นิ้วกลม : เหวี่ยงกำปั้นอย่างไรไม่ให้โดนจมูก

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1
“เวลาเราทำผิดกฏนิดๆ หน่อยๆ แต่ไม่เดือดร้อนคนอื่น มันเป็นเรื่องตื่นเต้น ท้าทาย และสนุกดี” ฟิลลิป ป์ เปอร์ตีต์-นักไต่ลวดชาวฝรั่งเศสพูดไว้ใน Man on Wire สารคดีเล่าเรื่องภารกิจบ้าดีเดือดที่เขาและเพื่อนๆ ลักลอบกันขึ้นดาดฟ้าตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เพื่อขึงลวดระหว่างสองตึกซึ่งสูงเสียดฟ้าแล้วเดินไต่ลวดข้ามไปมา คุกเข่า เอนหลังนอนบนลวด เดินหน้า ถอยหลัง อยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างชีวิตกับความตายเป็นเวลาสี่สิบห้านาที

จากพื้นดินด้านล่างมองขึ้นไป ชาวเมืองนิวยอร์กเห็นนักไต่ลวดบ้าเลือดในขนาดเล็กยิ่งกว่าเข็มหมุด ความสูงระดับนั้น แค่จินตนาการว่าจะขึ้นไปเดินกลางอากาศก็บ้าแล้ว แต่ฟิลลิปป์ เปอร์ตีต์ทำ และทำสำเร็จ

ก้าวสุดท้ายจากเส้นลวดเสี่ยงตายสู่ดาดฟ้าอาคาร เขาก้าวเข้าสู่อ้อมแขนของตำรวจที่รอจับกุมเขาด้วยข้อหาบุกรุกเข้าอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังไม่ต้องนับว่าสร้างความวุ่นวายให้ผู้คนใจหายใจคว่ำ ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่

ในมุมตำรวจ เขาคือผู้ต้องหา ในมุมชาวเมืองนิวยอร์กที่ยืนแหงนหน้าคอตั้งบ่าลุ้นจนหายใจไม่สะดวกในเช้าวันนั้น เขาคือฮีโร่ คือผู้กล้า คือนักแสดงโชว์อันตื่นตาน่าประทับใจ และในมุมของเขาเองนั้น เขาคิดว่านี่คือโชว์ที่มหัศจรรย์ที่สุดในชีวิต

ระหว่างอยู่บนยอดตึกวันเวิลด์-อาคารที่สร้างขึ้นมาทดแทนตึกแฝดซึ่งถูกก่อวินาศกรรมเครื่องบินชนตึกในวันที่ 11 กันยายน 2001 ในความสูงระดับนั้น ผมจินตนาการถึงการเดินไต่ลวดแล้วพบว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่น่ามีมนุษย์คนไหนคิดจะทำได้ ความคิดความฝันของมนุษย์นั้นไม่มีเพดานจริงๆ เช่นกันกับจินตนาการที่คิดจะขับเครื่องบินสองลำชนอาคารสองหลังในเช้าอันแสนเศร้าวันนั้น

มนุษย์ที่เดินสวนกับเรานั้นคาดเดาไม่ได้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าในหัวของเขาคิดอะไรอยู่ วางแผนสิ่งใดไว้ในใจ ผมทอดสายตาออกไปในมหานครที่เนืองแน่นไปด้วยอาคารสูง เมืองที่ผู้คนมีความหลากหลายราวกับรวมโลกทั้งใบไว้ที่นี่ หันไปทางขวามือเห็นเกาะที่มีเทพีเสรีภาพยืนชูคบเพลิงราวกับจะยืนยันในความเชื่อที่ชาวเมืองยึดมั่นมาตลอด ดินแดนแห่งเสรีภาพ ดินแดนแห่งโอกาส จึงไม่แปลกที่นิวยอร์กจะเป็นดินแดนแห่งความฝันของทั้งคนที่อยู่ที่นี่และเดินทางมาตามฝัน

ว่าแต่-เสรีภาพคืออะไร

แล้วเสรีภาพของเราจะกระทบเสรีภาพของคนอื่นไหม

2
หมี-คือเพื่อนถาปัดที่มาอยู่นิวยอร์กสิบปีแล้ว วันนี้หมีพาเอพริล-ภรรยาชาวไต้หวันมาด้วย พวกเรานัดเจอกันด้วยความคิดถึง คุยเฮฮาจิปาถะ ผมถามเอพริลว่าชอบอะไรที่นี่ เธอตอบว่า “เสรีภาพ” และขยายความว่า “คุณรู้สึกไหมละ เวลาอยู่ที่นี่คุณจะรู้สึกว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ ทำแล้วไม่รู้สึกว่ากำลังถูกจ้องมอง เอาไม้บรรทัดวัด ไม่รู้สึกว่ากำลังจะถูกตัดสินจากคนอื่นว่าทำอะไรผิด ตราบที่คุณไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คุณจะทำอะไรก็ได้ เพราะคนมันหลากหลายมากเสียจนเราก็เป็นแค่หนึ่งความแตกต่าง ไม่ได้โดดออกมาจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าเป็นที่ไต้หวันจะรู้สึกเลยว่า ทำแบบนี้จะถูกมองยังไง จะโดนด่าไหม มีใครไม่ชอบหรือเปล่า คุณก็น่าจะรู้สึกคล้ายๆ กันที่ไทยใช่ไหม” ผมเคี้ยวพิซซ่าแล้วนั่งฟังต่อ ไม่ได้ตอบอะไร

เอพริลกับหมีเล่าให้ฟังแล้วพอจับใจความได้ว่า ความรู้สึกที่ว่านั้นเกิดขึ้นจากบรรยากาศ ผู้คน และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายเสียจนไม่มีความถูกต้องหนึ่งเดียว ครั้นจะมานั่งจับผิดตัดสินกันก็คงเหนื่อยและตลก เพราะหากระแสหลักหรือสิ่งที่ถูกที่ควรได้ยาก คนที่อยู่ที่นี่จึงไม่รู้สึกว่าต้องแต่งตัวสไตล์ไหน ต้องฟังเพลงแนวไหน ต้องมีความคิดแบบไหน จึงจะถูกต้อง

อีกอย่างที่ผมว่าคนไทยและไต้หวันเหมือนกันคือเราเป็นสังคมครอบครัว ผู้คนในสังคมเวลามองกันและกันนั้นมีความรู้สึกเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน จึงอยากให้คนในสังคมมีพฤติกรรมและความคิดคล้ายๆ กัน หากใครหลุดไปจากสิ่งที่ ‘คนส่วนใหญ่’ ทำกันคิดกันก็จะรู้สึกแย่กับคนนั้น เหมือนผิดหวังที่คนในครอบครัวไม่เชื่อฟังครอบครัว ขณะที่สังคมในเมืองอย่างนิวยอร์กนั้นเป็นสังคมปัจเจก ตัวใครตัวมัน ทางใครทางมัน แต่ละคนมีเส้นทาง รสนิยม ความชอบ ความเชื่อของตัวเอง ลูกก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนพ่อ พี่ไม่ต้องเหมือนน้อง ญาติไม่ต้องเหมือนกัน เพื่อนก็เคารพความต่างของเพื่อน เป็นแบบนั้นกันจนชิน จึงไม่ตกใจในความแตกต่างนัก

แต่ใจเย็น ชีวิตความเป็นอยู่ในนิวยอร์กไม่ได้สวยงามไร้รอยต่อทอเต็มผืนหลับเต็มตื่นขนาดนั้น หมีรีบเตือนว่า “แต่มึงต้องแยกออกจากกันนะ ระหว่างเสรีภาพกับการไม่เหยียดคนอื่นเนี่ย” หมีบอกว่าก็จริงที่เรารู้สึกได้ถึงเสรีภาพระหว่างใช้ชีวิตที่นี่ แต่ถ้าอยู่นานพอก็จะได้สัมผัสถึงแง่มุมสารพัดที่ผู้คนเหยียดกันไปมา

ใครเหยียดใครบ้าง ผมโยนคำถาม “เหยียดแม่งหมดแหละ” หมีตอบ “ขาวเหยียดดำ ดำเหยียดเอเชีย เอเชียเหยียดลาติน ไม่ใช่ว่าไม่มี เรื่องแบบนี้มีอยู่ตลอดเวลา ในหลายลักษณะ แต่คนมันมาอยู่รวมกันเยอะๆ แล้วมันก็หาวิธีที่จะรับมืออาการเหล่านี้กันไปเอง แต่ละคนก็มีวิธีที่จะอยู่กันไปโดยไม่ต้องปะทะกัน”

หมีเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งเอพริลแต่งตัวด้วยสีสันสนุกสนานแล้วเดินสวนกับผู้หญิงผิวขาวผมบลอนด์คนหนึ่ง เธอหันมามองเอพริลแล้วพูดว่า “Stupid!” ทั้งคู่เคยไปซื้อขนมในงานเทศกาล คนขายเป็นชาวอิตาเลี่ยนแกล้งทำเป็นมองไม่เห็น ไม่ตอบคำถามเมื่อถามราคา หูทวนลมเห็นเป็นอากาศ ผมฟังทั้งคู่เล่าเรื่องมาตลอดวันกระทั่งเจอกับตัวเองในร้านบาร์บีคิวที่ขายดีจนต้องเบียดกันกิน บนม้านั่งเหมือนโรงอาหาร ชิงชิง-คนใกล้ตัวผมหันไปบอกหญิงสาวฝรั่งผิวขาวให้ช่วยกระเถิบไปอีกนิด เธอหันมามองพวกเราด้วยใบหน้าสุดเซ็ง ขณะที่พอมีฝรั่งอีกกลุ่มหนึ่งมาขอนั่งเธอกลับยิ้มแย้มและพูดคุยด้วยอย่างดี แน่ล่ะ เรื่องแค่นี้ไม่สามารถนำมาตัดสินคนให้อยู่ใน ‘กล่อง’ หรือ stereotype แบบใดแบบหนึ่งได้ พูดเชยๆ ก็ต้องบอกว่าทุกชาติทุกภาษาทุกสีผิวมีทั้งคนนิสัยดีและไม่ดี แต่เพื่อนซึ่งอยู่ที่นี่มาสิบปียืนยันว่าพบเจอสิ่งเหล่านี้เป็นประจำ ไม่มีใครดีไปกว่าใคร เพราะทุกคนเหยียดกันทั้งนั้น

“แต่มันก็อยู่ร่วมกันได้นะ” หมีขยายความ “กูเล่าให้ฟังเพราะอยากจะบอกว่ามันไม่ได้สวยงามเลิศเลอ แต่มันก็ไม่ได้แย่ มันก็รู้สึกว่าเรามีเสรีภาพจริง แต่คนก็ไม่ได้ยอมรับไปเสียทุกอย่าง”
ผมชอบคำนั้น ‘อยู่ร่วมกันได้’ ใช่แหละ เราอาจไม่ได้ถูกใจกันไปเสียทุกเรื่อง แต่สุดท้ายมันก็ต้องอยู่กันไปแบบนี้ในเมืองเดียวกัน

นิวยอร์กเป็นเมืองที่ทุกสิ่งพร้อมจะเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้รถไฟจะติดป้ายห้ามว่าห้ามเต้น ห้ามเปิดเพลงดัง ห้ามโหนราวจับโหนเสา แต่เราก็ได้เห็นนักเต้นขึ้นมาวาดลวดลายบนรถไฟเพื่อขอเงินอยู่เรื่อยๆ ในสถานีรถไฟ จู่ๆ ก็ได้ยินคนนั่งตีถังเป็นกลองดังลั่น บางคนแค่ซ้อม บางคนเล่นเพื่อขอเงิน ไปที่บรู๊คลินแถวเบดฟอร์ดในวันอาทิตย์ เจอผู้คนเอาหญ้ามาปูบนถนนแล้วนอนอาบแดดกันอย่างสบายใจ มีคนถือป้ายสนับสนุนทรัมพ์ และมีคนทำป้ายด่าทรัมพ์มาแปะตามผนังกำแพง

ถามว่าอลหม่านไหม ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวินาทีที่นี่ช่วยกันสร้างความรู้สึกอลหม่านอย่างยิ่ง แปลกแต่จริง ในความอลหม่านเหล่านั้นมันมีระเบียบบางอย่างที่ช่วยทำให้หลายสิ่งดำเนินไปท่ามกลางความหลากหลายที่ไม่ได้ยอมรับกันไปเสียทั้งหมด เหมือนความแตกต่างถูกปล่อยให้แสดงออกกันอย่างเต็มที่ แล้วสุดท้ายทุกคนก็จะเจอ ‘เส้น’ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ล้ำเส้นของกันและกันเอง อย่าได้ถามว่า ‘เส้น’ ที่ว่านั้นคืออะไร มันขีดไว้ตรงไหน ผมคิดว่ามันขีดอยู่ระหว่างผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันและมีความต้องการร่วมกันว่าเราอยากอยู่ในสังคมที่ยังอยู่ด้วยกันได้

‘เส้น’ ของเสรีภาพถูกขีดขึ้นจากการใช้ชีวิตอย่างเสรีร่วมกัน เขย่า คลำ ร่าง ลบ แล้วขีดใหม่ไปเรื่อยๆ แต่มันมีชีวิต ไม่ใช่เส้นที่ขีดไว้แข็งๆ ชัดๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยน

กลับไปที่ฟิลลิปป์ เปอร์ตีต์ นอกจากได้รับการปล่อยตัว ยกข้อหาบุกรุกสถานที่แล้ว เขายังได้สิทธิ์เข้าอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้ทุกเมื่อตลอดชีวิต จากคนล้ำเส้นกลายเป็นคนเก่งของเมืองนี้

หากคนในเมืองสามารถผลักเส้นความถูกต้องไปได้ย่อมสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เคยอยู่นอกเส้นขึ้นมาได้เช่นกัน ยากที่เราจะยอมรับ หากเราเคยชินกับการถูกขีดเส้นและมีความสุขกับการอยู่ในเส้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าโลกนี้มีคนถามหาสิ่งที่ดีกว่า สวยงามกว่า หรือคุณค่าอื่นที่อยู่นอกเส้นเสมอ

“Your freedom to move your arm ends where my nose begins.” คำพูดทำนองนี้มีที่มาหลากหลาย หนึ่งในนั้นคือจอห์น สจ๊วร์ต มิลล์ ซึ่งอาจจะแปลเพื่อให้ได้อารมณ์ว่า “เสรีภาพของการเหวี่ยงกำปั้นคุณขีดเส้นไว้ที่ปลายจมูกผม”

ผมยังคงสงสัยเรื่องเส้นของเสรีภาพ ในเมืองแห่งเสรีภาพเช่นนี้จะมีใครตอบได้ดีกว่าเธอกันเล่า ผมเงยหน้าขึ้นถามเทพีเสรีภาพว่าเส้นที่ว่าอยู่ตรงไหน

เธอได้แค่ชูคบไฟชี้ขึ้นไปบนฟ้า