ถูกจดจำ ถูกชื่นชม ในระดับโลก

ก็ต้องพูดว่า (อันดับ) 35 ไม่เพียงพอ เพราะถ้า 35 เพียงพอ เราไม่ต้องมีงานนี้ เพราะว่าอุตสาหกรรมซีรีส์วาย อุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์ต่างๆ ของไทย มันก็จะไประดับโลกเรียบร้อยแล้ว โดยที่เราไม่ต้องมาจัดงานส่งเสริมมัน คือมันไปได้ด้วยตัวเอง

ก็เป็นคำตอบในตัวว่า ณ วันนี้ ยังไม่เพียงพอ แล้วทำอย่างไรให้อันดับซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศไทยมันดีขึ้นและเพียงพอที่จะผลักดันผลประโยชน์ของไทยในเวทีโลก?

กลับมาดูที่โกลบอล ซอฟต์เพาเวอร์ อินเด็กซ์ ดัชนีนี้มันมีการวัดค่าอะไรบ้าง? ที่เขาจัดอันดับ มันไม่ใช่แค่เรื่องของมรดกทางวัฒนธรรม วัดวาอารามสวย ทอผ้าเก่ง ทำอาหารอร่อย

มันจะมีการจัดลำดับ 6 เสา ยกตัวอย่างเช่น ประเทศคุณเป็นที่รู้จักหรือเปล่า? พูดชื่อประเทศ คนเขารู้ไหมว่าประเทศคุณอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก?

มีอะไรอีก คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ เศรษฐกิจการค้าการลงทุน คุณภาพการศึกษาคือสิ่งที่สำคัญมาก อย่างที่เราบอก ประเทศที่มีซอฟต์เพาเวอร์ คือ ประเทศที่คุณอยากส่งลูกไปเรียน

เพราะฉะนั้น เวลาดูภาพรวมซอฟต์เพาเวอร์ของไทย ไม่ใช่แค่คุณมีต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง แต่คุณต้องเป็นประเทศที่คนอื่นรู้สึกว่าเอาเป็นแบบอย่างได้ เป็นประเทศโรลโมเดล (ต้นแบบ)

เป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ถึงพร้อมในด้านต่างๆ วัฒนธรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา เป็นที่จดจำในแง่ดีในประชาคมโลก •

 

| คนมองหนัง