เหรียญปั๊มรูปเหมือน รุ่นแรก-หลวงพ่อขัน วัดสระตะโก จ.ราชบุรี

“หลวงพ่อขัน พุทธญาโณ” หรือพระอธิการขัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ต.หนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี พระเกจิชื่อดังราชบุรี

สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลและเครื่องรางไว้หลายชนิด แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือ พระพรหมสามหน้า

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ เหรียญปั๊มรูปเหมือน

รุ่นแรก ออกที่วัดสระตะโก สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2505 หลังจากมรณภาพลงแล้ว เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างเสนาสนะ

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว จัดสร้างโดยหลวงพ่อหัน เจ้าอาวาสรูปถัดมา เนื้อทองแดงรมดำและเนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิล จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนนั่งขัดสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มือซ้ายถือตาลปัตร ล้อมรอบด้วยอักขระยันต์อ่านได้ว่า นะ มะ พะ ทะ ใต้รูปเหมือน เขียนคำว่า “หลวงพ่อขัน”

ด้านหลัง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อหันครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า มะ อะ อุ มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “พระครูหัน วัดสระตะโก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี”

กล่าวได้ว่า พระเครื่องหลวงพ่อขันล้วนมีประสบการณ์ด้านคลาดแคล้วปลอดภัย เป็นที่นิยม ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

เหรียญหลวงพ่อขัน วัดสระตะโก พ.ศ.2505

มีนามเดิมว่า ขัน พื้นเพเป็นคนราชบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.2409 ที่บ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

บิดาชื่อนายจัน (หลวงพ่อจัน จันทโชติ ภายหลังอุปสมบทและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์) มารดาชื่อนางนา

มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ทั้งสิ้น 10 คน เป็นบุตรคนที่ 4

พ.ศ.2430 มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ จึงเข้าอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบ้านสิงห์ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีพระอธิการจัน วัดบ้านสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธญาโณ

จำพรรษาร่ำเรียนวิชากับพระอธิการจัน ผู้เป็นบิดา ซึ่งในแต่ละปีนั้น จะเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรียนวิชากับพระเกจิอาจารย์หลายรูป และบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากัมมัฏฐาน

จนราวปี พ.ศ.2450 เดินทางไปที่บ้านสระตะโก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เห็นว่าเป็นสถานที่ร่มรื่นและเงียบสงบเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม จึงได้ปักกลดพำนักอยู่ ชาวบ้านเกิดความศรัทธาในจริยวัตรจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา และสร้างวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2453 โดยชื่อวัดตั้งตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดสระตะโก

มีพระครูหัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสระตะโก ซึ่งขณะนั้นบวชได้ 2-3 พรรษา มาช่วยสร้างวัดและช่วยสอนหนังสือชาวบ้านอีกด้วย จนวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2470

จนเมื่อสร้างวัดเสร็จชาวบ้านจึงนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสระตะโก รูปแรกของวัด หลังจากสร้างวัดเสร็จ ก็พัฒนาเรื่อยมาจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้วจึงได้เดินทางธุดงค์อีกครั้ง

หลวงพ่อขัน พุทธญาโณ

ต่อมา หลวงพ่อจัน ถึงกาลมรณภาพลง ไม่มีผู้ใดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ ชาวบ้านสิงห์จึงตามหาหลวงพ่อขัน ซึ่งขณะนั้นธุดงค์ไปในแถบเมืองย่างกุ้งและเขตชายแดนไทย-พม่าอยู่เสมอ จนได้พบในที่สุด จากนั้นจึงพร้อมใจกันอาราธนาให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา

ครั้นเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านสิงห์ พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ทั้งการสร้างศาลาการเปรียญสถาปัตยกรรมไทยโบราณหลังใหญ่ ที่มีความสวยงามวิจิตรพิสดาร ซึ่งแสดงถึงความวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนชาวบ้านสิงห์ในสมัยนั้น โดยได้ไปนำไม้จากป่าใหญ่ในเขตจังหวัดราชบุรี นำเทียมโคลากเกวียนมาสร้างจนสำเร็จดังที่เห็นจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังซ่อมแซมวิหารหลังเก่า สร้างเจดีย์หมู่ไม้สิบสอง เพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษชาวบ้านสิงห์รุ่นก่อนหน้านี้คงจะได้เห็นความงามของศิลปะในสมัยนั้น อีกทั้งท่านยังสร้างกุฏิสามหมู่ สร้างกุฏิสิบ สร้างถนน (ห้องสุขาพระ) แม้บัดนี้ได้รื้อไปแล้ว ยังคงเหลือแต่ความทรงจำแล้วก็ตาม

มิได้สร้างและพัฒนาแต่เพียงแค่วัดสระตะโกกับวัดบ้านสิงห์เท่านั้น ยังได้สร้างเสนาสนะ-วัดวาอาราม ไว้ตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ วัดขุนไทยธาราราม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี, วัดยางหัก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และสร้างวัดในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า อีก 1-2 วัด

พ.ศ.2481 เมื่อออกพรรษาแล้ว จะต้องเดินธุดงค์ไปนมัสการพระธาตุในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ดังเช่นเคยได้ปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี ครั้นเมื่อเดินทางมาถึงเขต อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี บริเวณพื้นที่ท่าขนุน ก็เกิดอาการอาพาธด้วยโรคไข้ป่า

อาการรุนแรง ถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ.2481 สิริอายุ 72 ปี พรรษา 51 •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]