ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
เป็นเรื่องน่ายินดีที่เมืองโบราณศรีเทพ ถูกยกเป็นมรดกโลก
และยิ่งน่ายินดีขึ้นไปอีก
หากศรีเทพจะทำให้คนไทยมีมุมมองประวัติศาสตร์ของชาติเปิดกว้าง และถูกต้องมากขึ้น
ดังที่ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” พยายามที่ตีฆ้องร้องป่าวมาโดยตลอด
อย่างใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้
สุจิตต์ วงษ์เทศ ย้ำว่า
เมืองศรีเทพมีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก” (ไม่ใช่อย่างที่เราท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทองว่าสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก มากันเนิ่นนาน)
เมืองศรีเทพ มีอายุราว พ.ศ.1000
ส่วนเมืองสุโขทัย มีอายุราว พ.ศ.1700
เป็น พ.ศ.1700 ที่เชื่อว่า หลังจากนั้น เมืองศรีเทพได้ลดความสำคัญลง จนร่วงโรยแล้วรกร้าง
ประชาชนจากเมืองศรีเทพโยกย้ายหลักแหล่งไปอยู่ศูนย์กลางใหม่ที่เมืองอโยธยา พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า
นานไปก็พูดในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย
กล่าวถึงอโยธยาแล้ว
อยากให้ย้อนกลับไปอ่าน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับที่แล้ว (22-28 กันยายน 2566)
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ฟันธงฉับไปแล้วเช่นกันว่า
อโยธยาเก่าแก่กว่าสุโขทัย
โดยมีหลักฐานเริ่มแรกความเป็นมาของอโยธยาราว พ.ศ.1600-1700 พบวรรณกรรมไทยในอโยธยาราว พ.ศ.1778
แต่สุโขทัยมีพัฒนาการหลังจากนั้นราว 100 ปี
แต่ชนชั้นนำสมัยชาตินิยม “คลั่งเชื้อชาติไทย” ต้องการให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย
และทำให้เมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากความทรงจำของไทย
ทั้งที่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อมากกว่า 100 ปีมาแล้วนี้เอง
แล้วถูกสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเพื่อใช้ครอบงำสังคมไทย ผ่านสถานศึกษาทุกระดับ และผ่านสื่อสารพัดทั้งของราชการและของเอกชน ยังมีอิทธิพลสืบเนื่องจนทุกวันนี้
“ประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่เรื่องกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เสมือนเรื่องเล่าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ หมายถึงคิดต่างไม่ได้ หรือคัดค้านไม่ได้ว่าสุโขทัย ‘ไม่ใช่’ แห่งแรก หากละเมิดหรือคิดต่างจะถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน เท่ากับต้องอยู่ยาก”
คือสิ่งที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ยั่วให้คนไทยได้ (กล้า) คิด และได้กล้าแย้ง
การได้กล้าคิด และกล้าแย้ง
จะทำให้เราได้เข้าใจและมีมุมมองประวัติศาสตร์ของชาติใหม่
แน่นอน ย่อมทำให้การมองเมืองศรีเทพ แตกต่างไปจากเดิม
และทำให้คำว่า มรดกโลก มีความหมายยิ่งใหญ่ มากไปกว่า การไปใส่ชุดไทยถ่ายรูปเป็นของที่ระลึกเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนการกระทำของนักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่ผิด
แต่เราจะสามารถต่อยอดคำว่ามรดกโลก ให้ “กว้าง” กว่านั้นได้อย่างไร
นั่นคือคำถาม
อนึ่ง ว่าด้วยเรื่องมุมมองต่อ “ประวัติศาสตร์” แล้ว
อย่าลืมพลิกอ่านคอลัมน์พื้นที่ระหว่างบรรทัด ของ ชาตรี ประกิตนนทการ ที่หน้า 38
ที่นำกิจกรรม “มหาคณปติบูชา” เนื่องในเทศกาลคเณศจตุรถีและวันพิพิธภัณฑ์ไทย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา
มาชี้ชวนให้คิดต่อ
ด้วยศาสตราจารย์ชาตรี มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่มีความน่าสนใจมาก
เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นั่นก็คือ การนำโบราณวัตถุบางชิ้นมาเปลี่ยนความหมายจากศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณ์ (profane space)
มาสู่การเป็นวัตถุหรือรูปเคารพทางศาสนาในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แทน (sacred space)
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ชาตรี ยกงานศึกษาของ Crispin Paine นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยอย่างยาวนานในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างมิติทางศาสนาและพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ มาให้มุมมอง
ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์หลายแห่งเริ่มหันมาสนใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างการเป็นวัตถุจัดแสดงแบบสมัยใหม่กับความหมายดั้งเดิมในฐานะศาสนวัตถุอันศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น
บางแห่งถึงขนาดที่ยอมผ่อนปรนให้มีการแสดงความเคารพและสักการะโบราณวัตถุได้
ซึ่งขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดดั้งเดิมของพิพิธภัณฑ์
อะไรคือเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง
จะพลิกฟื้นให้พิพิธภัณฑ์ก้าวออกมาจากโกดังเก็บของได้หรือไม่
และจะมีผลกระทบในเชิงบวกและลบ
มาร่วมเปิด “พื้นที่ระหว่างบรรทัด” ถกแถลงกันอย่างเปิดกว้างและเสรีเถิด! •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022