รำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย : รำลึก 5 ทศวรรษ 14 ตุลาฯ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

รำลึกการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

: รำลึก 5 ทศวรรษ 14 ตุลาฯ

 

“พลังทางความคิดของมนุษย์ได้สร้างความก้าวหน้าให้แก่มนุษยชาติในทุกยุคสมัย ดังนั้น คนที่มีความคิดจะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยมทุกรูปแบบ เพราะว่าระบอบนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความกลัวที่มีต่อความคิดที่ไม่เหมาะสมกับผู้มีอำนาจในเวลานั้นๆ… นักเขียนที่แท้จริง จะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพราะระบอบนี้เชื่อเรื่องการเซ็นเซอร์… นักประวัติศาสตร์ที่แท้จริง จะต้องต่อต้านระบอบอำนาจนิยม เพราะเขาสามารถเห็นได้ว่าระบอบนี้นำไปสู่การกระทำที่โง่เขลาอย่างซ้ำซาก…”

B. H. Liddell Hart

นักยุทธศาสตร์ทหารชาวอังกฤษ

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ประชาธิปไตยไทยภายใต้ “ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม” อันเป็นความหวังว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอนาคตใหม่ของการเมืองไทย ด้วยการพาประเทศออกจากการปกครองเก่าของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่แน่นอนว่าบนเส้นทางสู่ประชาธิปไตยเช่นนี้ ถนนการเมืองไทย “ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” หากแต่ประสบอุปสรรคจากฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

ดังนั้น การเมืองไทยนับจากช่วงเวลาดังกล่าว หากเปรียบเทียบเป็นรถยนต์แล้ว เครื่องยนต์ของการเมืองไทยมีอาการ “เดินสะดุด” เป็นระยะๆ จนเสมือนหนึ่ง “รัฐยานยนต์” คันนี้ มักมีอาการเคลื่อนที่ได้บ้าง…ไม่ได้บ้าง

บางทีเครื่องดับหลายหน หรือเป็นอาการที่อาจจะต้องกล่าวว่า รัฐยานยนต์ไทยเครื่องดับ จอดตายอยู่กลางถนนหลายต่อหลายครั้ง ในขณะที่รัฐยานยนต์ของเพื่อนบ้านหลายคัน ที่อาจออกสตาร์ตหลังเรา แต่กลับวิ่งไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

 

ภาพจำหลักการเมืองไทย

ปี2566 นี้เป็นระยะเวลาที่ความพยายามในการสร้างระบอบประชาธิปไตยของยุค 2475 เดินทางมาเป็นระยะถึง 91 ปี… เป็น 91 ปีที่ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานไปกับความผันผวนที่ไม่เคยสิ้นสุดในการเมืองไทย โดยเฉพาะความผันผวนที่เกิดจากการรัฐประหารของผู้นำทหารฝ่ายขวา ที่ดำเนินการยึดอำนาจต่อเนื่องมาอย่างยาวนานในการเมืองไทย จนมีคำล้อกันเล่นๆ ว่า รัฐประหารคือ “ซิกเนเจอร์” ของการเมืองไทย เพราะจำนวนของรัฐประหารไทยจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ในเวทีโลก

ถ้าเราสร้างวิหารแห่งการเมืองไทยแล้ว รัฐประหารจะเป็นดัง “ภาพจำหลัก” ที่จะปรากฏเป็นส่วนสำคัญของวิหารแห่งนี้ แต่กระนั้นฝ่ายประชาธิปไตยได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องราวของเหตุการณ์ในอดีต แต่ก็ปฏิเสธถึงนัยของเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้สร้างให้กับสังคมไทยในยุคต่อมาไม่ได้

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากการสถาปนาอำนาจของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2475 แล้ว ชัยชนะสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยเกิดขึ้นอีกครั้งจากการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แต่ดังที่ทราบกันดีว่า ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในปี 2516 นั้น ดำรงอยู่บนสถานการณ์ของความเปราะบางอย่างยิ่ง…

อีก 3 ปีต่อมา การปราบปรามทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อันนำไปสู่การสร้าง “ระบอบเผด็จการฝ่ายขวา” แต่กลับถูกโค่นล้มลงในปีถัดมา และนำไปสู่การกำเนิดของ “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้การนำของผู้นำทหาร และเป็นที่ยอมรับว่า ระบอบพันทางยุคนี้ ดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน

แต่มิได้หมายความว่าระบอบพันทางจะนำไปสู่การ “เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” และทำให้ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานในสังคมไทยได้จริง เพราะสุดท้ายแล้ว รัฐประหารหวนคืนอีกครั้งในปี 2534 แต่ระบอบทหารชุดนี้มีอายุสั้น และพ่ายแพ้จากการลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2535 แม้ระบอบทหารจะพ่ายแพ้อีกครั้ง ซึ่งไม่แตกต่างจากปี 2516 แต่ก็มิได้เป็นหลักประกันว่า กองทัพถอยออกไปจากการเมืองไทย และรัฐประหารถึงจุดจบแล้ว

บทบาททางการเมืองของกองทัพในยุคหลังปี 2535 ลดต่ำลง จนเกิดเป็นความหวังว่า กองทัพน่าจะถอยออกจากการเมืองไปแล้ว ความเชื่อดังกล่าวทำให้สังคมละเลยที่จะออกแบบการจัด “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร” เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และเมื่อความขัดแย้งเริ่มก่อตัวอีกครั้ง สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนคือ การเมืองไทยถอยกลับสู่การรัฐประหารอีกในปี 2549 การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นสัญญาณว่า กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ได้แข็งแรงอย่างที่คิด และเป็นสัญญาณอีกด้วยว่า รัฐประหารนี้เป็นปัจจัยผลักดันการก่อตัวของ “สงครามการเมือง” อีกชุด

ในท่ามกลางความผันผวนของสงครามการเมืองนั้น การต่อสู้ของ “คนเสื้อแดง” ในปี 2553 ที่แม้ไปผูกโยงกับนักการเมืองบางคนหรือบางกลุ่ม แต่อย่างน้อย “ขบวนคนเสื้อแดง” เป็นภาพสะท้อนถึง “การเมืองของชนชั้นล่างจากเมืองและชนบท” ที่มาพร้อมกับข้อเรียกร้องในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับชาติ พร้อมกับชูธงประชาธิปไตยอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

 

ประชาธิปไตย vs รัฐประหาร

ฉะนั้น หากเปรียบเทียบว่า “การเปลี่ยนแปลง 2475” เป็นการขับเคลื่อนของปัญญาชนและชนชั้นกลางที่ตื่นตัว… เหตุการณ์ “14 ตุลาฯ-6 ตุลาฯ” และ “พฤษภา 35” เป็นการต่อสู้ของขบวนประชาธิปไตยที่เป็นนิสิต นักศึกษา และชนชั้นกลาง… เหตุการณ์ “พฤษภา 53” คือ การต่อสู้ของขบวนประชาธิปไตยที่มีชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทเป็นองค์ประกอบสำคัญ และเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสูญเสียหนัก

ทั้งหมดนี้คือ 5 เหตุการณ์ใหญ่ที่เป็น “เส้นเวลาประชาธิปไตย” ที่มีในแต่ละปี และเป็น 5 เหตุการณ์ที่มีนัยทางการเมืองทั้งต่อตัวบุคคล และต่อชีวิตสังคมไทย หรือในอีกด้านคือ เวลาเหล่านี้เป็นหมุดหมายของการจัดงานรำลึกทางการเมืองในแต่ละปี ซึ่งก็คือ 5 เหตุการณ์สำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ที่สามารถแปลงเป็น “นิทรรศการประชาธิปไตย” ได้เป็นอย่างดี

ในทางตรงข้าม ถ้าสมมุติฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัดสายนิยมรัฐประหาร อยากจะจัดงานเฉลิมฉลองการยึดอำนาจในไทยแล้ว พวกเขาอาจจะต้องทำงานอย่างหนัก เนื่องจาก “นิทรรศการการรัฐประหาร” ในสังคมการเมืองไทยจะต้องจัดอย่างต่อเนื่อง เพราะการยึดอำนาจเกิดขึ้นหลายครั้ง

หากเราลองนับจำนวนรวมของการรัฐประหารไทยแล้ว เราอาจจะตกใจที่พบว่าสังคมการเมืองไทยมี “รัฐประหารที่สำเร็จ” เป็นจำนวนมากถึง 13 ครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ อีกทั้งยังมีรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “กบฏ” อีกราว 10 ครั้ง จนทำให้รัฐประหารกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทยไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นคำเตือนว่า 91 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สังคมการเมืองไทยยังเสมือนเราเดินวนเวียนอยู่ใน “เขาวงกตแห่งการรัฐประหาร” และยังหาทางออกไม่ได้ ซึ่งหากนับรวมรัฐประหารสำเร็จและล้มเหลวทั้งหมดแล้ว ไทยจะมีรัฐประหาร 23 ครั้งในช่วง 91 ปี หรือเกิดรัฐประหาร 1 ครั้งทุก 3.9 ปี… ส่วนรัฐประหารที่สำเร็จ 13 ครั้งในรอบ 91 ปี หรือมีรัฐประหารสำเร็จ 1 ครั้งในทุก 7 ปี

ในอีกด้านของช่วงเวลา 91 ปี กองทัพก็พ่ายแพ้การลุกขึ้นสู้ของประชาชนถึง 2 ครั้ง ซึ่งเราอาจจะเรียกด้วยภาษาทางรัฐศาสตร์ว่าเกิด “กรุงเทพฯ สปริง” (Bangkok Spring) ในปี 2516 และ 2535 แม้จะต้องยอมรับว่า ฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ไม่ยั่งยืน หรือชัยชนะจากการลุกขึ้นของประชาชนคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 1 ครั้งทุก 45 ปี…

แม้จะเป็นอัตราเฉลี่ยที่ชวนหดหู่ใจ แต่ก็มีวันเวลาที่ประชาชนชนะ ไม่ใช่มีแต่ทหารเท่านั้นที่ชนะด้วยรัฐประหาร

 

ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง (Political Spring) ครั้งแรกในปี 2516 มีอายุเพียง 3 ปี และตามมาด้วยการปราบปรามทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2519 แต่ก็ตามมาด้วยการขยายตัวของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทย จนสุดท้าย สงครามกลายเป็น “ปัจจัยบังคับด้านกลับ” ให้ชนชั้นนำ ผู้นำทหารสายเหยี่ยว และกลุ่มการเมืองปีกขวาจัดต้องยอมรับการเมืองแบบประชาธิปไตย และไม่ตั้งตนเป็น “ศัตรูประชาธิปไตย”

ความสูญเสียในปี 2519 จึงไม่ใช่ “ความสูญเปล่าทางการเมือง” แต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้ว ผลที่เกิดขึ้นกลับนำไปสู่การปรับตัวทางการเมืองชุดใหญ่ คือเกิดความพยายามที่จะปรับยุทธศาสตร์การเมือง-การทหาร เพื่อยุติสงครามคอมมิวนิสต์ภายใน และยอมรับอย่างมีนัยสำคัญว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็น “ภัยคุกคาม” ต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และฝ่ายอนุรักษนิยมเช่นในอดีต และที่สำคัญพวกเขายอมรับว่า รัฐประหารมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการอยู่กับระบอบประชาธิปไตย

ฤดูใบไม้ผลิครั้งที่ 2 ทำท่าจะยืนยาว เพราะได้กระแสโลกาภิวัตน์จากภายนอกเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุน หรือเป็นช่วงเวลาที่กระแส “ประชาธิปไตยคลื่นลูกที่สาม” (Third Wave Democracy) พัดไปทุกมุมโลก รวมทั้งพัดเข้าสู่สังคมไทยด้วย ความฝันใหญ่หลังการมาของฤดูใบไม้ผลิในปี 2535 คือ รัฐประหาร 2534 น่าจะเป็น “รัฐประหารไทยครั้งสุดท้าย”

แต่แล้วกระแสลมประชาธิปไตยพัดอยู่เพียง 14 ปี ลมรัฐประหารก็พัดหวนกลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งในปี 2549 และยังมาซ้ำอีกครั้งในปี 2557… ไม่น่าเชื่อว่า เรามีรัฐประหารถึง 2 ครั้งในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี และในช่วงเวลาของสองรัฐประหารนี้ มีการปราบปรามใหญ่ทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งที่กรุงเทพฯ ในปี 2553 ซึ่งเป็นความรุนแรงชุดใหญ่ที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบัน

และทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีคนเป็นสัญลักษณ์ 2 ชุด คือ “คนเดือนตุลาฯ” และ “คนเสื้อแดง”

 

วันนี้-วันหน้า

นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามแล้ว ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์ใหญ่ของการเมืองไทยคือ ชัยชนะของการลุกขึ้นสู้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516… ปีนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเดินทางมาเป็นระยะเวลา 50 ปีแล้ว ฉะนั้น ถ้า 14 ตุลาฯ จะเป็นเครื่องเตือนใจอะไรได้บ้างแล้ว เราคงต้องตระหนักเสมอว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของไทยนั้น ยังมีความเปราะบางดำรงอยู่อย่างมาก แม้การเมืองชุดปัจจุบันจะไม่ได้ถูกแวดล้อมด้วยสถานการณ์สงครามและความล่อแหลมทางการเมือง แต่ปัญหาภายในระบบการเมืองพร้อมที่เป็น “ระเบิดเวลา” ได้หลายเรื่อง

เรื่องราวของ 14 ตุลาฯ ทำให้ต้องคิดถึงเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยด้วยความพินิจพิเคราะห์ เพราะไม่เคยมีสูตรสำเร็จที่จะเป็น “กุญแจ” ไขประตูไปสู่ความเป็นสังคมการเมืองประชาธิปไตยที่เข้มแข็งได้อย่างง่ายๆ… กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ดังนั้น 50 ปี 14 ตุลาฯ ปีนี้ เราจึงไม่เพียงแต่รำลึกถึงการต่อสู้และผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น หากยังจะต้องช่วยผลักดันให้ “กงล้อประชาธิปไตย” หมุนไปข้างหน้า ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่ง ไทยจะประสบความสำเร็จของการสร้างประชาธิปไตยเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ แม้ “กระแสรัฐประหาร” จะถูกขับเคลื่อนมากขึ้นในทวีปแอฟริกาก็ตาม และก็หวังว่าจะไม่หวนมาเกิดอีกในไทย!