‘เศรษฐา’ ลุยพักหนี้เกษตรกร ฐานเสียงใหญ่พรรคเพื่อไทย…จะได้คุ้มเสีย เมื่อภาระหนี้ตกแก่คนรุ่นใหม่

บทความเศรษฐกิจ

 

‘เศรษฐา’ ลุยพักหนี้เกษตรกร

ฐานเสียงใหญ่พรรคเพื่อไทย…จะได้คุ้มเสีย

เมื่อภาระหนี้ตกแก่คนรุ่นใหม่

 

นับจากระยะเวลาที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ไม่ถึง 1 เดือน ก็พยายามทำผลงานอย่างหนัก เอาใจประชาชนคนไทย

โดยเริ่มต้นตั้งแต่สัปดาห์แรก ครม.ก็มีมติออกมาตรการชุดใหญ่ ทั้งมาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดราคาน้ำมัน มาตรการขึ้นค่าแรง มาตรการเงินดิจิทัลวอลเล็ต และมาตรการพักหนี้เกษตรกร และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

จากนั้น รัฐบาลประเดิมเริ่มมาตรการแรกทันที ประกาศการพักหนี้เกษตรกรพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน เป็นเวลา 3 ปี โดยมีลูกหนี้เกษตรกรที่เข้าเกณฑ์ มีทั้งหมด 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวม 3 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ลูกนี้ทั้งที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เข้าร่วมได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กรณีลูกหนี้ที่มีสถานะปกติ หากต้องการชำระหนี้ก็สามารถทำได้ โดยรัฐบาลสร้างแรงจูงใจในการลดหนี้ โดยเงินที่ชำระหนี้ครึ่งหนึ่ง จะได้รับการตัดชำระเงินต้น เพื่อให้มูลหนี้ลดลง

ขณะที่ลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นเอ็นพีแอล จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว และหากต้องการชำระหนี้ ก็จะสามารถชำระเงินต้นได้ทั้งหมด 100% โดยไม่มีการนำไปตัดส่วนดอกเบี้ย

ขณะที่ ธ.ก.ส.เองก็ใจปล้ำ ออกสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำ หลังแก้หนี้ ให้อีก 1 แสนบาทต่อคน เพื่อให้เกษตรสร้างเนื้อสร้างตัวได้ และไม่หันเหไปสร้างหนี้นอกระบบ

มาตรการสินเชื่อนี้ ถือเป็นอีกส่วนที่รัฐบาลพยายามแสดงให้เห็นว่า การพักหนี้ครั้งนี้ ไม่เหมือนกับ 13 ครั้งใน 9 ปีที่ผ่านมา!

 

อย่างไรก็ดี มาตรการพักหนี้ ถือเป็นมาตรการที่คุ้นเคยที่หลายรัฐบาลได้ทำมา พยายามป้อนให้เกษตรกร ที่ถือเป็นกลุ่มฐานเสียงส่วนใหญ่อีกหนึ่งกลุ่มก็ว่าได้ อย่างน้อยเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ ก็มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ ก็อาจจะให้ใจรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในอนาคต

หากย้อนรอยไปดูการพักหนี้ที่ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสายเลือดตรงของพรรคเพื่อไทย ที่ทำมาแล้วหลายสมัย ตั้งยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ออกมาตรการพักหนี้เกษตรในปี 2544-2547 หรือเป็นเวลา 3 ปี ก่อนจะก่อตั้งพรรคเพื่อไทยในปี 2550

เช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวแท้ๆ ของนายทักษิณ เดินตามรอยพี่ชาย ออกมาตรการพักหนี้เกษตรกร พร้อมกับลูกหนี้รายย่อยอื่นๆ ในปี 2554-2557

ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอง แม้จะถือเป็นคนละขั้ว แต่ก็ยังหยิบยืมมาตรการพักหนี้มาใช้ โดยใน 9 ปี ได้มีมาตรการพักหนี้เกิดขึ้นราว 13 ครั้ง

แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ การใช้เงินของรัฐบาล แน่นอนว่าการพักหนี้ไม่ใช่มาตรการที่ไม่มีต้นทุน เพราะการจะพักหนี้ รัฐบาลก็ต้องหางบประมาณมาชดเชยดอกเบี้ยที่ธนาคารเสียไปด้วย!

 

ในยุครัฐบาลทักษิณ จ่ายชดเชยดอกเบี้ยการพักหนี้ให้ ธ.ก.ส.ไป 1.55 หมื่นล้านบาท ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ่ายไป 1.59 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยุคบิ๊กตู่ จ่ายชดเชยการลดดอกเบี้ยไป 1.6 หมื่นล้านบาท

ส่วนการพักหนี้รอบใหม่นี้ รัฐบาลนายเศรษฐา ได้อนุมัติงบฯ การพักหนี้ 3 ปี กรอบวงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเคาะตัวเลขของมาตรการในปีที่ 1 แล้วที่ 1.2 หมื่นล้านบาท

โดยเป็นงบฯ มาจาก มาตรา 28 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 โดยการพักหนี้แม้จะใช้งบไม่มากเหมือนการอัดฉีด หรือแจกแหลกเป็นเงินให้ประชาชน แต่ก็มีเสียงวิจารณว่าจะคุ้มหรือไม่ เป็นการช่วยที่ถูกทางหรือเปล่า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้สำรวจข้อมูลจากการพักหนี้เกษตรกร 13 ครั้งใน 9 ปี พบว่า ปัจจุบันยังพบเกษตรกรกว่า 90% เป็นหนี้ ส่วนมูลหนี้ก็โตกว่า 75% และมีเกษตรกรราว 50% ยังติดกับดักหนี้เรื้อรัง

ขณะเดียวกัน การใช้เงินของรัฐบาลก็ยังเป็นที่จับตามอง เพราะหนี้ตามมาตรา 28 นี้ รัฐบาลได้ยอมรับว่าจะเป็นหนึ่งในแหล่งเงินที่จะใช้ในอีกหนึ่งโครงการใหญ่ อย่าง ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แจกประชาชน 56 ล้านคน รวมวงเงิน 5.6 แสนล้านบาท

ซึ่งต้องจับตาว่ารัฐบาลจะขยายเพดาน หนี้มาตรา 28 นี้เท่าไร!

 

สําหรับหนี้ตามมาตรา 28 นั้น ถือเป็นอีกกระเป๋าที่รัฐบาลนำออกมาใช้ทำมาตรการได้โดยการยืมเงินมาจากรัฐวิสาหกิจก่อน ซึ่งก็คือสถาบันการเงินของรัฐ โดยหนี้ก้อนใหญ่สุดอยู่กับ ธ.ก.ส. ใช้ไปกับการประกันรายได้เกษตรกรในรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ถึงขั้นต้องขยายเพดานชั่วคราว จากเดิม 30% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ขยับไปเป็น 35% ในปี 2564 และขยับลงมาที่ 32% ในปี 2565

และอย่าลืมว่า ปัจจุบันรัฐบาลก็ยังค้างชำระหนี้ จำนำข้าว จากสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อยู่กว่า 1 แสนล้านบาทด้วย

มากไปกว่านั้น ยังมีมรดกจากรัฐบาลที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน นั่นคือ หนี้สาธารณะที่ช่วงก่อนมีโควิด-19 รัฐบาลกดดันตัวเองไว้ในกรอบการก่อหนี้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี แต่เมื่อโควิดถาโถมต่อเนื่อง ปี 2565 รัฐบาลก็ขยายเพดานหนี้สาธารณะ เป็น 70% ต่อจีดีพี เป็นเวลา 10 ปี

และล่าสุด เดือนสิงหาคม หนี้สาธารณะอยู่ที่ 61.76% ต่อจีดีพี โดยมีมูลหนี้กว่า 11 ล้านล้านบาท

พร้อมกันนี้ รัฐบาลเศรษฐาเองได้รื้องบประมาณปี 2567 ใหม่ ซึ่งได้เพิ่มกรอบเป็น 3.48 ล้านล้านบาท จากเดิมที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ วางไว้ 3.35 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มขึ้น 1.3 แสนล้านบาท มาจากประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้น 3 หมื่นล้านบาท และอีกส่วน 1 แสนล้านบาท จะมาจากการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6.93 แสนล้านบาท จากเดิมวางไว้ที่ 5.93 แสนล้านบาท

ซึ่งดูแล้วไม่สอดคล้องกับแผนการคลังระยะกลางที่ต้องการลดการขาดดุลที่เคยนำเสนอไปก่อนตั้งรัฐบาลเศรษฐา

 

จากที่กล่าวมาหลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องของรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริงนั้น หนี้แต่ละก้อนที่รัฐบาลทุกยุคสมัยก่อให้เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นภาระภาษีที่คนไทยทุกคนต้องแบก และยังส่งต่อไปถึงคนรุ่นใหม่ต่อๆไปอีกนับสิบๆ ปี

ดังนั้น การก่อหนี้รัฐบาลต้องเป็นสิ่งที่ควรสร้างประโยชน์แท้จริงให้กับประเทศชาติ

รวมถึงการที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีการก่อหนี้สูง ก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพและการลงทุนจากต่างประเทศด้วย ประเทศที่มีหนี้สูง ก็เหมือนคนเรา ที่มีหนี้พอกพูน จนอาจจะถึงขั้นชักหน้าไม่ถึงหลัง รายได้ไม่พอจ่าย ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารไปพร้อมกันด้วย คือการเพิ่มจีดีพี การหารายได้เพิ่มโดยเฉพาะการเก็บภาษี

แม้ว่าเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาล โดยนายเศรษฐา และกระทรวงการคลัง จะร้อนรน รีบจัดแถลงข่าวยืนยันว่าไม่มีการเก็บภาษีหุ้นแต่อย่างใด หลังเกิดกระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะเรียกเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น

จุดจบของการพักหนี้ และการใช้เงินแจกของรัฐบาล จะแฮปปี้เอนดิ้ง ได้ตามที่รัฐบาลหวังหรือไม่ ต้องรอดูกัน