บรรยาย จนเห็นภาพ : เสถียร โพธินันทะ [ดังได้สดับมา]

สมพร เทพสิทธา อดีตนายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เล่าว่า นอกจากความรอบรู้ในพระพุทธศาสนาแล้ว เสถียร โพธินันทะ ยังมีความรอบรู้ในประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณคดีอีกด้วย

เมื่อ เสถียร โพธินันทะ ยังมีสุขภาพดีอยู่ ทางสมาคมได้จัดทัศนศึกษาพาสมาชิกไปนมัสการปูชนียสถานและชมโบราณสถานทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ในพระนครที่ไปเสมอก็คือวัดพระเชตุพน ต่างจังหวัดที่ไปคือนครปฐมและพระนครศรีอยุธยา

เสถียร โพธินันทะ ได้รับหน้าที่เป็นผู้บรรยายประวัติและเรื่องราวเกี่ยวกับปูชนียวัตถุและโบราณสถาน ปรากฏว่าสามารถบรรยายได้อย่างละเอียดและแม่นยำ

สามารถจำได้แม้กระทั่ง พ.ศ. และชื่อยาวๆ ที่จำได้ยาก

การบรรยายก็ชวนฟังและน่าสนใจ ในบางครั้งก็ได้นำเกร็ดขำๆ มาเล่าให้ฟัง ทำให้ผู้ฟังได้รับทั้งความรู้ ความเพลิดเพลินและความสนุกสนาน

ในปี 2506 สภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติได้จัดให้มีการประชุมทางวิชาการเรื่อง “การสอนจริยศึกษา” โดยเชิญครูสอนวิชาศีลธรรมและผู้แทนยุวพุทธิกสมาคมจังหวัดต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับสอนจริยศึกษามาร่วมประชุม

ในการนี้ได้จัดให้ผู้เข้าร่วมประชุมไปชมปูชนียวัตถุวัดพระเชตุพน โดยมี เสถียร โพธินันทะ เป็นผู้บรรยาย

ปรากฏว่าการบรรยายของ เสถียร โพธินันทะ ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประทับใจและกล่าวยกย่องชมเชย เสถียร โพธินันทะ อย่างมากมาย

ผู้เข้าร่วมประชุมคนหนึ่งถึงกับบอกข้าพเจ้าว่า

“มาเที่ยววัดโพธิ์ถึง 3 ครั้งแล้ว พึ่งจะได้ความรู้อย่างสมบูรณ์เกี่ยวกับวัดโพธิ์วันนี้เอง”

ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนได้มาถามข้าพเจ้าเกี่ยวกับ เสถียร โพธินันทะ ว่า เรียนมาจากไหนและทำงานที่ไหน ทำไมจึงมีความรอบรู้และความจำอย่างดีเลิศเช่นนี้

และเมื่อครั้งที่ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ เสถียร โพธินันทะ ก็ได้บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับพระปฐมเจดีย์ได้อย่างละเอียด แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ประจำองค์พระปฐมเจดีย์ก็กล่าวยกย่องชมเชย และบอกว่าบางเรื่องที่ เสถียร โพธินันทะ เล่านั้นเขาเองก็ยังไม่ทราบ

เสถียร โพธินันทะ ยังสามารถบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ซึ่ง เสถียร โพธินันทะ เองก็ไม่เคยไปได้อย่างละเอียดเหมือนกับว่าเคยไปสถานที่นั้นมาแล้วหลายครั้ง

เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่ฉะเชิงเทรา เสถียร โพธินันทะ ได้พาไปชมวัดจีนแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประจำวัดได้พาเราไปชมห้องต่างๆ เสถียร โพธินันทะ ได้บรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับวัดให้เราฟัง และเมื่อจะเข้าไปชมห้องใดก็บอกให้ทราบก่อนว่าห้องนั้นมีอะไรบ้าง

เจ้าหน้าที่ประจำวัดเกิดความสงสัยว่า ทำไม เสถียร โพธินันทะ จึงรู้เรื่องเกี่ยวกับวัดนี้ดีเหลือเกิน จึงถามว่ามาวัดนี้กี่ครั้งแล้ว

คําตอบจาก เสถียร โพธินันทะ คือ “พึ่งมาเป็นครั้งแรก” เจ้าหน้าที่ประจำวัดจึงถามต่อไปว่า “ทำไมจึงรู้เรื่องวัดนี้ดี”

“อ่านจากหนังสือ” เป็นคำตอบ

“และรู้ว่าวัดนี้สร้างตามแบบวัดเล่งเน่ยยี่ที่กรุงเทพมหานคร จึงรู้ว่าห้องต่างๆ มีอะไร”

สมพร เทพสิทธา เล่าต่อไปว่า เมื่อครั้งที่จีนคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองทิเบตใหม่ๆ ทางสมาคมได้จัดปาฐกถาพิเศษขึ้นที่โรงพยาบาลสงฆ์ในตอนเย็นได้เชิญ เสถียร โพธินันทะ เป็นผู้บรรยายเรื่องพระพุทธศาสนาในทิเบต

ปรากฏว่ามีผู้มาฟังปาฐกถาอย่างคับคั่งจนล้นหลามห้องประชุม และต้องมานั่งข้างล่าง

เสถียร โพธินันทะ ได้บรรยายภูมิประเทศของทิเบต ชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนลาสา นครหลวงอันศักดิ์สิทธิ์ของทิเบตและพระราชวังโปตาลา สามารถบรรยายความวิจิตรพิสดารด้วยสำนวนโวหารอันไพเราะ

บทสรุปจาก สมพร เทพสิทธา ต่อการบรรยายเรื่องทิเบตคือ

จิตรกรผู้สามารถอาจจะใช้ปลายพู่กันสร้างภาพวาดอันวิจิตรให้ประชาชนได้ชมฉันใด เสถียร โพธินันทะ ก็สามารถใช้พรรณนาโวหารสร้างภาพพระราชวังโปตาลาให้ผู้ฟังได้ชมเป็นภาพพจน์ได้ฉันนั้น

เมื่อการแสดงปาฐกถาจบ ผู้ฟังได้ปรบมืออย่างกึกก้องหอประชุม

ได้มีผู้ฟังบางคนมาถามข้าพเจ้าว่า เสถียร โพธินันทะ ได้ไปทิเบตเมื่อใดและอยู่ทิเบตกี่ปี ข้าพเจ้าได้ตอบผู้ถามว่า

“คุณเสถียรไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศเลย”