สหประชาชาติ 2023 | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การประชุมใหญ่สหประชาชาติที่จะเกิดขึ้นที่นครนิวยอร์คในเดือนกันยายน นี้ เป็นวาระที่ถูกจับตามมองอย่างมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากความผันผวนที่กำลังเกิดในเวทีโลกนั่นเอง

ภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้ “The 2023 UNGA” ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 78 นั้น ถูกคาดหวังว่าจะมีข้อเสนออะไรต่อการแก้ไขปัญหาในเวทีโลก เพราะในช่วงเวลาเช่นนี้ โลกดูจะมีปัญหาต่างๆ รุมเร้าในทุกด้าน อันทำให้บทบาทของสหประชาชาติถูกมองว่าเป็นหนึ่งในหนทางการแก้ปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงคราม ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก การพัฒนาและความยากจนในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา ปัญหาช่องว่างทางเพศและปัญหาเพศสภาพ และปัญหาการศึกษาของโลก เป็นต้น

สมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติประกอบด้วยทุกประเทศที่เป็นสมาชิกจำนวน 193 ประเทศ โดยจะมีการจัดการประชุมใหญ่เป็นประจำทุกปี และเป็นเรื่องที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ตามที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติ

เวทีการประชุมใหญ่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นความพยายามที่จะดำรงไว้ซึ่งสันติภาพระหว่างประเทศ และเสถียรภาพระหว่างประเทศแล้ว เวทียังให้ความสนใจในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม การรักษากฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้งสนับสนุนแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังที่ปรากฏให้เห็นชัดจากการประชุมในปี 2015 มาแล้ว

การประชุมสมัชชาใหญ่ในวันที่ 18-19 กันยายน 2023 นี้ ถือว่าเป็น “หมุดหมายเวลาสำคัญ” สำหรับการเดินทางสู่อนาคต ซึ่งถูกตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2030 โดยมีทิศทางที่จะต้องผลักดัน “เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals- SDGs) ให้สามารถเดินไปข้างหน้าให้ได้ และจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริงในปีดังกล่าว

นอกจากการประชุมของผู้นำสูงสุดดังที่กล่าวแล้ว ยังมีการประชุมในวันที่ 20 กันยายน เรื่องเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศกำลังสร้างผลร้ายอย่างน่ากังวลต่อความเป็นไปของโลกในอนาคต ซึ่งในการนี้ เลขาธิการสหประชาชาติตั้งความหวังว่า การจะรับมือกับความเร่งด่วนของปัญหา “วิกฤตอากาศ” ให้ได้นั้น จะต้องแสวงหาหนทางปฎิบัติใหม่ในเรื่องของอากาศ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาจะต้องวางอยู่บนเงื่อนไขทางธรรมชาติด้วย

ฉะนั้น วาระของอากาศนี้ จึงเป็นเสมือนการยกระดับปัญหาและผลักดันแนวทางการแก้ไขปัญหาผ่านผู้นำในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ ภาคเมือง ภาคประชาสังคม และสถาบันการเงิน ให้เข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตชุดนี้ร่วมกัน

นอกจากนี้ในวันดังกล่าว ยังมีการประชุมในระดับสูงร่วมกับองค์การอนามัยโลก เพื่อเตรียมรับและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค แม้โควิด-19 จะสิ้นสภาพของการเป็นโรคระบาดใหญ่ แต่มิได้หมายความว่า โลกจะไม่เผชิญกับปัญหาเช่นนี้อีก

ส่วนในวันที่ 21 กันยายน จะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมใหญ่ในเดือนกันยายน 2024 โดยมุ่งหวังที่จะจัดการกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น การผลักดันระบบพหุนิยมในเวทีโลกเพื่อให้เป็นผลประโยชน์ต่อชีวิตของประชาชนโดยรวม ตลอดรวมถึงการยืนยันถึงพันธะเดิมของรัฐในการดำเนินการตามเป้าหมาย 17 ประการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในอีกส่วนหนึ่งของวันที่ 21 คือ การประชุมในระดับสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานด้านสาธารณสุขสำหรับประชาชนทั่วโลก อันมีนัยถึงการสร้างระบบสาธารณสุขอย่างทั่วหน้า การดำเนินการเช่นนี้เป็นความหวังของการสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขในอนาคต และจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประชาชนในประเทศ “ฝ่ายใต้” ที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา

วาระการประชุมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์ในเวทีโลกมีปัญหารุมเร้าในหลายๆ ด้าน จนแทบไม่เอื้อให้สหประชาชาติสามารถผลักดันวาระต่างๆ ได้อย่างที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงคราม ปัญหาอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาความยากจนที่แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางในยุคโควิด-19 ตลอดรวมถึงการต้องเตรียมรับมือกับการระบาดของเชื้อโรคในอนาคต

ฉะนั้น คงต้องยอมรับความจริงว่า โลกในอนาคตมีแต่ความท้าทายจากปัญหาที่ล้วนมีลักษณะเป็น “วิกฤตใหญ่” เกือบทั้งสิ้น และเอกภาพของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่จะแก้ปัญหาร่วมกันดูจะเป็นไปได้ยากมากขึ้นจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้ง มุมมองของประเทศใน “ฝ่ายใต้” กับ “ฝ่ายเหนือ” ก็ดูจะสวนทางกันมากขึ้น จนโอกาสที่สหประชาชาติจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมในด้านต่างๆ นั้น อาจจะทวีความรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนา และปัญหาวิกฤตอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสหประชาชาติมีความหวังอย่างมากว่า การผลักดัน “วัตถุประสงค์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จำนวน 17 ประการ ที่ถูกหยิบมาเป็นแกนหลักของการประชุมในปี 2023 นี้ จะประสบความสำเร็จในปี 2030 … แต่หลายฝ่ายก็ดูจะตั้งข้อสงสัยอย่างมากว่า วัตถุประสงค์ของการพัฒนาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้จริงเพียงใดในอีก 7 ปีข้างหน้า!