เกาะแกร์-วรรมัน : คุณค่า ‘ไฉน’ ในผู้นำเขมร?

อภิญญา ตะวันออก

ปมเหตุคือ “ศรีเทพ” อาณาจักรโบราณสมัยทวารวดีที่ถูกค้นพบและได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (unesco) ของไทย

ในเวลาเดียวกัน “เกาะแกร์” ปราสาทหินก่อนสมัยเมืองพระนครของกัมพูชาก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเช่นกัน

ช่างบังเอิญที่ระยะหลัง 2 ประเทศไทย-เขมร อย่างไม่มีใครยอมใคร โดยเฉพาะสังคมชาวเน็ตที่มักจะอวดความภาคภูมิใจใส่กันอย่างไม่มีใครยอมใครในเรื่องวัฒนธรรมในต่างกรรมต่างวาระ จนเป็นเหมือนเครื่องมือการบำบัดทางอารมณ์พลเมือง 2 ประเทศนี้ไปแล้ว

รอบนี้ “ศรีเทพ-เกาะแกร์” ดูเหมือนจะถูกข่มกันเรื่องความเก่าแก่ของอารยธรรม และนี่คือ Soft Power  : อำนาจแฝงที่กำลังกลายเป็นเครื่องมือแห่งการสร้างมูลค่าไม่ว่าเศรษฐกิจหรือการเมือง มันคืออำนาจซ่อนเร้นที่พึงช่วงชิงเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้นำบางฝ่ายและที่ร้ายกาจกว่านั้น

นี่คือ เกมกลแห่งการเล่นแร่แปรธาตุของฝ่ายผู้คุมอำนาจทางการเมือง!

สมเด็จฮุน เซน อัครมหาเสนาบดีนั้น ได้ชื่อว่าชำนาญในการใช้กลวิธีนี้ จึงดีใจมากที่เกาะแกร์ได้ถูกยกเป็นมรดกโลกในยุคของตน นี่ไม่ใช่หนแรกของการได้มาซึ่งมรดกโลกที่สร้างมูลค่าทางการเมืองแก่ฝ่ายตน แต่มันเป็นหนพิเศษและพิสดารอีกด้วย

สิ่งที่ “บ่งบอก” ให้เรารอบรู้ ถึงความหลงใหลอารยธรรมขอมอันยิ่งใหญ่ที่ฝังอยู่ในผู้นำเขมรปัจจุบันมีมาให้เห็นจากนัยยะของคำว่า “วรรมัน” อย่างเห็นได้

พระบาทสมเด็จนโรดม สีหนุ นั้น ก็เคยเป็นหนึ่งใน “สมการ” นี้ พระองค์ปรารถนาจะใช้คำว่า “วรรมัน” ต่อท้ายพระนามสมัยยังทรงพระชนม์ นี่คือบริบทปรารถนาต่อ “วรรมัน” กษัตริย์ขอมผู้ยิ่งใหญ่ และพระองค์คือหนึ่งในนั้น

กระนั้น คุณค่าสมมุติเทพของพระองค์ก็มักจะถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ ตราบที่พระองค์ยังเล่นการเมือง หรือในขณะที่ประเทศยังมีแต่ความวุ่นวาย ในที่สุด “พระบาทนโรดม สีหนุวรรมัน” ก็ถูกผู้คนหลงลืมใน “นิมิตรูป” (เทพนิมิต) ของผู้ทรงอำนาจที่พยายามสร้างไว้ แต่แล้วพระนามที่ทรงได้รับการเรียกขานสุดท้ายคือ

“สมเด็จพระบรมรัตนโกศ” พระนามหลังเสด็จสิ้นพระชนม์

และนี่คือตัวอย่าง “รมเงีย” (สมัญญานาม/บรรดาศักดิ์ต่างๆ) ที่เฟื่องฟูหนักมากยุคพ่อลูกสมเด็จ : ฮุน เซน-ฮุน มาแนต

ดังนั้น การสร้างเส้นสมมุติในสมมุติเทพแบบเขมร จึงยังมีอยู่อย่างเหลือโดยเฉพาะ เมื่อผู้นำของพวกเขาพยายามจะผูกโยงมันไว้กับอาณาจักรโบราณที่สร้างความสำเร็จยุคเมืองพระนคร-องกอร์ “วรรมัน”

หรือแม้แต่ล่าสุด ยุค “เกาะแกร์” นั่นเองที่รัฐบาลเขมรฉลองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกรอบนี้อย่างเป็นพิเศษ

ย้อนไปเมษายนที่ผ่านมา ตอนสมเด็จฮุน เซน และสมเด็จภริยาไปร่วมพิธีสงกรานต์องกอร์ที่เสียมเรียบ นั่นคือ การทำพิธี “ด็องแฮ” ชุด “มหาภารตยุทธ์” นั่นคือ รูปปั้นสลักประติมากรรมลอยตัวอายุพันปีสมัยเกาะแกร์ ที่ได้คืนจากสหรัฐหลายปีก่อน ออกมาเคลื่อนขบวนแห่เฉลิมฉลองต่อหน้าสมเด็จ

ต้องย้อนให้ฟังว่า ยุค “เกาะแกร์” นี้เอง ที่มี “พระบาทชัยวรรมันที่ 4” เป็นตัวเปิดความสลักสำคัญในประวัติศาสตร์ก่อนสมัยเมืองพระนคร แต่หลังยุค “สมโบร์ไพรกุก” ซึ่งถือเป็นยุคเดียวกับอาณาจักรอิสานปุระ โดยพระบาทอิสานวรรมันที่ 1 ซึ่งร่วมสมัยกับศรีเทพและอาณาจักรศรีเกษตรในเมืองพม่า

สมโบร์ไพรกุก (คริสต์ศตวรรษที่ 7) มาก่อน เกาะแกร์ (คริสต์ศตวรรษที่ 9) แต่เมื่อได้รับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก ขณะนั้น ผู้นำเขมรยังไม่มีแนวคิดนำอำนาจแฝงมาใช้ในสมโบร์ไพรกุก กระทั่งเกาะแกร์ครั้งนี้ พลัน ความพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ภาคพิสดารเชื่อมโยงกับพระบาทชัยวรรมันที่ 4 ผู้ซึ่งสถาปนาตนขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่หลังสิ้นยุคพระบาทอิสานวรรมันที่ 2 ไปแล้ว

รัฐบาลเขมรได้เฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของเกาะแกร์ ผ่านการสรรเสริญพระบาทชัยวรรมันที่ 4 ในรูปละครโบราณถึงนครลึงก์ปุระ/Lingapura หรือเกาะแห่ง “โชคคญี” (Chok Gargyar) อันโอฬาร ซึ่งก็คือที่ตั้งเมืองเกาะแกร์ทางตอนเหนือเสียมเรียบปัจจุบันนั่นเอง

ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือกล่าวถึง พระบาทชัยวรรมันที่ 4 ว่ามีประวัติการสร้างบ้านแปงเมืองไม่ต่างจากสมเด็จเตโซฮุน เซน ผู้นำเขมรยุคสุดท้ายเพลานี้

ต่อการที่พระบาทชัยวรรมันที่ 4 ปราบดาตนขึ้นเป็นกษัตริย์ และก่อสร้างปราสาทหรือเมืองจนเป็นที่ยอมรับ กระทั่งสิ้นสุดยุคพระบาทอิสานวรรมันที่ 2 และต่อจากนั้น อิสานปุระยุคใหม่ของชัยวรรมันที่ 4 ก็ถือกำเนิดขึ้น

นี่คือปมเหตุที่ว่า ทำไมผู้นำท่านนี้ จึงมีความพ้องในบุญญาบารมีที่เกี่ยวโยงกับกษัตริย์ขอมในอดีตองค์นั้น นั่นคือ ชัยวรรมันที่ 4 ที่เถลิงอำนาจเคียงคู่มากับยุคแห่งความรุ่งรางของ “โชคคญี”

เกาะแห่งความสำเร็จ ตามแบบฉบับสมเด็จเตโชฮุน เซน

สมเด็จฮุน เซน เป็นผู้มีรายละเอียดชีวิตที่พิสดาร จึงไม่ประหลาดอะไร หากจะมีการสร้างนิมิตรูปแบบสมมุติเทพให้แก่เขา ดังที่ทราบ ตามภาพยนตร์เอกสารที่เล่าไว้ เขาถือกำเนิดในวันเพ็ญเดือนแปดซึ่งเป็นวันที่ชาวกัมพูชาถือว่าผู้มีบุญญามาเกิด

ไม่แต่เท่านั้น ในวัยเพียง 14 ปี เขายังเปลี่ยนนามตนเองเป็นฤทธิเสน ตามนิทานปรัมปราเรื่องพระเจ้ารถเสน ไม่เท่านั้น เรื่องราวของพระบาทชัยวรรมันที่ 4 ตามตำนานอิสานปุระยุคที่ 2 ก็เป็นอีกตำนานหนึ่งซึ่งมาจากความสำเร็จที่เขาปกครองบ้านเมือง ไม่ต่างจากเหล่านักปกครองวรรมันคนใดในอดีต

อาทิ ชัยวรรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนครทม เป็นต้น

แต่สำหรับเกาะแกร์นี้ ยังมีเรื่องพิสดารอื่นๆ ที่พาลให้นึกย้อนไปราว 26 ปีก่อน ตอนกลางปี ค.ศ.1997 ที่เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการปราบศัตรูกลางกรุงพนมเปญ รุ่งสางอีกวันหนึ่ง บุรุษกร้าวผู้นำเขมรท่านนี้ ก็สั่งเก็บภาพปั้นศิลปกรรมรูป “ชุดมหาภารตยุทธ์” หรือ “วานร-ยักษ์ที่ตั้งอยู่ “วงมูล” ถนนตนเลบาสัก

มีข่าวลือกันว่า รูปปั้นเหล่านี้ ได้ถูกขนย้ายนำไปทิ้งกลางแม่น้ำ ตามความเชื่อฝ่ายผู้พิชิต เพื่อทำลายรูปนิมิต “ธรรมะกับอธรรม” ซึ่งเป็นขั้วอริกันขณะนั้น คือระหว่างอำนาจใหม่-ฟุนซินเปกกับระบอบฮุนเซนกลุ่มอำนาจเดิม

ทว่า การทำลายศิลปกรรมรูปปั้น “มหาภารตยุทธ์” ยุคเกาะแกร์ครั้งนั้น บ่งบอกถึง “ความเชื่อ” เรื่องพิธีกรรมเฉพาะตนของฮุน เซน? ซึ่งมีมาจนถึงบัดนี้

กรณีที่ “เกาะแกร์” ได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลก และความสำเร็จนั้นก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาในรูปซอฟต์เพาเวอร์เพื่อเติมเต็มภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำ!

ความชำนาญของผู้นำคนนี้ ใช่แต่ทางการเมืองเชิงอำนาจแข็งเท่านั้น เขายังหยิบใช้อำนาจอ่อนอย่างบ่อยครั้งทั้งจากเพื่อนบ้านเชิงพาณิชย์ และจากยุคอดีตศาสตร์ของตนอีกด้วย

ไม่มีคำใดจะอธิบายเรื่องนี้

Chasing-Aphrodite

สําหรับคำอธิบายที่ซับซ้อนไปด้วยการเชื่อมโยงแบบนั้น ตั้งแต่รากเหง้าวรรมันของกษัตริย์เขมรโบราณ จากเมืองพระนคร ถึงเกาะแกร์และอิสานปุระ?

ด้วยความทะเยอทะยานที่ไม่อาจสิ้นสุดของผู้นำบางยุค

ในที่สุด เราก็เริ่มไม่แน่ใจว่า อะไรคือคุณค่าอันโดดเด่นและเป็นสากลของกัมพูชา?

ไม่ว่าจะ “การเมืองหรือประวัติศาสตร์”? ยิ่งนานวันเข้า เราก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมเราจึงไร้ศักยภาพในองค์ความรู้แบบกัมพูชาซึ่งนับวันมีแต่

“ยากจะทำความเข้าใจ และไปให้ถึง…คุณค่าอันโดดเด่นนั้น”

Wikipedia
Chasing-Aphrodite