การเปลี่ยนผ่านพลังงาน กับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (1) | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

การเปลี่ยนผ่านพลังงาน หรือ Energy Transition นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้เขียน

ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เป็นด้านวิศวกรรม อันสัมพันธ์กับพลังงานไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศที่ผู้เขียนพอมีความรู้อยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเข้าประชุมระดับนานาชาติกับ Think Tank ชั้นนำหลายแห่งทั้งจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย

รวมทั้ง Think Tank ระดับโลกที่มีฐานที่ตั้งในเอเชียได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน

หน่วยงานระดับสมองทางด้านนโยบายระหว่างประเทศเหล่านี้ได้วิเคราะห์ทั้งพัฒนาการ จุดเด่นและข้อกังวลของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศโดยแท้ หาใช่เรื่องทางวิศวกรรมอันไกลตัวของผู้เขียน

ยิ่งในปีนี้ ผู้เขียนได้ร่วมสัมมนาและระดมความรู้เรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานอันสัมพันธ์อย่างมากกับประเด็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Competition) ซึ่งน่าสนใจและมีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนจึงอยากประมวลและสรุปสาระสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

โดยใช้เอกสาร รายงานวิจัย แถลงการณ์ นโยบายและข้อตกลงของชาติสำคัญหลายชาติทั้งของจีน สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และบางชาติในซีกโลกใต้ (Global South) บางประเทศ

 

เกมใหญ่สีเขียว
(Great Game Green)

คําที่ใช้กันบ่อยในวงประชุมนานาชาติด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานคือ เกมใหญ่สีเขียว ในเบื้องต้นกล่าวอย่างย่อที่สุด การเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจโลกที่เกือบทุกประเทศเวลานี้ด้านความพยายามลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล อันหมายถึงแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติที่ใช้เวลายาวนานเป็นล้านปี จนในที่สุดเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซตามที่ต่างๆ ซึ่งทุกประเทศรู้ว่า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานที่มีอยู่เพียงบางแห่งในโลก กำลังหมดไปอย่างรวดเร็ว จะหมดไปเลยแม้มีการสำรองเอาไว้ใช้กันบ้าง

พร้อมกันนั้น พลังงานจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเมื่อเผาไหม้ยังก่อผลด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงหมายถึง การหันไปใช้พลังงานทดแทน (reenable energy) เช่น พลังงานชีวภาพ (Bioenergy) เช่น จากกากน้ำตาล จากขยะ (พลังงานจากมูลสัตว์) พลังงานลม (Wind energy) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar energy) พลังงานนิวเคลียร์ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำหรับครัวเรือน อุตสาหกรรมต่างๆ ระบบขนส่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนพลังงานทดแทนแต่ละอย่างและแต่ละพื้นที่มีต้นทุนไม่เท่ากัน เทคโนโลยีแหล่งพลังงานทดแทนก็ยังพัฒนาต่อไปอย่างมีหยุดยั้ง

ในเวลาเดียวกัน มีการเมืองแห่งพลังงานคือ การตัดสินทางนโยบายการใช้ทรัพยากร การผลิตผู้บริโภค และการแข่งขัน อีกทั้งเป็นการแข่งขันในการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

เพราะแหล่งที่มาของพลังงานแต่ละชนิดต่างมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ไม่มีประเทศ สังคม พื้นที่ใดในโลกที่มีแหล่งพลังงานมีห่วงโช่อุปทานเป็นของตัวเองโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำโดยไม่ไปเกี่ยวข้องหรือพึ่งพิงแหล่งพลังงานของสังคม พื้นที่หรือประเทศอื่นๆ

ตัวอย่างที่ดีเรื่องนี้ เช่น ไทยมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งในอ่าวไทยและบนบก มีเขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า

แต่แหล่งเพื่อผลิตพลังงานยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคของไทย และบางพลังงานแพงจนเกินไป ไทยจึงต้องนำเข้าพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำจากลาว ไทยต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเมาะตะมะของเมียนมา เป็นต้น

นอกจากนั้น การเปลี่ยนผ่านพลังงานยังหมายถึงการเปลี่ยนผู้ผลิตที่เป็นรัฐ สู่ผู้ผลิตพลังงานที่เป็นภาคเอกชน (private sector) อีกด้วย

ดังนั้น พลังงานจึงเป็นพื้นที่ของการเมืองและผลประโยชน์ ทั้งระดับย่อยเช่นในหมู่บ้าน เมือง ประเทศ และระหว่างประเทศ ในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องของความมั่นคงดั้งเดิม (traditional security) ที่เป็นความมั่นคงยิ่งยวดและขาดไม่ได้ของความมั่นคงระดับประเทศและนานาชาติ

ดังนั้น นักวางแผนและผู้นำทางนโยบายจึงเรียกว่า Great Game Green

 

COP 28 เรื่องเล่าใหม่อีกครั้ง
ของศตวรรษที่ 21

เราจะเห็นได้ว่า COP 28 หรือการประชุมนานาชาติว่าด้วย สภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่จัดมา 28 ครั้ง ได้รับการขนานนามว่าจะเป็นเรื่องเล่าใหม่อีกครั้งของศตวรรษที่ 21 แต่แทนที่จะเป็นการประชุมเพื่อความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศ กลับใช้เป็นยุคใหม่ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์

ด้วยเส้นทางสู่เศรษฐกิจลดคาร์บอน (Decarbonized Economies) จึงเห็นการแข่งขันแย่งชิงพื้นที่และดินแดนในยุคสมัยสงครามเย็น ที่ประเทศต่างๆ หาหนทางเป็นผู้นำมากกว่าประเทศอื่นๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญเพื่อทำการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ในขณะที่ลดการพึ่งพาประเทศอื่นด้านพลังงานพร้อมกันไป

 

หัวใจของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

หัวใจของความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศโลกใน COP 28 คือ ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงต่อห่วงโซอุปทานแร่ธาตุสำคัญ

ตามรายงานของ International Energy Agency-IEA ความต้องการแร่ธาตุ เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 5 ปีที่ผ่านมา

และ 6 เท่าเป็นความต้องการแร่โลหะ และแร่ธาตุที่จะใช้ในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในปี ค.ศ.2040 เพื่อเป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์ 2040 (Net Zero)

นี่รวมทั้งแร่ธาตุสำคัญ (แร่ธาตุหายาก) และแร่โลหะอื่นๆ รวมทั้งทองแดง เหล็ก อะลูมิเนียม และไททาเนียม1

สิ่งเหล่านี้กำลังสร้างสภาวะแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สู้กันไปเรื่อยๆ ในอาณาเขตความมั่นคงดั้งเดิมที่เป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีอยู่ และสร้างเส้นทางต่างๆ ผิดพลาดในภูมิรัฐศาสตร์อันใหม่

 

ลัทธิปกป้องสีเขียว
(Green Protectionism)

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ กลายเป็นวลีพูดกันแพร่หลายของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ที่มีอยู่ 2 แนวทางคือ

หนึ่ง นโยบายอุตสาหกรรมภายใน

สอง ข้อริเริ่มพัฒนาสีเขียวจากต่างประเทศ แนวทางดั้งเดิม ทั้งหมดเป็นภาระของรัฐบาลและแนวทางที่ไม่ใช่ตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านการแข่งขันของประเทศ และเพื่อความอยู่รอดทางห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีสำคัญและที่เกิดใหม่ เราอาจเห็นรูปธรรมของประเทศสำคัญดังนี้

จีนมีแนวทางโดยใช้รูปแบบทุนนิยมแห่งรัฐ (State Capitalism model) อันสรุปอยู่ในยุทธศาสตร์ Made in China 20252 และยุทธศาสตร์การพัฒนาล่าสุดคือ Dual Circulation นี่เป็นแบบแผนให้ประเทศอื่นๆ ใช้ยุทธศาสตร์ Out-China. China

สหรัฐอเมริกามี Inflation Reduction Act ใช้กระตุ้นการผลิตดั้งเดิมของเทคโนโลยีสีเขียว3 และใช้กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เพื่อหาแร่ธาตุสำคัญภายในประเทศและเปลี่ยนสภาพร่ธาตุสำคัญนั้น

สหภาพยุโรปใช้กฎหมายอุตสาหกรรมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Industry Act) ที่ลดการอุดหนุนของรัฐ เพื่อส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีสีเขียว

อินเดียใช้มาตรการภาษีนำเข้าอุปกรณ์โซลาร์ และใช้ภาษีกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเทคโนโลยีสีเขียว

ผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานกำลังใช้ลัทธิปกป้องสีเขียว เช่น แคนาดาใช้มาตรการบังคับ ขับบริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการลิเธียมออกจากประเทศ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ

เดือนพฤศจิกายนนี้ อินโดนีเซียใช้มาตรการที่ทำก่อนหน้านี้ ห้ามแร่นิกเกิล (Nickel) ที่ยังไม่ได้แปรรูป ใช้การแบนการส่งออกแร่โคบอลต์ (Cobalt) แร่บอกไซต์ (Bauxite) และแร่ดีบุก นี่รวมทั้งมีการเรียกร้องก่อตั้งกลุ่มคาร์เทล (การผูกขาดชนิดหนึ่ง) กับแร่นิกเกิล4 แบบที่กลุ่มประเทศโอเปค (OPEC-Style Cartel) ใช้5

ในขณะที่กลุ่มประเทศในละตินอเมริกาได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย และชิลี เสนอการรวมตัวก่อตั้ง Latin Lithium Triangle ผูกขาดขายแร่ลิเธียม

 

วาทกรรม และความเป็นจริง

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านพลังงานโดยแยกตัวหรือรวมตัวกันเองเพื่อเป็นกลุ่มอิสระด้วยมีแร่ธาตุสำคัญไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ คำประกาศสวยหรูที่ว่านี้อาจสวนทางกับความเป็นจริง หลายๆ ประเทศประกาศแยกขาด (Decoupling) หรือลดความเสี่ยง (de-risk) ห่วงโซ่อุปทานจากจีนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะจีนครอบครองอย่างมหาศาลบรรดาแร่ธาตุ รวมทั้งครอบครองกระบวนการผลิตแร่สำคัญเพื่อใช้เป็นห่วงโซ่เทคโนโลยีสีเขียวอีกด้วย

ตอนนี้จีนเป็นผู้นำโลก เป็นฐานของการไม่ใช้ไฮโดรคาร์บอน (non-hydrocarbon) ผลิตพลังงานทั้งหมด รวมทั้งพลังงานลม พลังงานโซลาร์ พลังงานน้ำ พลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vernicle-EV)

จีนครอบครองการปรับเปลี่ยนและผลิตวัถตุดิบเพื่อเทคโนโลยีสีเขียว ได้แก่ แร่โคบอลต์ ( 65%) ลิเธียม (58%) อะลูมิเนียม (60%) ทองแดง (40%) นิกเกิล (35%) แมงกานีส (Manganese) 90% จีนครอบครองแร่หายาก (rare earth) (90%) และแร่ (70%)6

จีนยังแสดงบทบาทครอบงำแร่ธาตุ ผ่านการลงทุนของตนเองในประเทศต่างๆ เช่น ลงทุนในคองโก ซึ่งผลิตโคบอลต์รวม 70% ของโลก ลงทุนในอินโดนีเซียที่ผลิตนิกเกิลได้ครึ่งหนึ่งของโลก ลงทุนที่ชิลี ประเทศที่ผลิตทองแดงมีสัดส่วน 28% ของโลก ลงทุนในโบลิเวียซึ่งมีลิเธียมสำรองไว้มากที่สุดในโลก7

 

สรุป

ไปๆ มาๆ การเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ได้ยุ่งยากด้านเทคโนโลยี โลกปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ การเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นหัวใจความอยู่รอดของมวลมนุษย์ท่ามกลางการขาดแคลนพลังงานและสภาวะโลกร้อนจากพลังงานฟอสซิล

แต่หัวใจแห่งความอยู่รอดนี้เผชิญการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์เพื่อการครอบครองแร่ธาตุหายากที่เป็นสารตั้งต้นการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ดังนั้น พลังอำนาจทางการเมือง กำลังทหารทั้งปริมาณและความเหนือกว่าของอาวุธ กลับยังเป็นเครื่องมือหลักของรัฐและบรรษัทขนาดใหญ่ด้านพลังงานเพื่อดินแดน อธิปไตยแห่งแหล่งแร่หายากในประเทศที่อ่อนแอกว่า

ไทยซึ่งเหมือนประเทศจำนวนมากในโลกที่ขาดแคลนมากในแร่หายาก แต่ต้องเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น รัฐบาลต้องตีโจทย์ที่เข้าใจไม่ยากนี้ในเวทีการเจรจา COP 28 ครั้งนี้อย่างเข้าใจเพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง

แน่นอนหัวใจของการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังเป็นภูมิรัฐศาสตร์ งานท้าทายแต่สำคัญยิ่งยวด

 


 

1“Critical Minerals Market see unprecedented growth as clean energy demand drives strong increase in investment” International Energy Agency, 11 July 2023.

2Jost Wubbeke et. Al. “Made in China 2025 : The making of high-tech superpower and consequences for industries countries” Mercator Institution for China Studies, No. 2 December 2016.

3Inflation Reduction Act, The White House, 21 September 2023

4Jayanty Nada Shofa, “Indonesia Proposes-Like Group for Nickel” Jakarta Post 20 May 2023.

5กลุ่มโอเปค ผู้ผลิตน้ำมันรวมกลุ่มผูกขาดการผลิต การขายและกำหนดราคาน้ำมัน ส่วนกลุ่มใหม่นี้รวมกลุ่มผูกขาดแร่ธาตุสำคัญ

6“Critical Minerals Market see unprecedented growth as clean energy demand drives strong increase in investment” International Energy Agency, 11 July 2023.

7อ้างจาก Lara Seligman, “China Dominates the Rare Earths Market. This U.S. Mine Is trying to change that” Political, 14 December 2022.