คลองถนนตรง

ปริญญา ตรีน้อยใส
ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อ พ.ศ. 2489 ด้านซ้ายมือของภาพจะเป็นคลองถนนตรง (ปัจจุบันถมไปแล้ว กลายเป็นถนนพระราม 4 ขาเข้า มุ่งหน้าสู่เยาวราช)

เคยเล่าขานถึงความคดเคี้ยวของแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงปลายก่อนจะถึงปากน้ำอ่าวไทย จนเป็นที่มาของคลองลัดธรรมชาติ (คลองช่องนนทรี) และคลองขุด (ลัดโพธิ์)

มองบ้านมองเมืองฉบับนี้ จะพาไปมองคลองลัด ที่ขุดขึ้นใหม่อีกคลองหนึ่ง ที่น่าจะเป็นผลมาจากการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ในปี พ.ศ.2398 ส่งผลให้มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาค้าขายในพระนครมากขึ้น จำนวนเรือน้อยใหญ่สัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

เป็นเหตุให้ชาวต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ร่วมกันลงชื่อในหนังสือถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ้างถึงความลำบากในการเดินเรือเข้ามากรุงเทพฯ ว่าในหน้าน้ำหลาก น้ำจะไหลเชี่ยวแรง กว่าจะเข้ามาถึงพระนครได้ ต้องเสียเวลานานหลายวัน

จึงเสนอให้ขุดคลองลัด จากบางนาถึงคลองผดุงกรุงเกษม โดยสัญญาว่า จะโยกย้ายไปตั้งห้างร้านบ้านเรือนกันที่บางนา

ซึ่งเรื่องการย้ายถิ่นที่อยู่นี้ ทำให้เหล่าเสนาบดีต่างเห็นพ้องในด้านความมั่นคง ที่คนต่างด้าวย้ายถิ่นฐานไปอยู่ไกลจากพระนคร

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นนายงาน จ้างจีนขุดคลอง ตั้งแต่หน้าป้อมผลาญไพรีราบ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้ทางแยกคลองช่องนนทรี ไปถึงคลองพระโขนง โดยปรับแนวคลองพระโขนง ให้ทะลุถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

คลองขุดนี้กว้าง 6 วา ลึก 6 ศอก และยาว 207 เส้น (8,280 เมตร) ค่าจ้างจีนขุดคลองและทำถนนเส้นละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง รวมเป็นเงิน 207 ชั่ง 18 ตำลึง 1 บาท (16,633 บาท)

การขุดคลองในครั้งนั้น ได้นำวิธีส่องกล้องแบบฝรั่งมาใช้ ทำให้แนวคลองเป็นเส้นตรง เมื่อนำดินที่ขุดขึ้นมาถมริมฝั่งคลอง อัดแน่นจึงกลายเป็นทางดิน ชาวบ้านจึงอาศัยเป็นทางสัญจรไปมา โดยเฉพาะฝรั่งพากันมาขี่ม้า จึงเรียกขานทางดินนี้ว่า ถนนตรง

ถนนตรงน่าจะเป็นถนนสายแรกในพระนคร แต่เมื่อเป็นทางดินที่ได้มาจากการขุดคลอง ซึ่งต่างไปจากถนนเจริญกรุง ที่มาจากการวางแผนและก่อสร้างถนน

ถนนเจริญกรุง จึงนับเป็นถนนสายแรกของประเทศไทย

สําหรับคลองที่ขุดขึ้นนี้ มีการเรียกขานว่า คลองถนนตรง แต่ชาวบ้านมักจะเรียกขานสั้นๆ ว่า คลองตรง

ยังมีการเรียกขานว่า คลองวัวลำพอง ตามพื้นที่เดิม คือ ทุ่ง (เลี้ยง) วัวลำพอง เลยกลายมาเป็น คลองหัวลำโพง ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อขุดคลองถนนนตรง แล้วเสร็จ ชาวยุโรปที่เคยร้องเรียนขอคลองและถนนกลับไม่ย้ายไปอยู่ ดังความที่ว่าไว้ในพระราพงศาวดารที่ระบุว่า

…ครั้นคลองเสร็จแล้ว พวกชาวยุโรปก็ไม่ลงไปอยู่ที่บางนา

ท่านเจ้าพนักงานต่อว่า ก็ว่าไกลนัก จะขออยู่ที่เดิม…

มาถึงตอนนี้ หลายคนคงสงสัยว่า คลองตรงหรือคลองถนนตรงนี้ อยู่ตรงไหน ขอเฉลยว่า คือ ถนนพระราม ที่สี่ และถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ ในปัจจุบัน

ส่วนคลองที่ขุดขึ้นมา เพื่อเป็นคลองลัดจากปากคลองพระโขนง มาถึงคลองผดุงกรุงเกษมนี้ไม่ปรากฏให้เห็น เพราะถูกถมกลายเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่มีการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน จนต้องสร้างสะพานลอยข้ามแยกไทยญี่ปุ่น และไทยเบลเยียม ส่วนพื้นที่ใต้ถนน ยังมีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ และทางรถไฟฟ้าใต้ดิน ไปถึงคลองเตย

และอีกไม่นาน แนวคลองตรงนี้ จะมีบทบาทเป็นแนวแกนธุรกิจตะวันออก เมื่อโครงการวันแบงคอก และดุสิตเซ็นทรัลปาร์ค แล้วเสร็จ •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส