ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศได้ข้อสรุปแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นชนวนเหตุให้เกิดพายุใหญ่ มวลน้ำฝนที่ตกถล่มใส่เมืองเดอร์นา ประเทศลิเบียมีมากถึง 50 เท่า นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงที่สุด เวลานี้มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า 11,000 คน และการค้นหาผู้เสียชีวิตใต้ซากปรักหักพังยังไม่จบ
เมืองดาร์นาตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เนียน ประชากรราว 1 แสนคน มีแม่น้ำวาดิเดอร์นาไหลลงสู่ทะเลผ่านกลางเมือง
รัฐบาลลิเบียสร้างเขื่อน 2 แห่งขวางแม่น้ำวาดิเดอร์นาเพื่อใช้ในการเกษตรชลประทาน ระยะห่างระหว่างเขื่อนทั้งสอง 12 กิโลเมตร
ปกติแล้วน้ำในเขื่อนมีน้อยมาก ปริมาณฝนในเดือนกันยายนปีก่อนๆ มีค่าเฉลี่ยแค่ 1.5 มิลลิเมตร (ม.ม.) แต่เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พายุ “แดเนียล” หอบมวลฝนเทใส่ทางตอนเหนือของเขื่อนอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพียง 24 ชั่วโมงวัดปริมาณน้ำฝนได้ 400 มม.
มวลน้ำฝนไหลทะลักลงเขื่อน เขื่อนทำด้วยดินและหินบดอัดที่ขาดการบำรุงรักษารับน้ำไม่อยู่ เขื่อนแตกพังทลายกระแสน้ำซัดกระชากบ้านเรือน ตึกอาคาร สะพาน รถยนต์ ผู้คนในเมืองเดอร์นาเกือบ 1 ใน 4 ของเมือง
สํานักข่าว “บีบีซี” อ้างผลการคำนวณศักยภาพของมวลน้ำในเขื่อนของศาสตราจารย์ลิซ สตีเฟนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศว่า เขื่อนที่อยู่ต้นน้ำเก็บน้ำได้ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และเขื่อนที่อยู่ปลายน้ำลงมาเก็บกักน้ำได้ 22.5 ล้าน ลบ.ม.
1 ลบ.ม.เท่ากับน้ำหนักน้ำ 1 ตัน ถ้าปริมาณน้ำ 1.5 ล้าน ลบ.ม.เท่ากับ 1.5 ล้านตัน
แม่น้ำวาดิเดอร์นาไหลผ่านสันดอนของลิเบียลงสู่ทะเล เมื่อเขื่อนแตกทะลักเท่ากับมวลน้ำบวกกับความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลจากที่สูงจึงเกิดพลังมหาศาล
ประเมินว่า น้ำสูง 6 นิ้วบวกกับความเร็วของกระแสน้ำแรงจัดฉุดกระชากให้คนยืนอยู่ล้มลงได้ น้ำสูง 24 นิ้ว มากพอที่จะซัดรถยนต์ให้ลอยไปตามกระแสน้ำ
ในคืนวันเกิดเหตุ มวลน้ำจากเขื่อนแตกไหลถล่มเมืองเดอร์นา มีน้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร
เพราะฉะนั้น อาคารทั้งหลังจึงถูกมวลน้ำซัดพังไม่เหลือแม้แต่ฐานราก ความแรงของกระแสน้ำซัดซากอาคารกระเด็นไปกองอยู่ชายทะเล
ทีมค้นหาจากนานาประเทศที่ระดมกันมาช่วยกู้วิกฤตเมืองดาร์นายอมรับว่า ไม่เคยเห็นเมืองพังพินาศย่อยยับเช่นนี้มาก่อน บางชุดเคยไปกู้ภัยในเหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ก็ไม่เห็นซากพังยับเยินเท่านี้
ชุดกู้ภัยยังคงค้นหาเหยื่อที่ฝังอยู่ใต้ซากแต่ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ชาวเมืองเดอร์นาบางคนใช้พลั่วและมือเปล่าๆ เขี่ยคุ้ยซากปรักหักพังเพื่อหาครอบครัวญาติมิตร พร้อมกับส่งเสียงร่ำไห้ครวญครางว่า “นี่มันเป็นเหมือนวันสิ้นโลก”
ทำไมผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าโศกนาฏกรรม “ดาร์นา” มาจากเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?
ก็เพราะว่าพายุแดเนียลก่อตัวบริเวณความกดอากาศต่ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อวันที่ 4 กันยายน จากนั้นเคลื่อนตัวเข้าสู่คาบสมุทรบอลข่านทำให้เกิดพายุฝนตกกระหน่ำในประเทศกรีซ บัลแกเรีย และตุรกี เป็นเหตุให้มีน้ำท่วมหนักมีผู้เสียชีวิต 28 คน
ระหว่าง “แดเนียล” พัดผ่านหมู่บ้านซาโกราของกรีซ ฝนตกกระหน่ำหนักมากวัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 1,092 ม.ม. เทียบกับสถิติเดิมๆ ในช่วงเดือนเดียวกันมากกว่า 55 เท่า
พายุแดเนียลเพิ่มระดับความรุนแรงจนกลายเป็นพายุไซโคลนเมื่อพัดมาถึงประเทศลิเบียในวันที่ 9 กันยายน ด้วยความเร็วของกระแสลม 83 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในการศึกษาพบว่า ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส และตลอดช่วงฤดูร้อน พื้นผิวน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ มีผลต่อการยกระดับความแรงของพายุ
พายุแดเนียลก่อตัวในทะเล 4-5วัน จากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งของกรีซอย่างช้าๆ ระหว่างนั้นพายุสูบพลังงานจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลซึ่งร้อนขึ้นจากปกติราว 2-3 เซลเซียส
ความร้อนจากผิวน้ำทะเลเปรียบเสมือนเชื้อเพลิงเร่งปฏิกิริยาให้กระแสลมแรงขึ้นดึงความชื้นจากอากาศมากขึ้น พายุแดเนียลจึงมีมวลน้ำมากกว่าปกติและมีพลังแรงเทียบเท่าพายุไซโคลน
ช่วงเดือนกันยายน การเกิดพายุฝนรุนแรงมีน้อยครั้งมาก โดยเฉพาะที่พายุพัดเข้าสู่ลิเบีย เหมือนอย่าง “แดเนียล” นานๆ จะเกิดขึ้น ราวๆ 300-600 ปีต่อครั้งเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลจึงเป็นตัวชี้วัดพลังพายุ
“เฟดเดอริก ออตโต้” ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศแห่งอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน อธิบายว่า สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน
ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนแผ่กระหน่ำในหลายพื้นที่ไฟป่าและน้ำท่วม ล้วนมีต้นเหตุมาจากภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวโลกจะต้องเผชิญและถูกท้าทายหนักกว่าเดิม
ทั่วโลกมีภูมิอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น เนื่องเพราะชาวโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ศตวรรษ เกิดปฏิกิริยาทางเคมีสะสมทำลายชั้นบรรยากาศ นำไปสู่ภาวะโลกร้อน มีทั้งอากาศแปรปรวน พายุแรงจัด ฝนตกหนักน้ำท่วมรุนแรง อากาศร้อนจัดแล้งหนัก และหนาวจัด
“บีบีซี” จำแนกความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนำไปสู่ภูมิอากาศสุดขั้วมีอยู่ 4 ทาง
1. ร้อนขึ้นกว่าเดิม ระยะเวลาเกิดคลื่นความร้อนยาวนานกว่าเดิม
เมื่อนำสถิติสภาพภูมิอากาศรายวันมาประมวลผลพบว่าปัจจุบันอุณหภูมิแต่ละวันร้อนขึ้นกว่าเดิมและรุนแรงสุดขั้วกว่า
นักวิทยาศาสตร์ยกตัวอย่าง เหตุการณ์เกิดคลื่นความร้อนอย่างรุนแรงทางตอนใต้ของยุโรป ทางตอนใต้ของสหรัฐและเม็กซิโก เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เช่นเดียวกับอุณหภูมิในอังกฤษร้อนทะลุ 40 เซลเซียสในเดือนกรกฎาคมปี 2565 ทำลายสถิติเก่าๆ มาจากภาวะโลกร้อน
2. ภัยแล้งยาวนานขึ้น
พื้นที่ใดมีฝนตกที่นั่นย่อมมีน้ำ แต่ถ้าฝนไม่ตกทิ้งช่วงยาว ภัยแล้งก็เกิดตามมา ส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่ ชาวนาชาวไร่ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ วัวควาย โรงงานไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงกระบวนการผลิต น้ำในแหล่งชลประทานแห้งขอดไม่มีป้อนโรงประปา ผู้บริโภคเดือดร้อนไม่มีน้ำกินน้ำใช้
ฝนไม่ตกเนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หลายๆ ส่วนของโลกเจอกับภัยแล้งรุนแรง อย่างในทวีปแอฟริกา เกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี
3. ไฟป่ารุนแรง
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้อากาศร้อนสุดขั้ว เกิดไฟป่าปะทุในพื้นที่ไร้ฝน อย่างเช่นในแคนาดา เกิดไฟป่ารุนแรงที่สุด ไฟเผาผลาญพื้นที่ป่ากว่า 176,000 ตารางกิโลเมตร
4. ฝนตกหนักน้ำท่วมใหญ่
อุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 เซลเซียส จะทำให้เกิดความชื้นเพิ่มขึ้น 7 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ใดที่มีฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมีมากหลายเท่าตัว
ตัวอย่างล่าสุดเกิดกับเมืองเดอร์นา เป็นโศกนาฏกรรมที่เตือนชาวโลกให้เร่งปรับตัว หาหนทางป้องกันภัยพิบัติและหยุดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเร่งด่วนที่สุด •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022