กรองกระแส : บทสรุป นิยาม ของ ‘รัฐประหารเสียของ’ ใน ‘ความเป็นจริง’

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ สปท. ผ่านคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องพรรคการเมือง ในเรื่องการเลือกตั้ง ล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน

เป้าหมายตามยุทธศาสตร์ มิให้รัฐประหาร “เสียของ”

ในความเป็นจริง หากศึกษาบทบาทของ คสช. นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ก็ดำรงยุทธศาสตร์นี้ด้วยความแน่วแน่ ไม่เคยแปรเปลี่ยน

ขอให้ศึกษาจังหวะก้าวของ “แม่น้ำ 5 สาย”

ไม่ว่าจะเป็นการรุกไล่ คิดบัญชี ต่อคนของพรรคเพื่อไทย เรียงลำดับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึง นายประชา ประสพดี

ล้วนต้องโทษ ติดอาญากันอย่างถ้วนหน้า

ขอให้ศึกษาจังหวะก้าวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เรื่อยมาจนถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็จะประจักษ์ในความแน่วแน่และมั่นคง

เป้าหมายก็เพื่อจำกัดวงและตีกรอบการเคลื่อนไหวของเครือข่ายพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรในแนวร่วมทั้งสิ้น

เพียงแต่ยุทธวิธี คือ แยกกันเดิน แต่ในที่สุดก็ร่วมกันตี

 

รูปธรรม การเมือง
รัฐประหารเสียของ

ถามว่าบทนิยามที่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ” กระทั่ง มีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนพฤษภาคม 2557 คืออะไร

ตอบได้ว่า คือ รูปธรรมของการเลือกตั้ง

การสอบสวนคดีทุจริตโดย กคต. อาจเป็นอุปกรณ์ 1 การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อาจเป็นอุปกรณ์ 1 และการยุบพรรคไทยรักไทยอาจเป็นอุปกรณ์ 1 การสร้างพันธมิตรในแนวร่วมกับพรรคการเมืองตามแผนบันได คมช. คืออุปกรณ์ 1

เป้าหมาย คือ ทำให้พรรคไทยรักไทยระส่ำระสาย ขาดเอกภาพ ขาดความเข้มแข็ง

แต่แล้วในการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนอันเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทยก็ได้ชัยชนะเหนือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย

อย่าได้แปลกใจหากจะมีการปลุก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นมาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2551 กระทำรุนแรงถึงขั้นยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน

อย่าได้แปลกใจหากจะมีการยุบพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคม 2551

เท่ากับเป็นการฟื้นแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลโดยมีบางส่วนแยกตัวออกมาจากพรรคพลังประชาชน และเมื่อมีการต่อต้านรัฐบาลก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกองทัพปราบปรามและสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

แต่ในการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยอันเป็นอวตารแห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย ก็ได้รับชัยชนะ

จำเป็นต้องเกิด “กปปส.” เช่นเดียวกับ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

ในที่สุดก็เกิดรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 เป้าหมายก็เพื่อชำระสะสางจุดอ่อนและความผิดพลาดอันเกิดขึ้นจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

การทำลายล้างเครือข่าย พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย จึงดำเนินต่อไป

000_e00h3

ประชามติ โมเดล
เลือกตั้งปลายปี 2560

หากถือว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นชัยชนะ 1 ความสำเร็จจากกระบวนการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ก็เป็นอีกชัยชนะ 1

เป็นการถอดบทเรียนจากประชามติเมียนมาอย่างมีประสิทธิภาพ

ไม่ว่าจะมองผ่าน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ว่าจะมองผ่านศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย อันเป็นการถอดบทเรียนมาจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เพียงแต่ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

ไม่ว่าจะมองผ่านกลไกสำคัญคือ ประกาศและคำสั่ง คสช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจตามมาตรา 44

ทั้งหมดนี้ คือ เครื่องมือและอาวุธอันทรงพลานุภาพอย่างยิ่งทำให้คะแนนผ่านประชามติจำนวนกว่า 16 ล้านปรากฏขึ้น

ชัยชนะจาก “ประชามติโมเดล” จึงยังเป็นบาทฐานอันทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

จากนี้จึงเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวโดยคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองของ สปท. การเคลื่อนไหวโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในเรื่องของ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง

ล้วนถอดพิมพ์เขียวมาจากกรณีของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 อย่างครบถ้วน

ดำเนินไปในลักษณะ “แยกกันเดิน รวมกันเข้าตี” ไม่แปรเปลี่ยน

ที่รออยู่เพื่อประมวลผลอย่างเอาการเอางานก็คือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสนอให้ คสช. และรัฐบาลเพื่อกลั่นกรองและปรับปรุงเพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

เป้าหมายของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยังดำรงคงมั่นเช่นเดิม

201503131122052-20061002145931
ประกัน ความมั่นใจ
ชัยชนะ “การเมือง”

ไม่เพียงแต่ผ่านการรัฐประหารมาแล้ว 2 ครั้ง พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน หากเมื่อผ่านกระบวนการของการทำประชามติ พรรคการเมืองและนักการเมือง ยิ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน

1 ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ 1 ทำความเข้าใจต่อประชาชน

อย่างน้อยที่สุดก็คือ เข้าใจต่อเจตจำนงและการดำรงจุดมุ่งหมายในทางยุทธศาสตร์ของคณะรัฐประหารที่แน่วแน่และไม่เคยแปรเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงของประชาชนในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

จำเป็นต้องทำการเรียนรู้ในลักษณะที่ขบวนการกลศึกเรียกว่า “รู้เขา” และจำเป็นต้องทำการเรียนรู้ในลักษณะที่ขบวนการกลศึกเรียกว่า “รู้เรา”

หากจมอยู่กับความสำเร็จเก่า บทเรียนเก่า ก็ยากยิ่งที่จะสามารถ “รู้เขา รู้เรา” ได้อย่างเป็นจริง