แยกแยะ

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

คุณตัน ภาสกรนที เป็นมนุษย์รายละเอียด

ถ้าจะทำอะไรใหม่ เขาจะลงไปลุยงานเอง

จากนั้นก็ใช้อาวุธสำคัญของคุณตัน

นั่นคือ การตั้งคำถาม

เป็นที่รู้กันในหมู่คนใกล้ชิดว่า ถ้าคุณตันสนใจเรื่องอะไร เขาจะถาม-ถาม-ถามแบบไม่หยุด

ถามจนหมดข้อสงสัยแล้วค่อยคุยเรื่องอื่นต่อ

ตอนทำร้านเวดดิ้ง สตูดิโอ หรือร้านถ่ายรูปแต่งงาน เขาก็เลือกไปไต้หวันที่เป็นเจ้าพ่อร้านเวดดิ้ง

จากนั้นก็ถาม-ถาม และถาม

คำถามที่สำคัญที่สุด คือ มีเรื่องอะไรที่ “ห้ามทำ” เด็ดขาดบ้าง

เพราะการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ นี่คือ “คำถาม” สำคัญที่สุด

ทำอย่างไรจะขายดี ไม่สำคัญเท่ากับทำอย่างไรจะไม่เจ๊ง

เจ้าของร้านเวดดิ้งไต้หวัน ไม่ตอบคำถามคุณตัน

แต่พาไปดูหลังร้าน

พื้นที่ว่างทั้งหมดเต็มไปด้วย “เครื่องอัดรูป”

ครับ “ห้ามซื้อเครื่องอัดรูป” คือ คำตอบของเขา

เพราะคนทำร้านเวดดิ้ง จะรู้สึกว่ารายจ่ายหลักของเขาคือ ค่าอัดรูป

และคิดง่ายๆ ว่า ถ้าต้องจ่ายเงินให้ร้านอัดรูปขนาดนี้

ซื้อเครื่องอัดรูปดีกว่า

แต่เขาลืมไปว่าเทคโนโลยี่ในการปรินต์รูปนั้นพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

ใช้ยังไม่ทันคุ้ม

ต้องซื้อเครื่องใหม่ตลอด

ไม่เช่นนั้น รูปจะสวยสู้ร้านคู่แข่งไม่ได้

เจ้าของร้านที่ไต้หวันบอกว่า “กำไร” ส่วนใหญ่ของเขาทั้งหมด อยู่ในโกดังหลังร้าน

“ความรู้” จาก “คำถาม” นี้เองที่ทำให้ตลอดเวลาที่คุณตันทำร้านเวดดิ้ง

เขาไม่เคยซื้อเครื่องอัดรูปเลย

 

ตอนทำโรงงานอิชิตันก็เช่นกัน คุณตันศึกษางานทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยใช้วิธี “เรียนลัด”

เริ่มต้นด้วยการเลือกบริษัทที่ปรึกษา

ใช้วิธีการง่ายๆ คือ เขาชอบโรงงานไหนก็ให้ลูกน้องไปหาชื่อบริษัทที่ปรึกษามา

แล้วจ้างบริษัทนั้น

จากนั้นก็ใช้กลยุทธ์เดิม

ถาม-ถาม และถาม

ถามจนเข้าใจแปลนโรงงานแทบทุกจุด

และใช้ประสบการณ์ส่วนตัวลงรายละเอียดบางอย่างที่บริษัทที่ปรึกษาคิดไม่ถึง

เช่น วงเลี้ยวของรถพ่วง หรือการใช้หลอดไฟในโรงงาน

ตามปกติเวลาการตัดสินใจ คนส่วนใหญ่จะตัดสินใจแบบภาพรวม

“หลอดไฟ” ในโรงงานตอนนั้น มีให้เลือก 2 แบบ

แบบธรรมดา ราคาหลอดไฟจะถูกแต่กินไฟ

แบบประหยัดไฟ ราคาหลอดจะแพงกว่าแต่ประหยัดไฟ

ส่วนใหญ่คนจะเลือกแบบใดแบบหนึ่ง

อยากประหยัดค่าหลอด หรือค่าไฟ

แต่คุณตันลงรายละเอียด

เขาให้คนงานแยกแยะระหว่างพื้นที่ที่ต้องใช้ไฟทำงานตลอดเวลา

กับพื้นที่ที่ใช้ไฟน้อย

คุณตันบอกว่าบางพื้นที่แทบไม่ต้องเปิดไฟเลย แต่ต้องมีหลอดไฟตามระเบียบของกระทรวง

พอแยกพื้นที่เสร็จ เขาก็เลือกหลอดประหยัดไฟสำหรับพื้นที่ที่ต้องใช้ไฟตลอดเวลา

แต่จุดไหนที่เปิดไฟน้อย

เขาก็เลือกหลอดธรรมดาที่ราคาถูก

ประหยัดได้เยอะเลย

 

คุณอนันต์ อัศวโภคิน ก็เช่นกัน

เวลาเริ่มงานอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำ เขาจะลงรายละเอียดมาก

ถ้าเป็นเรื่องบ้านและคอนโดมิเนียม คุณอนันต์แทบไม่สนใจ

ไม่เคยไปดูโครงการใหม่ๆ เลย

ส่วนหนึ่ง เพราะรู้หมดแล้ว

ส่วนหนึ่ง เพราะกลัวว่าไปดูแล้วอดใจไม่ไหว

วิญญาณ “เถ้าแก่” เข้าสิง

ไม่ชอบตรงไหนก็จะสั่งแก้งาน

แต่พอเป็นงานใหม่ อย่างเช่น ตอนทำศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 หรือโรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์

คุณอนันต์จะสนุกมาก

เพราะได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน

เขาจะลงรายละเอียดเยอะมาก

อย่างเรื่องศูนย์อาหารในเทอร์มินัล 21 ผลงานที่เขาภูมิใจ

จำได้ว่าตอนนั้นถ้านัดคุยงานกับคุณอนันต์เมื่อไร

เขาจะนัดที่ศูนย์อาหาร

ไปนั่งคุยที่โต๊ะประจำของคุณอนันต์

ก่อนจะคุยเรื่องงาน เขาจะเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของศูนย์อาหาร

ส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งเจอมา

เล่าอย่างสนุกสนาน

พอเล่าจบค่อยเข้าเรื่องงาน

คุณอนันต์จะลงรายละเอียดทุกอย่าง

และเล่นกับ “จิตวิทยา” ผู้บริโภคเก่งมาก

อย่างเรื่อง “ห้องน้ำ”

ใครจะคิดว่าคุณอนันต์จะใช้ “ห้องน้ำ” เป็น “จุดขาย”

“ห้องน้ำ” ของเขาจะตกแต่งอย่างสวยงามตามคอนเซ็ปต์ของชั้นนั้น

และใช้สุขภัณฑ์ดีมาก

อย่างโถชักโครก แทนที่จะใช้แบบธรรมดา

ก็ใช้แบบหรู ที่ฝาเปิดเอง มีน้ำชำระล้าง และลมอุ่นๆ

เคยถามว่าทำไมถึงใช้ของแพง

คุณอนันต์บอกราคาสุขภัณฑ์ไม่ได้แพงมาก แล้วคำนวณให้ฟังว่าต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ

ที่สำคัญก็คือ ใช้เงินเพิ่มแค่นี้แต่ทำให้เกิด “ภาพจำ” ในใจลูกค้า

กลายเป็น “จุดขาย”

ในมุมหนึ่ง คุณอนันต์กล้าคิดและกล้าจ่าย

แต่อีกมุมหนึ่งที่คนไม่รู้

คุณอนันต์บอกว่าเวลาเราเข้าห้องน้ำ เราจะให้ความสำคัญกับสุขภัณฑ์ต่างๆ

ถ้าเราใช้ของดี ลูกค้าจะมองเห็น

ดังนั้น สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ตั้งแต่อ่างล้างหน้า ก๊อกน้ำ จนถึงโถชักโครก

คุณอนันต์จะเน้นของมีแบรนด์

หรูจนคนรู้สึก

แต่ “กระเบื้อง” ในห้องน้ำ คุณอนันต์บอกว่าคนไม่ค่อยสนใจว่าเราใช้กระเบื้องยี่ห้อไหน

ส่วนใหญ่จะมองผ่าน

กระเบื้องปูพื้นและผนังในห้องน้ำ คุณอนันต์จะเลือกใช้ของดี ราคาถูก

คุณอนันต์อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์มานาน รู้ว่ากระเบื้องเมืองจีนคุณภาพดีแต่ราคาถูกมาก

เขาเลือกของตามสายตาของลูกค้า

อะไรที่ประหยัดได้ ต้องประหยัด •

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC