สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/การบูร เครื่องยาหอมคู่สุขภาพคนไทย

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ
โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย
www.thaihof.org

การบูร
เครื่องยาหอมคู่สุขภาพคนไทย

ในช่วงถวายความอาลัยแด่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยหลายท่านคงเคยได้รับของที่รำลึกที่มีชื่อเรียกว่า “บุหงาสราญรมย์ ดอกไม้พระราชา”
อันเป็นของหอมที่ประดิษฐ์จากมวลดอกไม้สดที่มวลมหาพสกนิกรนำมาถวายเป็นราชสักการะรายล้อมกำแพงพระบรมมหาราชวัง จากนั้นจึงถูกนำไปประดับในบริเวณสวนสราญรมย์
และสุดท้าย แทนที่จะเป็นเพียงขยะดอกไม้ไร้ค่า ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็น “บุหงารำไป” ซึ่งคนไทยคุ้นเคยกันดีว่าเป็นของหอมชั้นสูงที่ประดิษฐ์จากดอกไม้แห้งนานาพรรณ แล้วอบร่ำด้วยน้ำปรุงกลิ่นต่างๆ
แต่เครื่องหอมที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการผสมน้ำปรุงคือ การบูร ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora และมีชื่อสามัญตามสกุลว่า camphor (แคมเฟอร์)
“ยาดำ” เป็นเครื่องยาที่ใช้แทรกในสูตรยาไทยหลายตำรับ ฉันใด “การบูร” ก็เป็นเสมือน “ยาขาว” ที่แทรกอยู่ในสูตรยาหอม ยาขับลม ยาดม ยาบำรุงหัวใจ ยาหม่องแก้ปวด บวม เคล็ดขัดยอก แทบทุกตำรับ ฉันนั้น
และเหนืออื่นใด การบูรเป็นเครื่องหอมที่แทรกอยู่ในบรรยากาศชีวิตและลมหายใจของคนไทยมาช้านาน
ดังเช่น บุหงารำไป ที่ใช้คุณสมบัติหอมระเหยของการบูรเป็นตัวชูกลิ่นสร้างบรรยากาศเย็นสดชื่นภายในบ้าน ตู้เสื้อผ้าและภายในรถยนต์ เป็นต้น

ในจดหมายเหตุสมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่องเครื่องบรรณาการ 10 รายการ จากกรุงสยามไปยังกรุงญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.2166 หนึ่งในนั้นมี การบูร 2 ชั่งรวมอยู่ด้วย แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นการบูรหรือพิมเสนกันแน่ เพราะญี่ปุ่นเป็นแหล่งใหญ่ในการผลิตการบูรชั้นดีอยู่แล้ว สยามจึงไม่น่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนอีก
แต่ถ้าเครื่องบรรณาการนั้นเป็นการบูรจริง ก็แสดงว่าคนไทยเรารู้จักกลั่นการบูรชั้นดีจากแก่นไม้มาช้านานแล้ว
ข้อน่าสังเกตคือ ชื่อเรียกการบูรในภาษาญี่ปุ่นคือ กุสุโนกิ (Kusunoki) และในภาษาจีนคือ เจียโล่ (แต้จิ๋ว) และจางหน่าว (แมนดาริน) ในขณะที่คนไทยเรียกชื่อสมุนไพรตัวนี้ตามภาษาอินเดียโบราณ
แสดงว่ากรุงสยามน่าจะได้การบูรจากแหล่งตะวันตกมากกว่าแหล่งตะวันออก
ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ อันเป็นตำรายาแห่งราชสำนักสมัยอยุธยาซึ่งเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 350 ปี ก็มียาหลวงไม่น้อยกว่า 7 ตำรับที่แทรกการบูร เช่น
น้ำมันทิพโสฬศ เป็นยาน้ำมันที่ใช้ทั้งกินและทาครอบฝีร้าย 16 จำพวก รวมทั้งริดสีดวงทวารใช้ทานวดแก้ปวดเมื่อย แถมยังเป็นยาสำหรับเด็กกินแก้พิษไข้ตานทราง แก้ไอเรื้อรัง หลอดลมโป่งพอง ขี้ผึ้งปิดพระยอด สำหรับ “ปิดฝีเปื่อยเน่า บาดเจ็บใหญ่น้อย ให้ดูดบุพโพกัดเนื้อ เรียกเนื้อ” คือช่วยกัดหนอง กัดเนื้อเน่า เรียกเนื้อดีกลับมาโดยไม่มีแผลเป็น
น้ำมันมหาจักร เป็นยาภายนอกใช้หยอดหูแก้หูน้ำหนวก แก้เปื่อยคันในหู ใส่บาดแผลแก้พิษปวด และทานวดแก้เมื่อยขบ
น้ำมันมหาปะไลยกัลป์ ใช้ทาแก้เส้นอัณฑพฤกษ์ ที่ทำให้ตายด้าน ช่วยให้นกเขาขันไพเราะเหมือนเก่าก่อน
ยามหากทัศใหญ่ ท่านว่าใช้กินแก้ลมร้ายได้ทุกชนิดที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต สะบักจม ปวดชายโครงและบั้นเอว ยาออกฤทธิ์ร้อนวาบถึงปลายมือปลายเท้าเลยทีเดียว
ยาศุขไสยาศน์ ยานี้เข้าทั้งใบกัญชา การบูร ท่านว่า “กินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินข้าวได้ นอนเป็นสุขนักแล ฯ”
ยาทิพกาศ ตำรับนี้ไม่ธรรมดา เข้าทั้งฝิ่น กัญชา การบูร สรรพคุณจึงไม่ธรรมดา เช่นกันท่านว่า “กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวไม่ได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ”
แปลกไหมหมอหลวงโบราณท่านใช้ กัญชา 16 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน แทรกการบูรถึง 4 ส่วน แก้ลงแดงได้ ซ้ำยังช่วยระงับอาการโรคประสาทได้ชะงัดอีกด้วย

เรื่องราวการบูรกับวิถีชีวิตชาวไทยทั้งชาววังและชาวบ้านยังมีให้ฟื้นฝอยอีกมาก เล่ามาเพียงเท่านี้ก็พอให้แจ่มชัดถึง พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานต้นการบูรเป็นพฤกษชาติประจำกระทรวงสาธารณสุข
ในวาระครบ 100 ปี แห่งการสาธารณสุขไทย นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2461
น่ายินดีว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่าช่วงหนึ่งปีนับแต่ปีที่ 99 ถึงปีที่ 100 จะปลูกต้นการบูร 1 ล้านต้น บนผืนแผ่นดินไทย
เพื่อประกาศสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมสุขภาพทางกาย จิต สังคม อันยาวนานระหว่างชนชาวไทยกับการบูร
ที่สำคัญกระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมโครงการฟื้นฟูการใช้การบูรกลับมาสู่วิถีชีวิตชาวไทย ทั้งในระดับต้นน้ำ คือการปลูก กลางน้ำคือ อุตสาหกรรมการกลั่นการบูร สร้างผลิตภัณฑ์สุขภาพ อันหลากหลายทั้งที่เป็นยาและเครื่องหอม ขั้นสุดท้ายปลายน้ำ คือการเผยแพร่ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์การบูรให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย
หวังว่าปีหน้าฟ้าใหม่คนไทยคงได้สดชื่นกับกลิ่นหอมอบอวลของการบูรที่ฟุ้งขจรกำจายไปทั่วทั้งแผ่นดิน
เช่นเคยสำหรับวาระใกล้ปีใหม่ 2561 นี้ ทางโครงการสมุนไพรของเรามีชุดของขวัญสมุนไพรคุณภาพ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยการบูรไว้สำหรับบริการท่านที่สนใจ
ขอประชาสัมพันธ์ให้ท่านที่สนใจสนับสนุนกิจกรรมมูลนิธิ ติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2814-4013, 09-4489-7887, 08-1300-3300, 09-2506-5057 และ 0-2589-4243