จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 22-28 ธันวาคม 2560

จดหมาย

0 รองเท้า

ด้วยคอลัมน์ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจของหนุ่มเมืองจันท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 ธันวาคม 2560 (ฉบับที่ 1946)
เรื่อง “ความรู้ ที่แท้จริง”
ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเซลส์แมน หรือพนักงานขายรองเท้า 2 คน
ความว่า
“วันก่อน ผมเปิดดู line ห้องต่างๆ ก่อนเข้านอน
จิวส่งรูป ข้อความในหนังสือ ‘ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่’ เข้ามา
เป็นเรื่องบริษัทรองเท้าในอิตาลี 2 แห่ง ส่งเซลส์แมนไปเกาะแห่งหนึ่ง สิ่งที่ทั้งคู่เจอคือ คนในเกาะ ไม่มีใครใส่รองเท้าเลย
เรื่องนี้เป็นนิทานการตลาด ที่มีการเล่าต่อกันมานาน
แต่ผมเปลี่ยนตอนจบใหม่
ขออนุญาตเล่าซ้ำจากหนังสืออีกครั้ง
…เซลส์คนแรก วิ่งไปโทรศัพท์บอกเจ้านาย
‘นายครับ ไม่ต้องมาอีกแล้วครับ คนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย’
คนที่สอง วิ่งไปโทรศัพท์กลับไปบริษัทเหมือนกัน
เขาบอกเจ้านายด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
‘นายครับ โอกาสขายมีมากเลยครับ เพราะคนในเกาะไม่มีใครใส่รองเท้าเลย’
เกาะเดียวกัน คนไม่ใส่รองเท้าเหมือนกัน แต่เซลส์ 2 คน คิดไม่เหมือนกัน
คนหนึ่งเห็น ‘ปัญหา’ คนหนึ่งเห็น ‘โอกาส’
เรื่องที่ผมเคยได้ยินมา จบแค่นี้”
เลยต้องมีจดหมายมาถึงบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์ และคุณหนุ่มเมืองจันท์

1 นิทานการตลาดเรื่องนี้ มีที่มาที่ไป
เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมานานมากแล้ว จนกลายเป็นตำนาน (ลอกกันไป ลอกกันมา เล่ากันไป เล่ากันมา)
แล้วใส่สีตีไข่ ตามสไตล์ของแต่ละคน ทั้งคนเล่า คนฟัง

2 มีข้อเท็จจริงว่า นิทานหรือตำนานเรื่องนี้ โทมัส เจ. บาจา ลูกชาย โทมัส บาจา ซีเนียร์ ผู้ก่อตั้งโรงงานทำรองเท้า BATA ที่เราคุ้นเคยกันดี
ได้เขียนเล่าเอาไว้ในหนังสือ Bata : Shoemaker to the world ในบทที่ 11
ซึ่งผมและคุณพรพรรณ เอ็งอุทัยวัฒน์ ได้เแปลและเรียบเรียง ตำนานบาจา ราชารองเท้าของโลก (สำนักพิมพ์แสงดาว : 2556) เอาไว้ใน “โฉมหน้าอันหลากหลายของแอฟริกันแดนฝัน”
มีเกร็ดอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ได้กลายเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานบาจา ว่า
พนักงาน 2 คน ถูกบริษัทส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปสำรวจความเป็นไปได้ของตลาดที่จะขายรองเท้าในแอฟริกา
พนักงานขายคนที่หนึ่ง โทรเลขกลับมารายงาน มีใจความว่า
“ที่นี่ไม่มีใครใส่รองเท้าเลยสักคน ขอเดินทางกลับบ้านโดยเร็วที่สุด”
แต่อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์บาจาขนานแท้ โทรเลขส่งข่าวกลับมาที่แตกต่างจากพนักงานขายคนแรกอย่างสิ้นเชิง ว่า
“ที่นี่ทุกคนเดินเท้าเปล่า” เขาแจ้งสำนักงานใหญ่
“การขายรองเท้าบาจา มีโอกาสมากมายมหาศาล รีบส่งรองเท้าไปให้ด่วน”
เรื่องเล่านี้ ถึงจะไม่มีหลักฐานอะไรยืนยัน
แต่ก็ดูมีเหตุมีผลพอสมควร เพราะในช่วงทศวรรษ 1940 นั้นมันก็เหมือนกับที่ซลีน (Zlin) ในยุคแรกๆ
ถึงแม้ยุคนั้น หมอสอนศาสนาจะได้โน้มน้าวให้ผู้ที่เลื่อมใสในศาสนาคริสต์ รู้จักนุ่งห่มร่างกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์
แต่พวกเขาก็ไม่ได้มองว่า การเดินเท้าเปล่านั้นเป็นเรื่องไม่สุภาพเรียบร้อย หรือไร้อนามัยแต่อย่างใด

3 บริษัทรองเท้าในท้องเรื่อง น่าจะเป็นบาจา ประเทศเชโกสโลวะเกีย (ย้ายไปอยู่แคนาดา) มากกว่ารองเท้าอิตาลี
ตลาดที่ส่งเซลส์แมนไปขายรองเท้านั้น ก็น่าจะเป็นทวีปแอฟริกา มากกว่าเกาะ
เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล และเป็นช่วงที่ประเทศมหาอำนาจกำลังขยายกองทัพเข้ายึดครองอยู่แล้ว
หรือแม้ว่าจะเป็นเกาะ หรือแอฟริกา ก็น่าจะเป็น “โทรเลข” มากกว่า “โทรศัพท์” (ปี 1940/พ.ศ.2483)

4 เรื่องราวนิทานที่เล่าขานกันต่อๆ มาจนกลายเป็นตำนานนั้น มักจะไม่มีต้นตอ หรือข้ออ้าง เป็นหลักฐาน
แต่ตำนานบาจา บอกได้ชัดเจนว่า “…แต่อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์บาจาขนานแท้…” จึงน่าจะพอรับฟังได้
หากจะมีใครเอาตำนานบาจา หรือตำนานการตลาดการขาย เรื่องนี้ไปเล่าต่อๆ กัน ก็จะเป็นประโยชน์
เพราะสามารถสืบค้น อ้างอิง เป็นหลักฐานได้ครับ
ไพบูลย์ สำราญภูติ

แนบสำเนาภาษาอังกฤษที่ ไพบูลย์ สำราญภูติ เคยแปลมาด้วย
เลยถ่ายให้อ่านและพิจารณา
และคิดว่า บาจาเองก็คงไม่ได้ประโยชน์จากการโฆษณาอะไรสักเท่าไหร่
การอ้างอิง สืบค้น แหล่งที่มา น่าจะเป็นประโยชน์ “ที่มาที่ไป” ของเรื่องมากกว่า
โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ที่ปัจจุบันมี “ข้อมูลนิรนาม” จำนวนมาก
ไม่รู้ว่ามาจากไหนบ้าง