เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์การเมืองและการเปลี่ยนผ่านผู้นำ

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

ภูมิทัศน์การเมืองและการเปลี่ยนผ่านผู้นำ

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2023 ร้อนแรงและโดดเด่นมาก ด้วยการเมืองของการเลือกตั้งหลังจากภูมิภาคนี้ผ่านพ้นโรคระบาดโควิด-19 ไปแล้ว

ฟิลิปปินส์และมาเลเซียได้เลือกผู้นำใหม่ปี 2022

ส่วนเวียดนามได้เปลี่ยนผู้นำสำคัญหลังจากประธานาธิบดี Nguyen Xuan Phuc เสนอตัวลาออกอย่างสุภาพ

ผู้ออกเสียงเลือกตั้งในไทย กัมพูชาและสิงคโปร์ต่างเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้แทนราษฎรและผู้นำในปี 2023 สำหรับปี 2024 จะเป็นปีที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับอินโดนีเซีย ประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในภูมิภาค จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความรู้จำกัด อีกทั้งอยากเสนอการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมือง (political landscape) และการเปลี่ยนผ่านผู้นำ (leadership transition) เพียงบางประเทศเท่านั้น

 

อินโดนีเซีย

: การเมืองแห่งอัตลักษณ์และความเปลี่ยนแปลง

อินโดนีเซียจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกุมภาพันธ์ 2024 การเมืองแห่งอัตลักษณ์ (identity politics) รวมทั้งการใช้ความอ่อนไหวทางศาสนามีอิทธิพลต่อวาทกรรมการเมืองของประเทศนี้

บทบาทของอิสลามในการเมืองมีความสลับซับซ้อน สิ่งเหล่านี้จะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเมืองอินโดนีเซียประเทศที่ไม่เคยเป็นรัฐทางโลก (secular state) อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น ศาสนาจึงแสดงบทบาทในการเมืองอินโดนีเซียตลอดช่วงประวัติศาสตร์ ความสำคัญของศาสนาทวีคูณนับจาก reformasi1 เนื่องจากความเลื่อมใสทางศาสนาของคนอินโดนีเซียเติบโตขึ้น

การทะยานขึ้นของการเมืองแห่งอัตลักษณ์ โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งตอบสนองทุกพรรคและนักการเมืองทุกคน การใช้การเมืองแห่งอัตลักษณ์ระหว่างรณรงค์เลือกตั้งปี 2024 คาดว่าเข้มข้นเหมือนช่วงการเลือกตั้ง 2014 และ 2019

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีทุกคนมีแนวทางความคล้ายกันใน 3 ประเด็นคือ อิสลาม ชาตินิยมและแนวทางการเมืองแบบกลางๆ

ดังนั้น การเมืองแห่งอัตลักษณ์ครั้งนี้ไม่แบ่งแยกเหมือนการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้านี้

ปัจจุบันอินโดนีเซียที่มองว่าเป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าระดับโลกเริ่มเกิดข้องสงสัย มาตรการใหม่เหมือนการแต่งตั้ง ผู้นำท้องถิ่นแบบชั่วคราวถูกนำมาใช้ปี 2020 เพื่ออุดช่องว่างระหว่างผู้บริหารภูมิภาคครั้งล่าสุดและการเลือกตั้งในรอบต่อมาปี 2024

นักวิเคราะห์มองว่ามาตรการนี้เป็นความพยายามหนึ่งเพื่อย้อนหลังการให้อิสระกับรัฐบาลท้องถิ่น เช่น แนะนำการเลือกตั้งโดยตรงของผู้บริหารในรัฐบาลท้องถิ่น ผู้ว่าและ นายกเทศมนตรีปี 2004

 

ฟิลิปปินส์ คนรุ่นใหม่และโซเชียลมีเดีย

ผู้บริหารรัฐบาลประธานาธิบดี เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) กับประธานาธิบดีคนก่อน ดูแตร์เต (Duterte) บุคลิกผู้นำสองคนนี้ไม่เหมือนกันโดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์แห่งชาติของนโยบายต่างประเทศและการเมืองภายในฟิลิปปินส์สัมพันธ์กัน

ในขณะที่ผลประโยชน์แห่งชาติยังไม่เปลี่ยนแปลง อำนาจปฏิบัตินโยบายต่างประเทศอยู่ที่ประธานาธิบดีเป็นหลัก

การแข่งขันรุนแรงสหรัฐอเมริกากับจีนกระทบต่อการวางท่าทีของประเทศ ได้กลายเป็นประเด็นความมั่นคงสำคัญท้าทายต่อประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ที่ละเลยปัญหาภายในของอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เตคือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล สงครามยาเสพติด

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันภายในอาจท้าทายความสามารถในการรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ได้

ที่น่าสนใจมาก โซเชียลมีเดียแสดงบทบาทชัดเจนโน้มนำการเลือกตั้งปี 2022 โซเชียลมีเดียมีบทบาททั้ง disinformation คือ เป็นข่าว/ข้อมูลปลอมที่เป็นภัยและแพร่โดยเจตนา และ misinformation คือ เป็นข่าวปลอมที่ไม่เป็นภัยและแพร่โดยไม่เจตนา2 โดยโซเชียลมีเดียแสดงบทบาทต่อมติมหาชน (public opinion) และผลการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ นับจากปี 2016 ฟิลิปปินส์กลายเป็นพื้นที่ใช้เฟกนิวส์ (Fake News) เพื่อเป้าหมายเลือกตั้ง ด้วยการแพร่กระจายอินเตอร์เน็ต

คนฟิลิปปินส์ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี และมีการใช้การเมืองโดยผู้บริหารระดับสูงของแพลตฟอร์มโหมใช้โซเชียลมีเดีย เมื่อนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาเป็นอาวุธช่วงการเลือกตั้ง ฟิลิปปินส์แทบจะเป็นคนไข้ป่วยหนัก ทำอะไรไม่ได้

โซโซเชียลมีเดียแสดงบทบาททางการเมืองฟิลิปปินส์ 2 ประการคือ

ด้านหนึ่ง โซเชียลมีเดียระดมผู้ออกเสียงเลือกตั้งรุ่นเยาว์ให้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งข่าวปลอม ในการรณรงค์การเลือกตั้ง โซเชียลมีเดียเป็นสะพานเชื่อมทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ การมีส่วนร่วมทางการเมือง และพาคนเข้าคูหาเลือกตั้ง

อีกด้านหนึ่ง ข่าวปลอมดาหน้าสู่การรณรงค์เลือกตั้งปี 2020 แบ่งเป็นฝ่ายการออกเสียงของ 2 คู่แข่ง พวกที่รังเกียจการปฏิวัติ คือผู้สมัครเป็นประธานาธิบดี มาร์กอส จูเนียร์ และลูกชาย กับคู่แข่งอดีตเผด็จการ ดูแตร์เต แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายโหยหาอำนาจนิยม กับ ฝ่ายภาพลวงตาประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เป็นการกัดกร่อนผู้สมัครคนอื่นๆ และมีผลสะท้อนกลับต่อรัฐและสุขภาวะประชาธิปไตยฟิลิปปินส์

 

ผู้นำกัมพูชา ใหม่หรือเก่า?

ที่กัมพูชา พรรคประชาชนกัมพูชา ได้รับชัยชนะก้าวสู่อำนาจอีกครั้งในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อ กรกฎาคม 2023 นักสังเกตการณ์เชื่อว่า การแบนไม่ให้พรรค Candlelight Party พรรคแกนนำฝ่ายค้านกัมพูชาลงแข่งขันเลือกตั้งเป็นการกัดเสาะประชาธิปไตยกัมพูชา ที่สำคัญยังมีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองด้วย

ประชาธิปไตยเป็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยประชาชนและเพื่อประชาชน คนกัมพูชาเป็นคนที่จะตัดสินอนาคตของประเทศของเขาผ่านประชาธิปไตย

แต่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ยังไม่จบสิ้นในกัมพูชา มีการเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกฝ่าย โดยหลักการความยืดหยุ่น เปิดกว้าง ทุกฝ่าย โปร่งใสและตรวจสอบได้ แล้วเราจะเห็นได้ว่า ประชาธิปไตยกัมพูชายังเยาว์วัยนัก อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยในกัมพูชากำลังก้าวหน้า

นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต (Hun Manet) ได้รับบทบาทนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 สิงหาคม 2023 พร้อมด้วยผู้นำรุ่นใหม่ครองตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย

แต่เราคาดหวังความเป็นผู้นำของพวกเขาต่างจากพ่อของพวกเขาได้หรือไม่เป็นคำถามใหญ่

รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ต่างจากอดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน พ่อของเขามากน้อยแค่ไหน

ในเชิงการบริหารประเทศ ตอนนี้นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต จะยังคงใช้วิสัยทัศน์และเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่แล้ว

แต่เขาเถรตรงมากๆ ในเรื่องการปฏิรูป ในระดับหน่วยงานปฏิบัติการ

กล่าวได้ว่า แบบแผนผู้นำของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต มีลักษณะกลุ่มผู้นำที่เห็นพ้องต้องกัน

แนวทางหนึ่ง มีแนวทางเน้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนสำคัญในกระบวนการตัดสินใจนโยบาย โลกทัศน์และจิตใจของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต เปิดกว้าง โดยอาศัยเส้นทางทางวิชาการของเขาและประสบการณ์จริงของเขาภายในประเทศ

สรุป หลายฝ่ายมองว่า ผู้นำคนใหม่จะใช้แนวทางปฏิบัตินิยม เป็นปรัชญาของนโยบายต่างประเทศ แล้วยังคาดหวังว่า เขาเถรตรงกว่าผู้นำรุ่นพ่อของเขา

 

ปะทะประสานระหว่างคอร์รัปชั่น

กับอุดมการณ์ในเวียดนาม

ประจักษ์พยานการปะทะกันระหว่างคอร์รัปชั่นกับอุดมการณ์ในเวียดนามคือ การเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับสูงคือ ประธานาธิบดีและรองนายกรัฐมนตรี 2 คน

คดีคอร์รัปชั่นกับการปกครองประเทศกระทบเสถียรภาพทางการเมืองและความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อผู้นำ

แต่ในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม-CVP3 เห็นว่าการคอร์รัปชั่นคือ ภัยร้ายแรงต่อความชอบธรรมทางการเมืองและความมั่นคงของระบอบการเมือง และยังกีดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ปี 2016 CVP ไม่ยอมผ่อนปรนการต่อต้านคอร์รัปชั่น การรณรงค์นี้มีผลให้เกิดการลงโทษหรือฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ นายทหารระดับสูงและตำรวจนับแสนราย รวมทั้งสมาชิกโปลิตโบโรของพรรค

มาตรการเหล่านี้เป็นต้นทุนระยะสั้นที่พรรคต้องจ่าย แต่ได้ผลลดคอร์รัปชั่นในระยะยาว

 

แรงปะทะ

CVP อิงอุดมการณ์สังคมนิยมของจีนมาตลอด มีการนำอุดมการณ์มาใช้กำหนดนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม โดยเฉพาะช่วงสงครามเย็น (จากต้นทศวรรษ 1950-1980)

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ชาตินิยมและปฏิบัตินิยมกลายเป็นพลังเด่นชัดในการปรับเปลี่ยนการตัดสินใจทางนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม

ดังนั้น แม้ว่า CPV อาจใช้อุดมการณ์นำสถานการณ์และประเด็นต่างๆ รวมทั้งขับดันนโยบายต่างประเทศ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือ ในความสัมพันธ์เวียดนามกับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา แม้ว่าใกล้ชิดทางอุดมการณ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม เวียดนามสามารถยืนเด่นต่อจีนในปัญหาทะเลจีนใต้ ในขณะที่มีความแตกต่างทางอุดมการณ์ระหว่างวียดนาม (สังคมนิยม) กับสหรัฐอเมริกา (ทุนนิยม) แต่ไม่สามารถแยก 2 ประเทศจากจุดแข็งที่ผูกพันด้านต่างๆ

ผลสูงสุดคือ แถลงการณ์ล่าสุดเรื่อง พันธมิตรทางยุทธศาสตร์รอบด้าน (comprehensive strategic partnership) สหรัฐอเมริกา-เวียดนาม

 

สรุป เอเชียะตะวันออกเฉียงใต้

‘ยุคที่ยังไม่มีชื่อเรียก’

ผู้เขียนไม่อยากใช้คำว่า ‘ความท้าทาย’ ความหมายของคำนี้กว้างและเลื่อนลอยสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเมืองของการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านผู้นำ กำลังเปลี่ยนและขับเคลื่อนภูมิภาคนี้อย่างสำคัญ

อินโดนีเซียชาติประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของภูมิภาค การเมืองของการเลือกตั้งทำให้เราเรียกอินโดนีเซียประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่ได้เสียแล้ว การเมืองแห่งอัตลักษณ์ อิสลาม ชาตินิยมดำรงอยู่ก็จริง แต่การเมืองการเลือกตั้งหลบลอดพลังเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือผู้นำท้องถิ่นได้แก่ ผู้ว่าฯ และนายกเทศมนตรี หลายๆ เมืองถูกแต่งตั้งกลายๆ จากผู้ออกเสียงที่ถูกชี้นำโดยผู้นำท้องถิ่นและนโยบาย ประชานิยม ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งโฆษณา

ที่ชัดเจนและอันตรายต่อประชาธิปไตยในอินโดนีเซียมากขึ้นคือ บทบาททางการเมืองของกองทัพที่เพิ่มมากขึ้น

การเปลี่ยนผ่านผู้นำนับจากปี 2016 จากประธานาธิบดี รองนายกรัฐมนตรี นายทหารระดับสูงและตำรวจ เจ้าหน้าที่ระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจากการคอร์รัปชั่นและข้อกล่าวหากำลังเปลี่ยนภูมิการเมืองของเวียดนาม

แม้ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะยังอยู่ แต่การเปลี่ยนผ่านผู้นำจำนวนมากทั่วประเทศเพื่อรักษาความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์เอาไว้ก็เปลี่ยนภูมิการเมืองเวียดนามมากกว่าอดีตที่ผ่านมา

แม้การเลือกตั้งปี 2023 ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาและสมาชิกตระกูลฮุน ครองการเมืองและประเทศกัมพูชาต่อไป แต่นายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ก็เป็นลูกไม้หล่นไกลต้น (ไม้) วิสัยทัศน์ เป้าหมายทางการเมืองของเขาดูกลางๆ ไม่มีอะไร บางคนเรียกว่า ปฏิบัตินิยม อาจเถรตรงในการปฏิรูปแค่ในฝ่ายปฏิบัติการของรัฐบาลและระบบราชการ

เราไม่ควรลืมว่า ไม่ใช่ฮุน มาเนต เพียงคนเดียวที่เป็นลูกไม้หล่นไกลต้น คณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากคือ คนรุ่นใหม่ พวกเขาจะแตกต่างจากพ่อของพวกเขาแค่ไหนอาจยังเป็นคำถาม

แต่ความแตกต่างของพวกเขาเป็นความแตกต่างที่เหมือนคนกัมพูชารุ่นใหม่ทั้งหนุ่มสาวและคนรุ่นเก่า รุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เริ่มไม่อดทนต่อระบอบฮุนเซนอีกแล้ว

ดังนั้น ภูมิทัศน์การเมืองกัมพูชา กำลังเปลี่ยนไปแล้วด้วย

ขอเรียกแนวโน้มในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ว่า ‘ยุคที่ยังไม่มีชื่อเรียก’

 

1การปฏิรูปหรือ Reform ในภาษาอังกฤษ แนวคิดปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญยุคสิ้นสุดระบอบซูฮาร์โต (Suharto Regime) ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 30 ปี ระบอบนี้ล่มสลายด้วยผลจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี 1997 แล้วผู้นำที่ใกล้ชิดกดดันให้นายพลซูฮาร์โตและคนใกล้ชิดลาออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้น อินโดนีเซียรับข้อเสนอปฏิรูปเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยอมปรับลดงบประมาณ ปฏิรูปกองทัพและตำรวจ แยกบทบาททหารดูแลความมั่นคงจากภัยคุกคามภายนอก ล้มเลิกรัฐวิสาหกิจของกองทัพ โดยเฉพาะในกิจการน้ำมันและสถาบันการเงิน

2คำจำกัดความได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนโดยรองศาสตราจารย์ พิจิตรา สคราโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ตุลาคม พ.ศ.2566.

3Communist Party of Vietnam