47 ปี คดี 6 ตุลา 19… ทำได้แค่ประจาน คดีสังหาร เมษา-พฤษภา 53…ห้ามฟ้อง | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

เปรียบเทียบ 2 คดี
สังหารหมู่ประชาชนกลางเมือง

คดี 6 ตุลาคม 2519 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 แม้เวลาห่างกัน 33 ปี แต่ที่เหมือนกันคือ เป็นการล้อมปราบและสังหารประชาชนกลางเมืองหลวง

หลัง 6 ตุลาคม 2519 จึงมีการต่อสู้ด้วยอาวุธทั่วประเทศยืดเยื้อถึง 6-7 ปี

ในขณะที่หลังการปราบพฤษภาคม 2553 ประชาชนไม่ได้เข้าป่าจับอาวุธต่อสู้ แต่ก็ยังสู้ทางการเมืองและก็ถูกปราบด้วยอำนาจตุลาการภิวัฒน์ อำนาจกฎหมาย ถูกจับกุมขัง ต้องลี้ภัย ยืดเยื้อยาวนานยิ่งกว่าสมัย 6 ตุลาคม จนถึงบัดนี้เกินกว่า 10 ปีแล้ว

แต่ทุกเหตุการณ์มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือผู้ที่ทำการสังหารประชาชนไม่ได้ถูกพิจารณาคดีและลงโทษตามความผิดที่ได้ก่อขึ้น

จำนวนคนที่เข้าร่วมกรณี 6 ตุลาคม มีจำนวนหลายหมื่น แต่ในวันที่ถูกปิดล้อมปราบในตอนเช้าเหลือประมาณ 4,000 คน มีผู้เสียชีวิต 41 คน บาดเจ็บหลายร้อย คดี 6 ตุลาคม 2519 มีผู้ต้องหาทั้งหมด 3,154 คน ได้รับการประกันตัว 2,579 คน ส่วนใหญ่หลังจากออกมาก็หนีเข้าป่า

ประชาชนถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีการกระทำอันเป็นกบฏ ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ

ส่วนการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 มีคนร่วมหลายหมื่นคน แต่การชุมนุมยืดเยื้อประมาณ 2 เดือน มีคนเข้าออก ไปกลับ สุดท้ายถูกสกัดปิดล้อมบริเวณราชประสงค์ ไม่ให้คนเข้าร่วม และการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จากเมษายนถึงพฤษภาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมเกือบ 100 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 2,000 คน

 

มีการจับกุมผู้ถูกดำเนินคดีรวม 1,833 คน
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการปราบ กรณี 6 ตุลา 2519

ผู้บงการยังไม่ปรากฏชัด แต่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งทำรัฐประหาร ฝ่ายปฏิบัติการคือ กลุ่มฝ่ายขวาจัด และตำรวจ ร่วมปฏิบัติการปิดล้อมและจู่โจมเข้าไปในธรรมศาสตร์ คือ ตำรวจพลร่มค่ายเสือดำหัวหิน และแผนกอาวุธและอุปกรณ์พิเศษ (S.W.A.T. – Special Weapon and Technical) กองกำกับการตำรวจนครบาล จำนวนกำลังพลรวมประมาณ 200 นาย

ไม่มีกำลังทหารในตอนเช้า (ที่ปรากฏตัวอย่างเปิดเผย แต่ทหารมายึดอำนาจในตอนเย็น) ไม่มีหน่วยปราบจลาจล ไม่มีการสกัดฝูงชนที่ถูกปลุกระดมมา แต่กลับช่วยเปิดทางให้บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์

การยิงทำลายหน่วยรักษาความปลอดภัย ก็เพื่อเปิดทางให้บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์คือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างนองเลือดกลางเมือง ถ้าหากฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฝ่ายนักศึกษาได้ตรึงกำลังตั้งแต่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าโดยไม่มีการปะทะกัน ทั้งยังเตรียมสลายการชุมนุมและมอบตัวอยู่แล้ว

ถ้ารัฐบาลส่งกำลังตำรวจมาและปฏิบัติการเหมือนเมื่อครั้งการประท้วงจอมพลประภาส จารุเสถียร ในเดือนสิงหาคม 2519 เรื่องร้ายแรงก็จะไม่เกิดขึ้น แต่การกระทำที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นชัดว่าเป็นเจตนาต้องการให้เกิดเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์รัฐประหารนั่นเอง แต่การปลุกระดมทำไว้แรงเกินไป คุมไม่ได้ ผลเลวร้ายจึงออกมาประจานคณะรัฐประหาร จนเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก…

 

การปราบและสังหารประชาชน
กรณี เม.ย -พ.ค.2553…

การปราบในปี 2553 ไม่ใช้ตำรวจ แต่ใช้ทหารติดอาวุธ มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก

ผู้บงการก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนเพราะยังไม่มีการสืบสวนเป็นทางการ

การปราบประชาชนในปี 2519 ใช้ระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็หยุด แต่การปราบและเข่นฆ่าประชาชนในปี 2553 เป็นแบบยืดเยื้อ แม้มีคนเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายนจำนวน 26 คน ไม่ได้ทำให้ผู้บงการหยุดคิด ปรับนโยบายว่าจะระงับความขัดแย้งด้วยวิธีสันติอย่างไร

แต่กลับปราบปรามอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมเกือบ 100 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 2,000 คน

ที่เหมือนกันคือทั้งรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ปี 2519 และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2553 เป็นรัฐบาลพลเรือนทั้งสองยุค แต่ไม่มีอำนาจปกครอง และสั่งการได้จริง เพราะมีอำนาจซ้อนที่เข้มแข้งกว่า

 

การดำเนินคดี 6 ตุลา ฟ้องเหยื่อ
แล้วนิรโทษกรรมกลบความจริง

หลังการปราบและสังหารประชาชน 6 ตุลาคม 2519 มีการตั้งข้อหาร้ายแรงกับนักศึกษาประชาชน นำขึ้นศาลในปี 2521 แต่เมื่อสืบพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่แล้ว กลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น เพราะตำรวจเปิดเผยว่าใครมาจากหน่วยไหน? ใครเป็นผู้สั่ง ใช้อาวุธอะไรมาล้อมฆ่านักศึกษา

14 กันยายน 2521 เมื่อสืบพยานถึงผู้เกี่ยวข้องชั้นนายพลถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาแน่ ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลังจึงรีบตัดตอน

15 กันยายน 2521 จึงปิดเกมโดยนิรโทษกรรม

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากที่ประชุมผ่าน 3 วาระในวันเดียว ก็บินไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหาที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่ที่อยู่ในป่าก็ยังรบกันต่อไป จนมีการใช้นโยบาย 66/23 มีผลให้การสู้รบยุติลงในปี 2524 และพวกที่อยู่ป่าก็คืนเมืองเกือบหมดในปี 2525

ปัญหาที่เกิดจากการรัฐประหารในปี 2519 ใช้เวลาในการแก้ปัญหาประมาณ 7 ปี มีคนเสียชีวิตในระหว่างการสู้รบ หลายพันคน แต่ซากช้างก็ยังส่งกลิ่นประจานบาปมาตลอด 45 ปี

 

การล้อมปราบและสังหาร ปี 2553
ฟ้องเหยื่อ แต่ห้ามฟ้องผู้กระทำ

คดีนี้ไม่กล้าใช้กฎหมายนิรโทษกรรมทั้งประชาชนผู้ถูกยิงและเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ให้ฟ้องคนทำผิดในขณะที่ประชาชนถูกฟ้องหลายคดีหลายข้อหา แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากกลับไม่ถูกฟ้องในข้อหาใดๆ เลย โดยใช้ข้ออ้างทางกฎหมาย และพยายามโยนความผิดไปให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ให้เป็นความผิดเฉพาะตน

ใครอยากฟ้องให้ไปหาผู้กระทำความผิดและฟ้องเอาเอง คดีความและการฟ้องร้องเอาผิดผู้สั่งการไม่ได้

เดือนตุลาคม 2556 สมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้อง แต่หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 ยุค คสช. มีการพิพากษายกฟ้อง ส่วน ป.ป.ช.ก็มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้อาวุธโดยไม่สุจริต ก็ให้ฟ้องคนนั้น วันที่คณะรัฐประหารมีอำนาจ… แม้ฆ่าช้างตายไปหลายตัว ก็ไม่ต้องเอาใบบัวมาปิด

แต่วันนี้เห็นคดีของคุณช่อ พรรณิการ์ วานิช ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้โพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสม และถูกศาลชี้ขาดให้ตัดสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

ทำให้คิดว่าคดีที่ร้ายแรงขนาดมีคนตายเกือบร้อยคน บาดเจ็บ 2,000 น่าจะต้องถูกรื้อฟื้นมาดำเนินคดีได้แน่นอน