ปลายน้ำหวนคืนต้นน้ำ เชื่อมต่อกับบรรพชนและทวยเทพ : บอกเล่าประสบการณ์การทำพิธีแบบจีน (14)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มาวันนี้ผมจะได้เล่าถึงในส่วนของพิธีแล้วครับ หลังจากที่ได้เล่าถึงข้าวของเครื่องใช้ร่วมทั้งที่มาที่ไปมายาวนานหลายตอน

พิธีที่จัดขึ้นที่บ้านผมในเดือนมิถุนายน เรียกว่าพิธี “อั่นตั๋ว” หรือการสถาปนาแท่นบูชา และ “เตี้ยมหง่านคายก๊อง” หรือเทวาภิเษกเบิกพระรัศมีเทวรูปอย่างจีน เนื่องจากผมมีความปรารถนาจะตั้งแท่นบูชาประจำบบ้านดังที่ได้เล่ามาแล้ว

วันสุกดิบ อาจารย์ณัฐนนท์ ปานคง พร้อมเพื่อนๆ และศิษย์มาที่บ้านเพื่อตรวจตราดูทิศทางในการตั้งแท่นตามหลักฮวงจุ้ย ตลอดจนช่วยจัดเตรียมข้าวของในพิธีกรรมเช่นพับกระดาษเงินกระดาษทอง

ส่วนผมก็ทำขนมเซ่นไหว้บางอย่างซึ่งหาได้ยากในกรุงเทพฯ เป็นบรรยากาศงานบุญที่อบอุ่นและสนุกดีครับ

 

เช้าวันรุ่งขึ้น พิธีเริ่มต้นแต่เช้าและจะต้องเสร็จก่อนเที่ยงเพราะมีการตั้งแท่นบรรพชนด้วย ซึ่งขนบจารีตกำหนดเวลาเซ่นไหว้บรรพชนไว้เช่นนั้น เราต้องตั้งโต๊ะบูชาที่หน้าบ้านอีกหนึ่งที่สำหรับกราบไหว้ฟ้า ต้อนรับเทพเจ้าและทำพิธีที่เกี่ยวกับเทวาภิเษกก่อนจะเชิญเทวรูปไปประดิษฐานยังที่ที่เตรียมไว้บนบ้าน

ผู้ประกอบพิธีหรือ “ฮวดกั้ว” (เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการอนุญาตจากครูบาอาจารย์ และมีลำดับชั้นตามข้อกำหนด) จะเริ่มต้นด้วยการจุดธูปเทียนขึ้น และสวดอัญเชิญบรรดาเทวาจารย์ในสายวิชาลงมาในพิธี เพื่อท่านจะได้ปกปักรักษาคุ้มครองให้พิธีกรรมเป็นไปโดยราบรื่นปลอดภัย และกล่าวแจ้งให้เทวาจารย์รับทราบข้อมูลของพิธี นามเจ้าบ้าน วันเดือนปี สถานที่ ฯลฯ

เสร็จแล้วฮวดกั้วจะปลุกเสกน้ำมนต์หรือ “ฮู้จุ้ย” โดยเผายันต์ (ฮู้) สำหรับทำน้ำมนต์ใส่ลงไปพร้อมทั้งบริกรรมคาถา ปลุกเสกข้าวสารเสกที่เรียกว่า “เอี๋ยมบี้” ซึ่งเป็นข้าวสารผสมเกลือประมาณหยิบมือหนึ่ง (เอี๋ยมแปลว่าเกลือ, บี้แปลว่าข้าวสาร) โดยเผาฮู้และบริกรรมคาถาเช่นเดียวกัน

ผมไม่ทราบว่า “ข้าวสารเสก” ที่เราชอบพูดกันในละครหรือภาพยนตร์ไทย ของจริงเป็นอย่างไรหรือใช้ในพิธีการใดบ้างเพราะยังไม่เคยเห็นสักที

แต่ที่น่าสนใจคือของทางจีนนั้น เขาไม่ได้ใช้ข้าวสารเฉยๆ แต่ต้องผสมเกลือลงไปด้วย ความเชื่อว่าเกลือสามารถขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายนี้ดูจะแพร่หลายอยู่ทั่วไป

 

หลังเสกข้าวเสกน้ำ ฮวดกั้วจะชำระอุปกรณ์พิธีกรรมทั้งหมดโดยใช้กระดาษกิ๊มหรือกระดาษทองที่พับเป็นสามเหลี่ยมจุดไฟเผาแล้ววนรอบๆ ของที่จะชำระล้าง อันนี้ผมก็สนใจเป็นพิเศษเพราะดูคล้ายพิธี “อารตี” ของอินเดีย แต่จะเชื่อมโยงกันแค่ไหนไม่ทราบเพราะยังไม่ได้สืบค้นมากกว่านี้ ทว่า อย่างน้อยก็มีหลักคิดเหมือนกันว่าไฟช่วยชำระล้างให้สะอาดได้

บรรดาอุปกรณ์ในพิธีเท่าที่จำได้มีกระบี่หรือดาบเจ็ดดารา (ชิดแช้เกี่ยม) แส้งูหรือฮวดโสะอันเป็นแส้ปอถักหรือป่านถักยาวพอสมควร หัวเป็นไม้แกะรูปงูหรือมังกร แตรเขาควาย กระดิ่ง แท่งไม้เคาะบัญชาการแบบที่เราเห็นในหนังจีนเวลาที่เปาบุ้นจิ้นเอามาเคาะโต๊ะพิจารณาคดีนั่นแหละครับ

จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะฟาดฮวดโสะให้เกิดเสียงดังสามครั้ง (เรียกง่ายๆ ว่าผะฮวดโสะ) เพื่อเป็นสัญญานเริ่มต้นของพิธี แต่โดยมากมักเข้าใจว่าเป็นการเปิดทางหรือเปิดประตูสวรรค์ เป่าแตรเขาควาย (คล้ายกับเวลาพราหมณ์ใช้สังข์) แล้วพรมน้ำมนต์ไปรอบๆ เพื่อทำ “เส่เจ่ง” หรือ “ชำระล้าง” บริเวณทั้งหมดให้บริสุทธิ์สะอาด บางครูอาจารย์อาจซัดข้าวสารก่อนก็มีซึ่งขึ้นอยู่กับตำราที่สืบทอดกันมาในแต่ละสำนัก

พื้นที่สะอาดแล้วก็สวดอัญเชิญเทพเจ้าอีกครั้ง บทสวด (จิ่ว) ถูกขับเป็นทำนองที่ไพเราะและมีการเขย่ากระดิ่งประกอบไปด้วย ฮวดกั้วจะเรียกเทวทูตมารับสารหรือฎีกา เมื่ออ่านจบแล้วฎีกาที่เขียนด้วยลายสืออย่างงดงามจะถูกเผาส่งไปสู่เบื้องบนโดยสวดบทขอให้เทพยดาเจ้าที่กราบทูลฟ้าแทนเจ้าภาพ

เรื่อง “ฎีกา” (ผมคลับคล้ายว่าเรียก บุ๋นถัก) นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่งในพิธีของจีน นอกจากเป็นของใช้ในพิธีการสำคัญหรือใช้ถวายพระจักรพรรดิในสมัยโบราณ อีกอย่างก็เพราะผู้จะเขียนฎีกาได้นั้น ไม่เพียงแต่จะต้องรู้ภาษาจีนอย่างแตกฉาน แต่ต้องรู้ภาษาราชการและภาษาโบราณที่ใช้ในเอกสารเก่าๆ มีฝีไม้ลายมือในการเขียนพู่กันที่สวยงามสมเป็นหนังสือสำหรับกราบบังคมทูล

ทั้งยังต้องประพันธ์ให้มีความไพเราะและต้องสามารถอ่านออกเสียงอย่างถูกต้องตามแบบแผนขนบพิธีได้

เช่นเดียวกับเวลาบ้านเราทำพวก “ประกาศเทวดา” หรือประกาศการพระราชพิธีต่างๆ โดยมีอาลักษณ์มาอ่านนั่นเอง

การทำฎีกาจึงเป็นเรื่องยากแม้แต่ในหมู่คนจีนสมัยใหม่ในเมืองจีนเองก็ตาม แต่การที่ลูกหลานจีนโพ้นทะเลที่อายุยังน้อยสามารถเขียนและอ่านฎีกาได้นี้ก็นับว่าน่าทึ่งอย่างยิ่ง

 

ดังที่ผมเคยเล่าว่า อันที่จริงศาลเจ้าของจีนคือการจำลองระบบราชการและเป็นวิธีในการฝึกฝนชาวบ้านให้เรียนรู้ธรรมเนียมราชการและราชสำนัก ผู้ประกอบพิธีกรรมจึงเท่ากับเป็นเจ้าหน้าที่ของทางการ จำต้องรู้เรื่องขนบจารีต พิธีกรรมและต้องรู้เรื่องหนังสือด้วยจึงจะถือว่าครบถ้วน

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด แม้แต่คำว่า “ฮวดกั้ว” ที่จริงความหมายดั้งเดิมสื่อถึงตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่” มากกว่าจะหมายถึงผู้ประกอบพิธีกรรม

พอถวายฎีกาเสร็จ ฮวดกั้วจะอัญเชิญ “หยกฮองสย่งเต่” หรือ เง็กเซียนฮ่องเต้ (พระหยกจักรพรรดิเทวราช) ผู้เป็นประมุขของเทวดาและบรรดาเทพเจ้าชั้นสูงเสด็จมารับทราบการพิธีครั้งนี้

หากนายใหญ่มา แน่นอนว่าเจ้าภาพต้องตระเตรียมบอดี้การ์ดจำนวนมากไว้ด้วย ฮวดกั๊วจะสวดเชิญสามสิบหกขุนพลเทพให้ “แช่งที่” คือ ขับผีและเสนียดจัญไรที่จะมากล้ำกรายให้ออกไป แล้วซัดข้าวสารเสกไปโดยรอบ บางตำราท่านว่าข้าวสารเสกที่ถูกซัดออกไปเป็นตัวแทนของบรรดาขุนพลเทพที่จะทำหน้าที่ล้อมมณฑลพิธีเอาไว้

มาถึงขั้นตอนนี้ มณฑลพิธีก็สะอาดบริสุทธิ์ บรรดาเทวาจารย์และเทพใหญ่น้อยต่างก็มาชุมนุมโดยพร้อมหน้าแล้ว จึงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนในทางสิริมงคลต่อไป

 

พิธีจะเริ่มด้วยการ “อั่นหลอ” หรือสถาปนากระถางธูป (เฮี้ยวหลอ) เสียก่อน

มีความเชื่อว่า กระถางธูปคือกระถางทรัพย์สมบัติของบ้านนั้นๆ สิ่งที่บรรจุในกระถางธูปจึงเป็นตัวแทนของทรัพย์ และยังเป็นที่สถิตพลังแห่งเทพเจ้า จึงเป็นสิ่งที่สำคัญสุดบนแท่นบูชายิ่งไปกว่าเทวรูปเสียอีก หลายท่านคงเคยเห็นเวลามีงานงิ้วตามชุมชนต่างๆ เขาไม่ต้องยกเทวรูปไปดูงิ้ว แต่ยกกระถางธูปไปแทนก็เท่ากับเทพเจ้าได้ออกไปดูงิ้วแล้ว

พิธีอั่นหลอจะเริ่มด้วยการชำระกระถางด้วยไฟและน้ำมนต์ มีการเผายันต์ลงไป จากนั้นผู้ประกอบพิธีจะวาดยันต์แปดเหลี่ยมหรือแผนผังแปดของศาสนาเต๋าไว้ที่ก้นกระถางด้วยชาดจีน (จูซา) แล้วให้เจ้าบ้านวางเหรียญรูจีนรุ่นเก่าลงไปเก้าเหรียญบนยันต์นั้น

ผมสังเกตเห็นความละเอียดลออของอาจารย์ผู้ประกอบพิธี ท่านให้ผมและภรรยาค่อยๆ วางเหรียญลงไปบนแต่ละเหลี่ยมสลับกันไปจนครบทั้งแปดเหลี่ยม และเมื่อวางตรงกลางก็ให้เราทั้งสองคนประสานมือวางเหรียญพร้อมกัน

ผมมาเข้าใจเอาภายหลังแล้วว่า ยันต์แปดเลี่ยมหรือแผนผังแปด (ปากั้ว/ โป้ยก่วย) ซึ่งมีสัญลักษณ์หยิน-หยาง (อิมเอี้ยง) หรือสภาวะคู่อยู่ตรงกลางนั้น คือผังจักรวาลหรือผังแห่งมรรควิถีอันแปรเปลี่ยนของปรัชญาเต๋า ซึ่งสำแดงผ่านคู่ตรงข้ามในแต่ละเหลี่ยมมุมตามหลักอี้จิง

ในพิธีข้างต้น ยันต์แห่งสภาวะคู่ที่ปรากฏในกระถางธูปนั้น ได้ถูกหนุนเสริมด้วยพลังหยินหยางจริงๆ ผ่านสภาวะคู่ของผมและภรรยา (ชาย-หญิง) และเมื่อถึงจุดตรงกลางที่ซึ่งสภาวะคู่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว อาจารย์ท่านถึงให้ผมและภรรยาวางเหรียญ (เดียว) นั้นลงไปด้วยกันทั้งคู่

เมื่อสภาวะคู่สมดุล ความสมบูรณ์ของพลังชีวิตก็เกิดมีขึ้น ที่หมายว่ากระถางธูปเป็นกระถางทรัพย์ในบ้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะมียันต์ที่แสดงถึงพลังแห่งความสมดุลสอดคล้องกลมกลืนนี่เอง ไม่มีสิ่งใดขาดพร่อง ทั้งยังดูดกลืนทุกสิ่งเข้ามา

จากนั้นเราจะโปรยธัญพืชห้าสีอันได้แก่ ลูกเดือย ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดงและถั่วดำลงไป บางสำนักอาจเป็นธัญพืชอย่างอื่น เป็นสัญลักษณ์ของธาตุทั้งห้า ความอุดมสมบูรณ์และความเจริญงอกงาม แล้วกลบทับด้วยขี้เถ้าสะอาดหรือขี้ธูปกะให้พอปักธูปได้

ก่อนจะอัญเชิญไปประดิษฐาน ผู้ประกอบพิธีมักจะเขียนคำมงคลลงไปบนกระถางธูป เช่น อั่นหลอไต่เกียด (กระถางสถาปนามหามงคล) หรือจะแค่เขียนในอากาศแล้วเสกเป่าลงไปก็ได้หากไม่ประสงค์ให้มีตัวหนังสือปรากฏ

 

เนื้อที่วันนี้หมดเสียแล้ว แต่รายละเอียดพิธียังมีอีกมากที่ผมจะได้เล่าต่อไป

หวังใจว่าท่านผู้อ่านจะสนุกกับเกร็ดความรู้เหล่านี้

และหากไม่ตรงกับสิ่งที่ท่านรู้หรือยึดถือ ก็ขอให้ทราบว่าที่บรรยายมานี้เป็นเพียงแนวทางที่ผมได้พบเจอและเรียนรู้มาจากครูบาอาจารย์เท่านั้น

แถมยังเขียนขึ้นจากความทรงจำ ย่อมมีตกหล่นสูญหาย

ส่วนคราวหน้าจะมีอะไรอีกนั้น

โปรดติดตาม •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง