จันทน์ (1)

ญาดา อารัมภีร

‘จันทน์’ เป็นไม้ชั้นสูงมีกลิ่นหอม มากด้วยคุณค่าและราคา จัดเป็นไม้หายาก ดังปรากฏใน “โคลงโลกนิติ” ว่า

“ป่าหลวงหลายโยชน์พร้อม พฤกษา

หาแก่นจันทน์กฤษณา ยากไซร้

ฝูงคนเกิดมีมา เหลือแหล่

หาปราชญ์ฤๅจักได้ ยากแท้ควรสงวน ฯ”

ผืนป่ากว้างใหญ่ไพศาลยากจะหาแก่นไม้หอมของต้นจันทน์และกฤษณาได้ฉันใด ท่ามกลางผู้คนมากหลายก็หาปราชญ์หรือผู้รู้ได้ยากฉันนั้น ทั้งแก่นไม้หอมและนักปราชญ์ล้วนล้ำค่า มีไม่มากและหาได้ยากยิ่ง

ความหอมของไม้จันทน์ แม้แห้งแล้วก็ยังรักษากลิ่นหอมไว้ ดังที่ “โคลงโลกนิติ” มีข้อความว่า

“จันทน์แห้งกลิ่นห่อนได้ ดรธาน”

 

ด้วยคุณสมบัตินี้น่าจะมีส่วนให้คนไทยสมัยก่อนนิยมนำมาทำเครื่องใช้หลายอย่าง ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” พลายแก้วพยายามปรนนิบัติให้นางพิมพิลาไลยหลับเสียที จะได้เข้าหาพี่เลี้ยงของนาง

“พลางคลี่พัดจันทน์ออกพัดให้ สบายใจหลับบ้างเถิดพิมเอ๋ย

จนดึกดื่นป่านนี้มิหลับเลย พลางชมเชยลูบไล้ให้หลับลง”

นอกจากนี้ บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงผู้คนมาเที่ยวชมมหรสพพิธีอภิเษกบุษบากับจรกาว่า

“บ้างแบกม้ามานั่งดูละคร แดดร้อนก็กางร่มกั้น

สาวสาวไม่มีผัวตัวสำคัญ ถือพัดด้ามจิ้วจันทน์กรีดกราย”

‘พัดจันทน์’ หรือ ‘พัดด้ามจิ้วจันทน์’ ถ้าใครเคยชมโขนละครคงพอนึกออก เป็นพัดขนาดเล็กที่คลี่ออกและพับเข้าได้ นิยมทำด้วยไม้จันทน์เป็นซี่ๆ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ โชยมาเวลาพัด ซี่พัดฉลุเป็นลวดลาย ด้ามพัดจะมีพู่หรือไม่มีก็ได้

น่าสังเกตว่าพัดนี้ใช้ได้ทั้งชายหญิง บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” (ฉบับรัชกาลที่ 2) ตอนทศกัณฐ์ลงสวน ก่อนไปจีบสาวต้อง ‘จัดเต็ม’ ให้งามหรูดูดี หลังจากทั้งอาบทั้งทาน้ำหอมแล้วก็บรรจงผัดหน้าหวีผมหน้ากระจก ต่อจากนั้น

“ทรงภูษาผ้าต้นพื้นตอง เขียนทองเรืองอร่ามงามหนักหนา

คาดเข็มขัดรัดองค์อลงการ์ ประดับพลอยถมยาราชาวดี

คล้องพระศอสีดอกคำร่ำอบ หอมตระหลบอบองค์ยักษี

ใส่แหวนเพชรเม็ดแตงแต่งเต็มที่ จะไปอวดมั่งมีนางสีดา”

ที่ขาดไม่ได้คือ

“ถือพัดด้ามจิ้วจันทน์บรรจง พวงมาลัยใส่ทรงพระกรขวา

แล้วลงจากปราสาทยาตรา ขึ้นทรงรัถาคลาไคล”

 

นอกจากของใช้เล็กๆ เช่น พัด สมัยก่อนนิยมใช้ไม้จันทน์สร้างบุษบก พระตำหนัก พระที่นั่ง ฯลฯ ดังที่ “รามเกียรติ์” (ฉบับรัชกาลที่ 1) เล่าถึงพิเภกสั่งสองเสนายักษ์ไปทูลข่าวให้พระมเหสีทศกัณฐ์ทรงทราบ

“ว่าองค์ท้าวยี่สิบกร ภูธรสุดสิ้นชีวัน

ให้นางมารับพระศพ พระจอมภพธิราชรังสรรค์

เข้าไปพระนิเวศน์วังจันทน์ ให้ทันแต่ในเวลานี้”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประทานพระดำริไว้ใน “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 2 ว่า

“บุษบกไม้จันทน์นั้น ฉันทราบแน่แต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชชกาลที่ ๔ ทรงสร้าง แต่จะสร้างตั้งอะไร ตั้งไว้ที่ไหน ดูเหมือนจะเปนที่พุทธมณเฑียร เหล่านี้ความรู้ฉันเลือนเต็มที … ฯลฯ … ในการที่ทรงสร้าง บุษบกไม้จันทน์ นั้น คิดว่าน่าจะเปนพระราชดำริ เทียบด้วยคำ วิมานจันทน์ ตำหนักจันทน์ พระเสาวคนธกุฎี แต่ก่อนนี้เราทำเรือนกันด้วยไม้ทั้งนั้น จะเปนว่าบ้านคนสามัญทำด้วยไม้สัพเพเหระ แต่พระตำหนักพระที่นั่งทำด้วยไม้ดีๆ คือ ไม้หอม” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘จันทน์’ เป็นไม้เก่าแก่ วรรณคดีสมัยสุโขทัย เรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า อิตถีรัตนะ หรือนางแก้วของพระญามหาจักรพรรดิราชมีกลิ่นกายหอมยิ่งนัก โดยเปรียบกับแก่นของไม้หอม เช่น จันทน์ และกฤษณา

“ตัวนางแก้วนั้นหอมดั่งแก่นจันทน์กฤษณาอันบดแล้วแลปรุงลงด้วยคันธารสอันหอมทั้ง ๔ ประการ แลหอมฟุ้งอยู่นักหนาทุกเมื่อแล”

 

ยิ่งไปกว่านั้นเอกสารของชาวต่างประเทศบันทึกว่า สมัยกรุงศรีอยุธยามีไม้หอมหลายชนิด หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ไม้จันทน์ ดังจะเห็นได้จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” ที่นายปอล เซเวียร์ แปลจาก “Histoire du Royaume de Siam” ของนายฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2530)

“ต้นจันทน์ (sandale) เป็นต้นไม้ที่มีเนื้อไม้หอมด้วย แต่เป็นต้นไม้ที่หาได้ง่ายกว่าสองชนิดแรก ต้นจันทน์มีสองชนิด ชนิดขาวมีอยู่บนเกาะตีมอร์มาก และชนิดแดงซึ่งเป็นของหายากกว่าชนิดขาวมาก มีอยู่ในประเทศสยาม ชาวสยามใช้ต้นจันทน์ทำประโยชน์หลายประการ เช่น เผาเป็นแผ่นเล็กๆ ให้เกิดมีกลิ่นหอม ใช้ฝนกับน้ำบนหินทำให้แป้งมีกลิ่นหอมเพื่อทาถูร่างกายเมื่ออาบน้ำแล้ว และยังใช้เผาข้างศพผู้ตายด้วย”

‘จันทน์’ สัมพันธ์กับ ‘งานศพ’ อย่างไร

ฉบับหน้ามาคุยต่อ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร