50 ปี 14 ตุลา อย่าเพิ่งเลิกฝัน

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง | ธงทอง จันทรางศุ

 

50 ปี 14 ตุลา

อย่าเพิ่งเลิกฝัน

 

เมื่อเป็นคนขยันนับจำนวนปีแล้วบอกว่าครบรอบเท่านั้นเท่านี้ ปีพุทธศักราช 2566 นี้ย่อมมีความหมายมากสำหรับผม

เพราะถ้าเอาตัวเลข 50 ปีเข้าไปลบ นั่นหมายความว่าเมื่อครึ่งศตวรรษมาแล้วผมก้าวเดินผ่านชีวิตการเป็นนักเรียนชั้นมัธยมเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ

โดยผมเรียนจบจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน สอบไล่รวมกันทั้งประเทศด้วยข้อสอบของกระทรวงศึกษาธิการในช่วงต้นปี

พอถึงกลางปีคือเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2516 ผมก็เป็นนิสิตปีหนึ่งในคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียแล้ว

บรรยากาศทางการเมืองเวลานั้นสำหรับคนหนุ่มคนสาวและคนอีกจำนวนมากรู้สึกว่าตัวเองถูกกดทับมาเป็นเวลานานด้วยระบบการปกครองของทหารใหญ่ทั้งหลาย

ลองนึกดูผมเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ ผมเกิดในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อนายกฯ ท่านดังกล่าวถูกรัฐประหาร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เมื่อจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน

การเลือกตั้งครั้งแรกที่ผมจำความได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2511 เป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2510 เลือกตั้งแล้วก็ได้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ เหมือนเดิม

เด็ดยิ่งกว่านั้นคือ ในเดือนพฤศจิกายนปี 2514 จอมพลถนอมหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ยึดอำนาจจากจอมพลถนอมนายกรัฐมนตรี

และการเป็นนายกรัฐมนตรีคราวนี้ทำท่าจะ “อยากอยู่ยาว” เสียด้วย

 

ก่อนประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่กี่วัน มี “คดีทุ่งใหญ่นเรศวร” เกิดขึ้น เพราะมีเฮลิคอปเตอร์ไปตกกลางป่าทุ่งใหญ่ มีหลักฐานส่อแสดงว่าเป็นการพากันไปเที่ยวยิงสัตว์ป่าแบบนิยมไพร ขณะที่รัฐบาลแก้เนื้อแก้ตัวเป็นพัลวันบอกว่าเป็น “การไปราชการลับ”

คราวนั้นเองเป็นการประลองกำลังระหว่างนิสิตนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่กับรัฐบาลครั้งสำคัญ

ครั้นผมเข้าไปเป็นนิสิตใหม่ได้เพียงไม่ถึงเดือน ต้นเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันก็มีการชุมนุมของนิสิตนักศึกษาเป็นการใหญ่ เพื่อคัดค้านคำสั่งของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ที่ได้สั่งลบชื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยออกจากทะเบียน พูดง่ายๆ ก็คือไล่ออกนั่นแหละ

เพราะนักศึกษาจำนวนนั้นได้ออกหนังสือพิมพ์ในมหาวิทยาลัย มีข้อความเสียดแทงหัวใจของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง โดยโยงประเด็นเรื่องทุ่งใหญ่นเรศวรและการต่ออายุราชการของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเข้าด้วยกัน

ถัดจากเดือนกรกฎาคมมาอีกไม่นาน เหตุการณ์ที่เรียกว่า 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดขึ้น

 

เมื่ออ่านบทความเรื่องนี้แล้วเหลียวดูปฏิทินที่อยู่บนโต๊ะหรือในโทรศัพท์มือถือ วันเวลาก็จะเตือนบอกเราว่า เหตุการณ์สำคัญทั้งนั้นผ่านไปครบ 50 ปีแล้ว

ผู้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวครั้งนั้น เวลานี้หมดสิทธิที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นคนหนุ่มสาวได้แล้ว

แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราหยุดคิดและตั้งสติให้ดี เราผู้เป็นหนุ่มสาวเมื่อ 50 ปีก่อนย่อมทรงจำได้ว่าเราเคยรู้สึกอย่างไรและปรารถนาจะเห็นบ้านของเราเป็นอย่างไร ไม่เคยลืมเลือน

เป็นปกติใช่ไหมครับ ที่คนในวัยเช่นนั้นต้องอยากเห็นบ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาหลายอย่างที่ทับถมมาช้านานต้องได้รับการแก้ไข ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจนต้องได้รับการดูแลอย่างเอาจริงเอาจัง สิทธิเสรีภาพของผู้คนในประเด็นต่างๆ ต้องเป็นที่ยอมรับและได้รับความคุ้มครองด้วยระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายเช่นนั้น คนหนุ่มสาวรุ่นนั้นต่างใช้ทางเดินหรือทางเลือกที่ตัวเองเห็นว่าดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในเวลาต่อมาไม่นานหลายคนเดินเข้าป่าไปจับอาวุธ หลายคนเดินออกจากป่ามาสู่สนามการเมือง เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี หลายคนเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว

หลายคนไฟในหัวใจก็มอดลงและขออยู่ในฐานะเป็นผู้ชมที่ไม่มีปากมีเสียง แต่เอาใจช่วยและหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของบ้านเมืองอยู่เสมอ

บางคนคิดอะไรไม่ออก ก็เลยมาสอนหนังสือ ฮา!

 

เห็นไหมครับว่า จิตวิญญาณหรือสปิริตของความเป็นคนหนุ่มสาวที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองไปในทางที่ดีขึ้น เป็นของที่มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย

ถ้าคนหนุ่มสาวไม่หวังจะเห็นบ้านเมืองมีอนาคตที่รุ่งเรืองยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นของแปลกเต็มที

ข้อสำคัญคือสังคมโดยรวมที่ประกอบด้วยคนต่างวัยต่างอายุจะทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงเรื่องนี้อย่างไร และจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่คืบคลานเข้ามาอย่างไรด้วย

เมื่อประมาณสองสามสัปดาห์มาแล้ว ผมได้ไปนั่งฟังการสนทนาระหว่างคนต่างวัยจำนวนสามคนที่สำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ดจัดขึ้น ผู้เข้าร่วมการพูดคุยวันนั้น มีคุณหนุ่มเมืองจันท์ คุณทิม พิธา และคุณเอม ภูมิภัทร ทั้งสามท่านเป็นผู้แทนของคนวัยหกสิบเศษ สี่สิบเศษ และยี่สิบเศษ ตามลำดับ

คุณหนุ่มเมืองจันท์บอกว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นเคยผ่านวัยเด็กมาแล้วทั้งสิ้น แต่คนที่เป็นเด็กนั้นยังไม่เคยเป็นผู้ใหญ่

นึกในแง่นี้แล้วคนที่เป็นผู้ใหญ่จึงอยู่ในฐานะที่น่าจะเข้าใจโลกมากกว่าเด็ก และผมเข้าใจเอาเองต่อไปว่าผู้ใหญ่ก็ต้องมีความอดทน อดกลั้นมากกว่าเด็กด้วย

ที่สำคัญคือคุณเอมบอกว่า ทุกครั้งที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน เราต้องไม่ลืมว่า เราผู้ที่มีความเห็นแตกต่างกันนั้น

“ที่จริงแล้วเรารักกันมาก”

 

เมื่อเราไตร่ตรองแล้วก็จะพบว่า ทุกคนบรรดาที่มีความเห็นแตกต่างกันจะมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงแล้วเราก็เป็นคนครอบครัวเดียวกัน เป็นคนร่วมชาติเดียวกัน เป็นคนที่ร่วมความฝันเดียวกัน

ความฝันนั้นเป็นเรื่องสำคัญครับ

ความฝันในที่นี้ผมไม่ได้หมายความถึงความฝันลมๆ แล้งๆ ชนิดที่กินข้าวอิ่มเกินไปจนแน่นท้องแล้วนอนฝันร้ายตอนกลางคืน

แต่ผมหมายถึง “ความฝัน” ที่อยากจะเห็นบ้านเมืองดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ถ้าเราเห็นว่าบ้านเมืองทุกวันนี้เลิศเลอเพอร์เฟ็กต์แล้ว โอกาสที่บ้านของเราจะดีกว่าปัจจุบันเป็นอันมีไม่ได้ ข้อนี้ต้องระมัดระวังและอย่าหลงลืมไปเป็นอันขาด

เป็นหน้าที่ของเราร่วมกันครับที่จะต้อง “สานฝัน” และอย่าไปทำลาย “ความฝัน” ในนิยามที่ว่าของใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนหนุ่มสาวที่เขารักและปรารถนาดีต่อบ้านเมืองไม่แพ้เรา

คนที่ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มา 50 ปีแล้ว อย่าเพิ่งเลิกฝันนะครับ

ความฝันทำให้เรามีความหวัง และความหวังจะทำให้เรามีแรงก้าวเดินต่อไปได้

เดินไปพร้อมๆ กันกับลูกหลานนี่แหละครับ

ช่วยกันจูง ช่วยกันประคองไป น่ารักดีออกจะตาย