หลัง14 ตุลา สู้กันมา 50ปี…เกิดอะไรขึ้นบ้าง? (1) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

1. ประชาชนมิได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ต้องถูกปราบจนแดดิ้น เพียงแค่ 3 ปี

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นานถึง 40 ปี ในขณะที่ได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 จากการต่อสู้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 มีประชาชน นักศึกษาเสียชีวิต มีเผาบ้านเผาเมือง แต่เมื่อชนะก็ได้เป็นวีรชน

ด้วยความไร้เดียงสาทางการเมือง คนหนุ่มสาวที่ก้าวหน้าก็คิดว่า ฟ้าประชาธิปไตยเปิดแล้ว แต่ในความเป็นจริง 40 ปีหลัง 2475 สยามมีโอกาสพัฒนาประชาธิปไตย ไม่ถึง 15 ปี รากฐานทางอุดมการณ์ ทางความคิด ผลดีจากระบบ คนก็ยังไม่รู้ ในขณะที่ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่แทรกตัวเข้ามาในระบบปกครอง มีประสบการณ์มาหลายร้อยปี รู้วิธีใช้กำลัง ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย

ดังนั้น พวกเขาจึงได้ยึดกุมอำนาจรัฐในช่วงเวลาที่ยาวนานกว่า

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่กระแสประชาธิปไตยพุ่งขึ้นสูง แนวคิดทางสังคมนิยมซึ่งถูกปิดกั้นในสมัยเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้โผล่ขึ้นเหนือดิน แตกช่อใบออกอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ของประชาชน กลายเป็นที่หวาดกลัวของนายทุน ขุนศึก ศักดินา

ดังนั้น ภายในเวลาแค่ 3 ปีการปราบปรามนักศึกษาประชาชนจึงเกิดขึ้น กลายเป็นเหตุการณ์รัฐประหารโหด 6 ตุลาคม 2519

ผลก็คือคนหนุ่มสาวต้องใช้ชีวิตแลกประสบการณ์ ในวันสังหารโหด ‘6 ตุลา’ วันที่ฟ้ามืดสนิท

การเข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยมทำให้มีคนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย จับอาวุธ ใช้สงครามจรยุทธ์สู้กับรัฐบาลต่อเนื่องนานประมาณ 5-6 ปี

 

2. เผด็จการแปลงกาย
เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนานถึง 10 ปี

เนื่องจากระบบเผด็จการไทยไม่เป็นที่ต้อนรับของชาวโลกจึงต้องปรับลดมาเป็นเผด็จการครึ่งใบ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ ปี 2521 มาแสดงการเลือกตั้งเริ่มจากสมัยนายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งกำหนดให้ ส.ว.มี 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. และมีอำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรี

ปี 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงใช้ ส.ว. 225 คน และ ส.ส.กลุ่มเล็กๆ เป็นฐาน ตั้งรัฐบาล แต่อยู่ได้แค่ 9 เดือน ก็ถูกบีบให้ลาออกกลางสภา

ปี 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ชุบมือเปิบมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้ง ส.ส.และ ส.ว.โดยไม่ต้องไปออกแรงเลือกตั้ง

จากนั้นก็ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยดึงพรรคใหญ่เข้ามาร่วม กลายเป็นพรรคการเมือง 5 พรรค และมีการจัด ครม.เป็นสัดส่วนตามโควต้ามากน้อยของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับเลือก ส่วนโควต้ารัฐมนตรีของ พล.อ.เปรมก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเช่นเดียวกัน และทางการทหารก็ทำการต่ออายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ออกไปอีก 1 ปี

ปี 2526 มีการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่า พรรคชาติไทยได้ที่หนึ่ง โดยได้ 110 ที่นั่ง แต่ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน พรรคกิจสังคม และประชาธิปัตย์ (ปชป.) หนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี

ปี 2529 มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ปชป. โดยนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดถึง 99 เสียง พรรคชาติไทย 64 เสียง พรรคกิจสังคม 51 เสียง และพรรคราษฎร 20 เสียง แต่ทุกพรรคต่างเห็นชอบให้ พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

พล.อ.เปรมอยู่ได้นานถึง 8 ปีกว่าโดยไม่ต้องลงเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว เป็นนายกฯ คนนอกที่พรรคการเมืองช่วยกันเสนอมาตลอด

แต่เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2531 พล.อ.เปรมบอกว่า… ผมพอแล้ว…ไม่ยอมรับตำแหน่งนายกฯ ต่อเพราะมีผู้คัดค้านมากขึ้น

ประชาธิปไตยครึ่งใบ จึงจบลงตรงนี้

 

3. ยุคพัฒนาประชาธิปไตย 2531-2544
คนธรรมดาก็เป็นนายกฯ ได้

เมื่อ พล.อ.เปรมไม่ยอมรับตำแหน่งนายกฯ ต่อ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 87 เสียงได้เป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลผสม

นายกฯ ชาติชายทำการบริหาร ประชาชนรู้สึกว่าประเทศน่าจะไปได้ดี

แต่ถึงปี 2534 ก็เกิดการรัฐประหารของทหารคณะ รสช. แต่ยึดอำนาจมาได้เพียงปีเดียวประชาชนก็ลุกขึ้นมาต่อต้าน คณะ รสช.มีการปราบประชาชน ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อคณะ รสช.ถูกโค่นสืบทอดอำนาจไม่สำเร็จ จึงมีการเลือกตั้งใหม่ ปชป.ได้เสียงมากที่สุด 79 เสียง ชาติไทยได้ 77 เสียง นายชวน หลีกภัย จึงได้เป็นนายกฯ อยู่จนถึงปี 2538 เดือนพฤษภาคมก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01

ปี 2538 มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ คราวนี้พรรคชาติไทยได้ ส.ส.มากที่สุดคือ 92 เสียง ชนะประชาธิปัตย์ที่ได้ 86 เสียง นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นนายกฯ บริหารได้เพียง 1 ปีก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหารยุบสภา

มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2539 พรรคความหวังใหม่ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเสียงมากที่สุด 125 เสียง ชนะ ปชป.ซึ่งได้ 123 เสียง

ถึงจุดนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงกันในหมู่พรรคการเมืองแล้วว่าใครชนะที่ 1 เป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน

แต่ พล.อ.ชวลิตแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และในที่สุดก็ลาออกหลังจากบริหารมาได้เกือบปี

นายชวน หลีกภัย ชิงเสียงโหวตในสภาได้จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 บริหารจนเกือบหมดวาระ

 

4. เมื่อยุคการเมือง 2 ขั้วมาถึงจริง
มีคนไม่ยอมรับ

การเลือกตั้งใหม่มีขึ้นในเดือนมกราคม 2544 ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพรรคใหม่ได้ ส.ส.มากที่สุดถึง 248 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 128 ทักษิณเป็นนายกฯ คนใหม่จัดตั้งรัฐบาลผสม มีชาติไทยและความหวังใหม่เข้าร่วม บริหารไปจนถึงปี 2547 ครบวาระมีการเลือกตั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นได้ ส.ส.ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ถึง 377 เสียง ปชป.ได้ 96 มีการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวจากไทยรักไทย

สภาพเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะดี เป็นสิ่งที่คนไทยเคยบ่นว่าทำไมไทยไม่เป็นระบบพรรคการเมือง 2 พรรคแบบต่างประเทศ จะได้ไม่ต้องมาแบ่งโควต้ารัฐมนตรี

กำหนดนโยบายอะไรออกมา พรรคที่ชนะก็สามารถบริหารได้

แต่พอเกิดขึ้นจริง กลับมีการต่อต้านนายกฯ ทักษิณแรงขึ้นจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549

ยุคของการพัฒนาประชาธิปไตยนับตั้งแต่นายกฯ ชาติชาย จนถึงนายกฯ ทักษิณ 18 ปีจึงจบลงที่ตรงนี้

 

5. รัฐประหาร 2549
เพื่อสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย

เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ขึ้น ใครก็ตกใจเพราะมันผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มานานถึง 33 ปี บางคนคิดว่ามีแต่คนสติไม่ดีเท่านั้นที่ทำเรื่องนี้

แต่นี่ก็เป็นเรื่องจริงและก็มีคนกลุ่มหนึ่ง ต้องการดำรงระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ตนเองมีอำนาจเหนือกว่าไว้ให้ได้

ผลสะเทือนตลอด 33 ปีของกระแสประชาธิปไตยจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิดและอุดมการณ์ จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2534 ทำให้เกิดการต่อสู้ของประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535 มีผลให้กระแสประชาธิปไตยขึ้นสูงอีกครั้ง ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และมีการพัฒนาประชาธิปไตยต่อเนื่องไปอีก 18 ปี มีทั้งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องนายกฯ จากการเลือกตั้ง มีเลือกตั้ง ยุบสภา ลาออก ครบทุกอย่าง ชิงอำนาจนอกสภา ในสภา จนใครๆ ก็คิดว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรัฐประหารไปแล้ว

เหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 คือการพยายามสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย

แต่ก็ไม่ง่าย เพราะประชาชนยังมีจิตวิญญาณของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยจากยุค 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535 ที่ต่อสู้กับเผด็จการ

พวกเขายังไม่ยอมแพ้และเข้าต่อสู้กับระบอบอำมาตย์ยุคใหม่ มาตลอด 17 ปี

เราจะวิเคราะห์ปัญหาการต่อสู้ 2 ยุคในตอนต่อไป