การเปลี่ยนแปลงทางความคิด ของคนรุ่นใหม่ ในเดือนที่สี่เดือนหลังการเลือกตั้ง | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน นับว่าเป็นจังหวะที่ผมมีโอกาสได้รับเชิญไปบรรยายในสามมหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมเป็นอาจารย์ประจำอยู่

จังหวะการได้สนทนากับนิสิต นักศึกษาทั้งสามมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งมากกว่าสี่เดือน แน่นอนว่ามีหลายเรื่องที่เราพอทราบความคาดหวังของพวกเขา ที่ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง

แม้ส่วนหนึ่งจะผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขั้น ที่การเลือกตั้งไม่สามารถนำพาสู่การเปลี่ยนแปลงได้

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือความคิดของพวกเขาต่อโลกต่อไปจากนี้ จะเป็นอย่างไร

ผมขอสรุปความเห็นจากคนรุ่นใหม่ที่ผมได้สนทนา ถ่ายทอดออกมาได้ดังนี้

 

1. ไม่เกี่ยวกับวัย แต่พวกเขาคิดว่าคำพูดของผู้มีอำนาจไม่สามารถเชื่อถือได้

เรามักพิจารณาว่าเป็นช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ต่างกันไม่สามารถเข้าใจกันได้

แต่จากคำถามที่ผมลองถามในห้องผมพบว่าไม่ใช่เรื่องของวัย เรื่องของคนหนุ่มสาวกับคนแก่ พวกเขาบอกว่า คนสูงวัยที่น่าเชื่อถือมีมากมายในสังคม

แต่พวกเขารู้สึกมาตลอดว่าผู้มีอำนาจไม่น่าเชื่อถือ

พวกเขาสามารถประดิษฐ์ข้ออ้างได้สารพัดในการทำให้อำนาจของพวกเขาคงอยู่ ในการไม่ซื่อสัตย์ต่อคำสัญญา เป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเขา

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการทำผิดกฎหมาย แต่คือการไม่ซื่อตรงต่อสิ่งที่พึงเป็น ต่อสิ่งที่เชื่อ แม้ในสังคมสมัยใหม่ ความไม่ซื่อตรง การนำเสนอที่ไม่ตรงไปตรงมา การประนีประนอมกับฝ่ายตรงข้ามเป็นเรื่องปกติ

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ การไม่มี “คุณค่า” ในชีวิต นอกจากเรื่องเงิน และ “อำนาจ” คือสิ่งที่น่าละอาย

 

2. พวกเขาไม่คิดว่าผู้มีอำนาจในสังคม มีความเก่ง ฉลาด ขยัน อดทน แต่อย่างใด

เราเติบโตมาพร้อมกับคุณค่านี้ และคิดว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในสังคม ต้องแลกอะไรมาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นความเสียสละ ความเก่ง มีไหวพริบ ฉลาด ขยัน อดทนอดออม

แต่ ณ ปี 2566 ภาพไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะความเหลื่อมล้ำและโอกาสที่ส่งต่อข้ามรุ่น มันไม่สามารถทำให้คนเชื่อแบบนั้นได้อีกต่อไป เพราะผู้คนที่มีอำนาจก็ต่างจองอภิสิทธิ์ส่งต่อให้ลูกหลานของตัวเอง คนธรรมดาใช้ชีวิตอย่างดี พยายามอย่างมากอาจได้มีชวิตเพียงเศษเสี้ยวของชนชั้นนำ

บ่อยครั้งพวกเขาก็ตระหนักว่า กติกาหลายอย่างที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมา ก็ไม่ได้เพื่อธำรงเพื่อความมั่นคงของสังคม ระเบียบวินัย หรือความเป็นธรรมของการแข่งขัน

แต่กฎระเบียบ กติกาที่สร้างมาก็ล้วนเพื่อธำรงสถานะของพวกเขา และป้องกันชนชั้นอื่นขึ้นมาแย่งทรัพยากรของพวกเขาเท่านั้นเอง

 

3. วิกฤตเสรีนิยมใหม่สร้างความเหลื่อมล้ำ แม้แต่ชนชั้นกลางก็รู้สึกเหนื่อยและลำบาก

นักศึกษาส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง หรือชนชั้นกลางระดับล่าง การศึกษาในทั้งสามมหาวิทยาลัย เป็นตัวการันตีชีวิตต่อไปในอนาคตของพวกเขา

แต่พวกเขารู้สึกได้ว่า แม้แต่เป็นชนชั้นกลางในประเทศนี้มันก็ลำบาก ค่าใช้จ่ายเยอะ สวัสดิการต่ำ การรับผิดชอบตัวเองสูงมาก

เรื่องที่เคยฟรี หรือค่าใช้จ่ายต่ำก็กลายเป็นสิ่งที่มีราคาไปหมด

คนรุ่นใหม่ทำงานเก่งขึ้น ตามเทคโนโลยีได้ดีขึ้น แต่พวกเขากลับได้ส่วนแบ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยลง

ดอกผลของการเติบโตทางเศรษฐกิจมันไม่ตกสู่พวกเขา การเป็นชนชั้นกลางในประเทศนี้ไม่ปลอดภัย ไม่สามารถวางแผนอนาคตระยะยาวได้

ยังไม่นับความกังวลต่อคนที่ตัวเองต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายและสุขภาพใจของตนเอง คนรัก และพ่อแม่ที่ไม่มีหลักประกัน

ความกังวลต่อการมีครอบครัวในอนาคตสูงขึ้น

 

4. แต่น่าแปลกใจพวกเขาไม่รู้สึกว่าพวกเขาแก้ไขเรื่องนี้ได้ด้วยตัวคนเดียว

พวกเขารู้สึกถึงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องของพวกเขาคนเดียว ไม่สามารถเอาตัวรอดได้เพียงแค่ลำพัง

พวกเขาสามารถรู้สึกเจ็บปวด กับคนอื่นกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของพวกเขาเอง เรื่องที่พวกเขาไม่ได้ประโยชน์

เรื่องของคนที่พวกเขาไม่รู้จัก พวกเขายังรู้สึกกับเรื่องของผู้คน มันเป็นสัญญาณที่น่าสนใจว่า คนที่ยากลำบากยังรู้สึกถึงความทุกข์ของผู้อื่น

เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ผมสื่อสารกับพวกเขา พวกคุณไม่จำเป็นต้องเติบโตเป็นนักวิชาการ เป็นสื่อมวลชน หรือนักเคลื่อนไหวที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อันนั้นแม้จะสำคัญแต่เราก็ยังพอมีอาชีพอื่น

เรายังต้องการผู้ประกอบการที่มีจิตใจเข้าใจต่อความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน

ต้องการนักลงทุนที่มองเห็นความเปราะบางของระบบทุนนิยมความเลวร้ายของมัน

ต้องการข้าราชการที่ซื่อตรงและอยู่ข้างกับประชาชนเมื่อยามพวกเขามีปัญหา พวกคุณเป็นอะไรก็ได้ขอแค่ยังมีหัวใจ

เมื่อเวลามาถึงเราจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ทำให้ต้นหญ้าสูงเทียมฟ้า และให้เงินทุกบาททุกสตางค์ของประเทศนี้มาเป็นสวัสดิการค้ำยันความฝันของประชาชน