14 ตุลาฯ กับทหาร (1) รำลึก 50 ปีแห่งการลุกขึ้นสู้

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

14 ตุลาฯ กับทหาร (1)

รำลึก 50 ปีแห่งการลุกขึ้นสู้

 

“ปี 2516 เป็นปีที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตการปฏิบัติราชการของผม นับตั้งแต่ต้นปีก็มีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับรัฐบาลเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า…”

จอมพลถนอม กิตติขจร

บันทึกจากใจ (2532)

 

หากย้อนเวลากลับไปก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ใครเลยจะคิดว่าจะเกิดเหตุใหญ่และสำคัญในช่วงเวลาเช่นนี้… ใครเลยจะเชื่อว่า รัฐบาลทหารที่กุมอำนาจมาอย่างยาวนานในการเมืองไทยจะเดินมาถึงจุดจบในช่วงเวลาดังกล่าว

จนบางครั้งเคยคิดเล่นๆ ว่า ถ้าผมมีโอกาสได้พบกับจอมพลถนอมสักครั้งแล้ว คำถามหนึ่งที่อยากถามคือ ท่านคิดไหมว่ารัฐบาลจะเผชิญกับการชุมนุมขนาดใหญ่อย่างที่เราไม่เคยเห็นในสังคมไทยมาก่อน หรือบางครั้งอยากสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารและตำรวจสันติบาลว่า พวกเขาประเมินสถานการณ์ไหมว่า การจับกุมกลุ่มผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญในตอนต้นเดือนตุลาคม 2516 นั้น จะเป็นชนวนที่นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ จนนำไปสู่การล้มรัฐบาลในเวลาต่อมา

บางทีอดคิดแบบไทยๆ ไม่ได้ว่า ในตอนต้นปีนั้น จอมพลถนอมหรือผู้นำทหารที่เป็น “คู่บารมี” ของท่านโดยตรงอย่างจอมพลประภาส จารุเสถียร หรือแม้กระทั่งบุตรชายของท่านอย่าง พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เคยถูก “หมอดู” หรือบรรดา “โหรทหาร” ทักไหมว่า ปี 2516 อาจจะมีอาการ “ดวงตกหนัก” จนต้องถึงขนาดพลัดพรากจากถิ่นฐานเดิม

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะผู้นำทหารกับโหราศาสตร์เป็นของคู่กัน จึงทำให้อดคิดเล่นๆ เช่นนี้ไม่ได้

 

เกินความคาดหมาย!

ว่าที่จริงเราคงพอคาดเดาในขณะนั้นได้ว่า คงไม่มีใครคาดคิด หรือมีการประเมินสถานการณ์ความมั่นคงภายในว่า รัฐบาลจะเผชิญกับ “วิกฤตใหญ่” ทางการเมือง เพราะการล้มรัฐบาลทหารโดยพลังมวลชนบนถนนในการเมืองไทยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เนื่องจากในประวัติศาสตร์นั้น มีแต่ทหารเท่านั้นที่สามารถล้มทหารด้วยกันเองได้ เช่น กบฏแมนฮัตตัน ที่เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่างทหารบกกับทหารเรือในเดือนมิถุนายน 2494 หรือถอยกลับไปก่อนหน้านั้น การโค่นระบอบพิบูลสงครามในการคว่ำญัตติในรัฐสภาของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี 2487 ก็เป็นผลจากความแตกแยกของกลุ่มทหารในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังเห็นถึงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการยึดอำนาจในปี 2490 เป็นต้นมา จนแทบไม่มีพื้นที่เหลือให้แก่ “การเมืองภาคพลเรือน” (civil politics) ในสังคมไทย อันเป็นสัญญาณในตัวเองว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทหาร” และพลเรือนหรือในความหมายคือประชาชนถูกลดฐานะให้เป็น “ผู้ดู” และไม่ใช่ผู้ที่มีสิทธิ์มีเสียงในทางการเมือง

ดังนั้น จินตนาการของ “การพังทลายของรัฐบาลทหาร” เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยอย่างแน่นอน จนเป็นดังภาพลักษณ์ว่า “การเมืองไทยเป็นการเมืองของทหาร” หรือกล่าวในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า สังคมพลเรือนหรือที่เรียกกันว่า “ประชาสังคม” (civil society) ของไทยนั้น อ่อนแอมาก จนไม่มีพลังที่จะต้านทานการมีบทบาททางการเมืองของทหาร ไม่ใช่เพียงเพราะทหารเป็น “กลุ่มติดอาวุธ” ในเวทีการเมืองของประเทศเท่านั้น ทั้งยังมีนัยถึงความอ่อนแอของสถาบันการเมืองพลเรือนที่ไม่อาจสร้างพลังเพื่อ “คาน” กับอำนาจของกองทัพในการเมืองไทยได้เลย

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ใครเลยจะคิดว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จะเกิดขึ้นได้จริง… ใครเลยจะคิดต่อว่า 14 ตุลาฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะเป็นจุดเปลี่ยนของทหารกับการเมืองไทย เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ต้องยอมรับว่า “ยิ่งใหญ่” ทางการเมือง จนเกินกว่าหน่วยข่าวกรองทหารจะประเมินได้

หรือแม้แต่ผู้นำนิสิต นักศึกษาที่เปิดการเคลื่อนไหว ก็ไม่ได้คาดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในระดับขนาดนี้มาก่อน จนอาจต้องถือว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือ “Political Shock” คือเป็นอาการ “ช็อกทางการเมือง” ในแบบที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำ หรือผู้นำทหารเอง ก็ไม่คาดมาก่อนเช่นกัน

 

เป็นไปได้อย่างไรที่นิสิต นักศึกษา และประชาชนเป็น “เรือนแสน” จะก่อการชุมนุมลงถนนประท้วงรัฐบาลทหาร เพราะโดยทฤษฎีทางสังคมวิทยาแล้ว คนไทยมีลักษณะ “passive” ทางการเมือง ไม่ใช่สังคมที่คนจะกระตือรือร้นทางการเมือง และพร้อมที่จะออกจากบ้านไปร่วมประท้วงรัฐบาลแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้ว่าจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีรัฐประหาร 2490 เป็นหมุดหมายที่สำคัญ จนถึงปี 2516 นั้น แทบจะไม่เคยเห็นการต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะในช่วงเวลานั้น เสียงต่อต้านรัฐบาลมีเพียงอย่างมากคือ บทวิพากษ์วิจารณ์อย่าง “แสบๆ คันๆ” เช่น บทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยเฉพาะบทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ดูจะถูกใจบรรดาปัญญาชนเสรีนิยมอย่างมาก จนกล่าวกันในยุคนั้นว่า ใครไม่ชอบรัฐบาล ใครต่อต้านจอมพลถนอม ต้องอ่านสยามรัฐ และทำให้สยามรัฐ ดูจะเป็นหนังสือพิมพ์ของฝ่ายก้าวหน้าที่เป็นพวกต่อต้านรัฐบาลไปโดยปริยาย แม้หลายคนจะวิจารณ์ว่า สยามรัฐโดยพื้นฐานแล้วเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมก็ตาม

ยิ่งถ้าคิดว่านักศึกษาและประชาชนที่กล้าเอา “มือเปล่า” ต่อสู้กับหน่วยทหารที่มีอาวุธครบออกมาควบคุมสถานการณ์บนถนนนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้ามีการปะทะกันจริงในประวัติศาสตร์การเมืองแล้ว ทุกคนมักจะนึกถึงการต่อสู้ระหว่างกำลังติดอาวุธของ “กองทัพเรือ vs กองทัพบก” ในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน แต่นักศึกษา ประชาชนที่ไม่มีอาวุธ ถึงขนาดกล้าเผชิญแม้กระทั่งกับรถถังบนถนนราชดำเนิน

 

จุดเปลี่ยน

ถ้าลองถอยเวลากลับไปก่อน 14 ตุลาคม 2516 แล้ว เหตุการณ์ที่เป็น “จุดตกต่ำ” อย่างมีนัยสำคัญของจอมพลถนอมและคณะ คงต้องถือว่ารัฐประหาร 2514 เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ เนื่องจากจอมพลถนอมในฐานะผู้นำรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีพรรคสหประชาไทย ซึ่งเป็น “พรรคทหาร” ที่เป็นแกนนำนั้น เดินไปในทิศทางที่ต้องการได้ เพราะเกิดปัญหาทั้งในรัฐบาลเอง

ปัญหาการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม (ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ที่กระทบต่อผู้นำทหารอีกส่วนในกองทัพ ปัญหาการไม่ต่ออายุราชการ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ (ตำแหน่งอธิการบดีกรมตำรวจ) อีกทั้งการขยายบทบาททางการเมืองของทายาทจอมพลถนอมคือ พ.อ.ณรงค์ ที่ทำให้ทหารบางส่วนไม่พอใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาความปั่นป่วนในสภาจากข้อเรียกร้องของ ส.ส. ในเรื่องของ “งบฯ พัฒนาจังหวัด” จนเกิดภาวะที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเมืองได้

สถานการณ์เช่นนี้กลายเป็นแรงบีบให้จอมพลถนอมต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่า ในมุมมองของผู้นำทหารแล้ว การยุบสภาเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่นั้น ไม่น่าจะเป็นข้อพิจารณาที่ดี เพราะหากพรรครัฐบาลชนะ ก็จะประสบปัญหาในรัฐสภาไม่แตกต่างจากเดิม… เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางเลือกในข้อพิจารณาจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ การแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยมาตรการทางทหาร ซึ่งก็คือการประกาศยึดอำนาจด้วยกำลังทหารเพื่อล้มรัฐบาลเดิม

แต่ดูเหมือนจะเป็น “ตลกร้าย” ในทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะรัฐประหารในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 คือการที่ “จอมพลถนอมประกาศรัฐประหารจอมพลถนอม” ซึ่งในกรณีนี้คาดเดาได้ว่า รัฐประหารครั้งนี้ย่อมประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย เนื่องจากเป็นการยึดอำนาจตัวเอง และประกาศล้มรัฐธรรมนูญ อีกทั้งประกาศการห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกระทำการต่อต้านรัฐบาล

ซึ่งการกระทำเช่นนี้ได้กลายเป็นแบบแผนของคณะรัฐประหารในยุคหลัง

 

ฉะนั้น การรัฐประหารตัวเองเช่นนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือและความชอบธรรมของรัฐบาลลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้กลุ่มทหารของจอมพลถนอมจะสามารถกระชับอำนาจด้วยการรัฐประหาร แต่ ส.ส.กลุ่มหนึ่งได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน (ชลบุรี) นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ (พิษณุโลก) นายบุญเกิด หิรัญคำ (ชลบุรี) ยื่นฟ้องจอมพลถนอมกับพวกในการยึดอำนาจ ซึ่งคณะรัฐประหารได้ใช้อำนาจจับกุม… ต้องยอมรับว่าเป็นความกล้าหาญของ ส.ส.ทั้ง 3 ท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่กล้าลุกขึ้นท้าทายกับอำนาจของทหารอย่างไม่เกรงกลัว

จุดตกต่ำสำคัญอีกประการเกิดจากความพยายามของคณะรัฐประหารที่จะใช้อำนาจของความเป็นรัฐบาลในฐานะของ “ฝ่ายบริหาร” แทรกแซงอำนาจของศาลในฐานะของ “ฝ่ายตุลาการ” ด้วยการออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 299 ในเดือนธันวาคม 2515 โดยให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการคัดเลือกกรรมการ ก.ต. ที่เป็นผู้พิพากษา แทนการให้ผู้พิพากษาเลือกกันเอง ซึ่งทั้งหมดนี้คือการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารแทรกแซงฝ่ายตุลาการอย่างชัดเจน อันทำให้มีนัยว่า ฝ่ายบริหารในยุครัฐบาลทหารของจอมพลถนอมใช้อำนาจครอบงำฝ่ายตุลาการอย่างชัดเจน

และประกาศฉบับนี้ถูกเรียกว่า “กฎหมายโบดำ”

 

การประท้วงเริ่มแล้ว

การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม และกลายเป็นชนวนอย่างดีให้แก่การประท้วงของนิสิต นักศึกษา และโดยเฉพาะเกิดการต่อต้านในหมู่ปัญญาชนในสายนิติศาสตร์ และบรรดานักกฎหมายต่างๆ การประท้วงครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และแน่นอนว่า “เกิน 5 คน” อันเป็นข้อกำหนดในการชุมนุมของประกาศคณะรัฐประหาร และการประท้วงครั้งนี้ยังเกิดขึ้นแบบข้ามคืนอีกด้วย จนรัฐบาลต้องยอมยกเลิกประกาศดังกล่าว… การท้าทายต่ออำนาจรัฐของจอมพลถนอมจากนิสิต นักศึกษาเกิดขึ้นแล้ว และไม่มีใครคาดเดาได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นจากการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษาในอนาคต

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการชุมนุมต่อต้าน “ประกาศ 299” เช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดกับการเมืองไทยในอนาคต หรืออาจเรียกได้ว่า เกิดการเห็นเป็นประจักษ์ชัดแล้วว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลด้วยการจัด “ม็อบ” เพื่อระดมมวลชนให้เข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากนั้น จะเป็นหนทางที่จะใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารได้อย่างดี

ดังนั้น แม้คณะรัฐประหารจะประกาศใช้ “ธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร” ในเดือนธันวาคม 2515 ก็เป็นเพียงการยืนยันถึงการมีอำนาจของกลุ่มทหารนั้นเอง แต่ในความรู้สึกของสังคมที่เริ่มไม่ตอบรับกับบทบาทของผู้นำทหารอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ และเมื่อความรู้สึกเช่นนี้ก่อตัว และยกระดับขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะลดทอนได้ ซึ่งหากถูกสะสมมากขึ้น อาจจะกลายเป็น “วิกฤตใหญ่” ทางการเมืองได้ไม่ยาก

ปัญหาคือ จากปลายปี 2515 ต่อเข้าปี 2516 นั้น ผู้นำรัฐบาลอย่างจอมพลถนอม จอมพลประภาส ตลอดรวมถึงฝ่ายอำนวยการที่ต้องทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์มองเห็นปัญหาดังกล่าวเพียงใด!