ตลาดพลู

พิชัย แก้ววิชิต

ความเป็นตลาดพลู แม้จะต่างไปจากตลาดค้าพลูเหมือนเมื่อครั้งอดีตไปบ้าง ถึงแม้ว่าผู้คนจะได้ละทิ้งการเคี้ยวหมากเคี้ยวพลูไปนานแล้ว แต่อาหารการกินยังคงอยู่คู่ปากท้อง ท้าทายกาลเวลา และเชื้อเชิญให้ผู้คนมาเยือน พิสูจน์ความอร่อยจากตำนานจานเด็ด มาฝั่งธนฯ อย่าทนหิว ของกินย่านตลาดพลูพร้อมเสิร์ฟอยู่ทุกเช้าค่ำ

การมาย่านตลาดพลูในครั้งนี้ เรื่องเด่นอีกประเด็นหนึ่ง เมื่อผมได้มีโอกาสเดินทางมา “ไหว้พระไหว้เจ้า” และเรื่องราวที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนของย่านตลาดพลู กับ “มุมเร้นที่จะไม่ลับอีกต่อไป”

การมาร่วมเดินเที่ยวไปกับกิจกรรม MIC Walking Trip ในตอนที่มีชื่อว่า “ไหว้ซำปอกง ซอกแซกศาลเจ้า ย่านตลาดพลู”

โดยได้ อ.ปริวัฒน์ จันทร ผู้เขียนหนังสือ เจิ้งเหอแม่ทัพขันที “ซำปอกง” พานำชมและบรรยาย ไปตามจุดหมายปลายทางของการเรียนรู้ “บนเส้นทางสายประวัติศาสตร์ของย่านตลาดพลู”

 

เริ่มกันที่ วัดอินทราราม (วัดบางยี่เรือนอก) วัดประจำรัชกาลกรุงธนบุรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ที่ใช้เป็นที่ประกอบพระราชกุศลสำคัญๆ ในสมัยนั้น หยุดยืนฟังเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของความเป็นตลาดพลูเพียงครู่ จากนั้นเดินทางไปต่อยัง “ตลาดวัดกลาง” ผ่านซอยเล็กๆ ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และขนมจีนน้ำยากะทิ และหอมอื่นๆ อีกชวนให้หิว เพียงอึดใจก่อนที่จะถึงตลาด ก็มาพบกับสะพานในตำนานของย่านตลาดพลู

“สะพานรักแห่งตลาดพลู” ที่มีนามว่า “สะพานสมบูรณ์” อนุสรณ์ความรักที่สร้างขึ้นโดย นายกิม คูสิริ สร้างอุทิศให้ นางสมบูรณ์ ผู้เป็นภรรยา เป็นสะพานปูนเล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2475 เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้คนได้ใช้ “สะพานแห่งความรักนี้” ข้ามสัญจรไปมาด้วยความสะดวกระหว่างวัดกับตลาด

เมื่อถึง “ตลาดวัดกลาง” ที่เป็นตลาดใหญ่เก่าแก่ในย่านตลาดพลู แวะนั่งสักพักที่ร้าน “สุริยากาแฟ” ร้านกาแฟโบราณริมคลองบางกอกใหญ่ วิวสวยๆ ริมน้ำกับรสชาติที่กระตุ้นให้ตื่นได้ไม่ยาก

เพลินๆ กันไปจนสมควรแก่เวลา จึงพากันเดินเข้าวัดที่อยู่ไม่ห่างตลาดเป็นจุดต่อไป

เรื่องราวความเป็นอยู่ของตลาดพลูมีมาอย่างยาวนาน รสชาติชีวิตที่ไม่แพ้รสชาติอาหาร จะยังคงอิ่มเอมกับประวัติศาสตร์สังคมที่ยังมีลมหายใจของผู้คนในย่านตลาดพลู / เทคนิค : F.8 1/640s ISO100 / สถานที่ : วัดขุนจันทร์ ตลาดพลู กรุงเทพฯ

“วัดจันทารามวรวิหาร” (วัดกลางตลาดพลู) เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบจีนที่งดงาม แฝงไปด้วยความหมายตามคติความเชื่อ ชวนให้ตีความตามวิจิตรศิลป์ นอกจากนี้ ยังมีพระปางห้ามสมุทรแบบครึ่งซีกทำด้วยไม้สักที่หาชมได้ยาก

“รอยพระพุทธบาทในย่านตลาดพลู” เมื่อมาถึงวัดราชคฤห์ (วัดมอญ, วัดบางยี่เรือมอญ) เดินขึ้นเขามอของวัด เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระยาคลัง (หน) ได้บูรณปฏิสังขรณ์ ให้มีลักษณะสำคัญต่างๆ เหมือนกับลักษณะของพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี

ภายในวิหารน้อยยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แปลกใจได้อีก กับ “หลวงพ่อนอนหงาย” (ปางถวายพระเพลิง) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา

ด้วยท่าที่นอนหงายดูสบายตา ก็มีบ้างที่ชาวบ้านมักจะเรียกหลวงพ่อ อีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อสบายใจ”

 

ก่อนถึงเวลามื้อเที่ยงเล็กน้อย แวะกันที่ “บ้านตลาดพลู” โฮสเทลตึกเก่าอายุ 100 ปี ที่ได้รู้และเข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ในย่านตลาดพลู จากคุณอรพิน วิไลจิต เจ้าของที่พักอย่างละอียด

เมื่อเติมความอิ่มใส่ท้องเป็นที่เรียบร้อยออกจาก “ร้านเต็กเฮง” ในช่วงบ่ายของวัน พากันเดินซอกแซกไหว้สักการะศาลเจ้าเก่าแก่ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนในย่านตลาดพลูและใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มจากศาลเจ้าพ่อกวนอู (ซอยเทอดไท 22) ศาลเจ้าพ่อเห้งเจีย (ซอยเทอดไท 26)

“หลวงพ่อโตซำปอกง” ภายในวัดขุนจันทร์ ประวัติการสร้างที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยกับเรื่องราวการเดินทางมาของแม่ทัพเจิ้งเหอและชาวจีนจำนวนไม่น้อย ที่ผมอยากป้ายยาให้อ่านต่อในหนังสือของ อ.ปริวัฒน์ จันทร เพราะเรื่องราวความเป็นอยู่ตลาดพลูมีมาอย่างยาวนาน รสชาติชีวิตที่ไม่แพ้รสชาติอาหาร จะยังคงอิ่มเอมกับประวัติศาสตร์สังคมที่ยังมีลมหายใจของผู้คนในย่านตลาดพลู

ขอขอบคุณผู้นำชม เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ร่วมเดินทาง ทีมงาน MIC ทุกๆ ท่าน และมิตรรักนักอ่าน

ขอบคุณมากมายครับ •

 

เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต