ศรีเทพ เก่ากว่าสุโขทัย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองศรีเทพมีอายุเก่าแก่กว่า “สุโขทัยราชธานีแห่งแรก” ตั้งอยู่บริเวณชุมทางคมนาคมของดินแดนภายในระหว่างแม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำโขง-ชี-มูล, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชุมทางรับ-ส่งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างลุ่มน้ำมูล บนที่ราบสูง กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา บนที่ราบลุ่มต่ำ

[เมืองศรีเทพ ราว พ.ศ.1000 เมืองสุโขทัย ราว พ.ศ.1700]

เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองศรีเทพ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร เป็นหลักฐานความเชื่อสมัยหลังเรื่องภูเขาทองทั้งที่อยุธยาและกรุงเทพฯ (เขาถมอรัตน์ หมายถึง เขาหินแก้ว, ถมอ แปลว่า หิน, รัตน แปลว่า แก้ว)

ก่อนศรีเทพ

มีชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกทำนาทำไร่ “ข้าวเหนียว” เลี้ยงสัตว์ นับถือศาสนาผี มีแหล่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เขาถมอรัตน์ (เขาหินแก้ว) ราว 3,000 ปีมาแล้ว

ไม่อยู่โดดๆ เพราะมีเครือข่ายกว้างขวางถึงชุมชนคราวเดียวกันอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่

ชุมชนลำตะคอง บริเวณที่ราบสูง (ต่อไปจะเป็นเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)

ชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่ม (ต่อไปจะเป็นเมืองละโว้ อ.เมือง จ.ลพบุรี)

เริ่มแรกชุมชนอยู่บนเส้นทางการค้า “ทองแดง” ข้ามภูมิภาค เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรม “สุวรรณภูมิ” ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ.500

ทองแดงจากแหล่งใหญ่ลุ่มน้ำโขง ขนผ่านลุ่มน้ำป่าสักไปทางทิศตะวันตก ผ่านที่ราบลุ่มดอนไปลงแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง แล้วข้ามช่องเขาลงไปอ่าวเมาะตะมะถึงอินเดีย

เริ่ม “ทวารวดี” ศรีเทพ

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย แผ่ไปกับการค้าขยายตัวมากขึ้นถึงชุมชนเมืองบริเวณชุมทางป่าสัก ผสมศาสนาผี รวมเป็น ผี-พราหมณ์-พุทธ ราว พ.ศ.1000

จัดระเบียบสังคมที่มีคนหลายชาติพันธุ์ ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู ฯลฯ แล้วเกณฑ์แรงงานขุดคูน้ำคันดินมี 2 ส่วน

1. รูปกลม (เมืองใน) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) และคุ้มหลวงของชนชั้นนำ

2. รูปรียาว (เมืองนอก) เป็นพื้นที่ทั่วไป เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของเครือข่ายชนชั้นนำ

เครือข่ายศรีเทพ ได้แก่ ชุมชนลำตะคอง และชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี ก็มีคูน้ำคันดิน ลักษณะ 2 ส่วนเหมือนกัน

ประชาชน กินข้าวเหนียว มีกับข้าว “เน่าแล้วอร่อย” คนหลายชาติพันธุ์พูดหลายชาติภาษา ได้แก่ มอญ-เขมร, มลายู-จาม, ไท-ไต (ไม่ไทย) และมีจากอินเดีย, จีน

ทวารวดีศรีเทพ และเครือข่ายละโว้-เสมา พบในเอกสารจีน (ของพระถังซัมจั๋ง) ว่า “โตโลโปตี” หมายถึง “ทวารวดี”

[“ทวารวดี” อยู่นครปฐม เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนอันเกิดจากอคติทางวิชาการโบราณคดีไทย เพราะหลักฐานจีนระบุตำแหน่งบริเวณศรีเทพ-ละโว้]

ประติมากรรม ในศรีเทพมีเทวรูปและพระพุทธรูป แต่ที่สำคัญมากคือพระนารายณ์, พระสุริยเทพ, พระกฤษณะ (เจ้าเมืองทวารวดีในคัมภีร์อินเดีย) ในละโว้มีจารึกเอ่ยนาม “วาสุเทพ” เป็นบรรพชนของพระกฤษณะแห่งทวารวดี

ชาวเมือง “ทวารวดี” ศรีเทพ “ไม่ไทย” แต่เป็นบรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง [ภาพเมืองศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (จาก Facebook เพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)]

เริ่มวัฒนธรรมขอม

คนพูดภาษาเขมรมีอำนาจในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือบริเวณเมืองศรีเทพ-เมืองละโว้ ถูกคนอื่นเรียกว่า “ขอม” เชื่อมโยงอำนาจกับรัฐทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา หลัง พ.ศ.1500

สร้างพระปรางค์ไว้กลางเมืองศรีเทพ (คราวเดียวกับปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทเมืองศรีสะเกษ ลุ่มน้ำมูล) และมีปรางค์สองพี่น้อง ฯลฯ

[ต่อไปข้างหน้าพระปรางค์เมืองศรีเทพจะเป็นต้นแบบให้พระปรางค์เมืองละโว้ และเมืองอโยธยา-อยุธยา สืบมาด้วยการประสมประสานปรางค์อื่นๆ จนเป็นพระปรางค์วัดอรุณฯ กรุงเทพฯ]

ปรางค์ประธานเมืองศรีเทพ เป็นต้นแบบพระปรางค์ในอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ เป็นหลักฐานความสืบเนื่องของวัฒนธรรมเมืองศรีเทพถึงประเทศไทยทุกวันนี้ (ภาพจากทอดน่องท่องเที่ยว เมื่อ พ.ศ.2562)

หลังศรีเทพ

ลักษณะการค้าเปลี่ยนแปลงจึงมีศูนย์กลางใหม่ใกล้ทะเลสมุทรอ่าวไทยที่อโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมืองศรีเทพกับเมืองเสมาลดความสำคัญลง จนร่วงโรยแล้วรกร้าง ราวหลัง พ.ศ.1700

ประชาชนจากเมืองศรีเทพโยกย้ายหลักแหล่งไปอยู่ศูนย์กลางใหม่ที่เมืองอโยธยา พูดภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้า นานไปก็พูดในชีวิตประจำวัน แล้วกลายตนเป็นไทย •