ส่องทีมกุนซือ-มือปั๊มผลงาน เคียงข้าง ‘เศรษฐา’ สู้ข้อกล่าวหา ‘นายกฯ ส้มหล่น’

ภายหลังรัฐบาล นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามาบริหารประเทศ ก็เริ่มลุยปฏิบัติหน้าที่ทันที ตามนโยบายที่ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาไว้ โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่เห็นได้ชัดเจนว่าหลายต่อหลายเรื่อง รัฐบาลล้วนพยายามสร้างจุดเริ่มต้นเพื่อหวังพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนนโยบายในภารกิจต่างๆ จะสัมฤทธิผลได้ด้วยดีนั้น จำเป็นต้องเฟ้นหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาช่วยทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการของประชาชนครอบคลุมทุกมิติ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงจำเป็นต้องแต่งตั้งบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่ช่วยและสนับสนุนงานของนายกรัฐมนตรี

เริ่มต้นจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2566 แต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย

คิวถัดมาเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 234/2566 เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จำนวน 9 คน ประกอบด้วย

1. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษา

ส่วนคณะที่ปรึกษา ประกอบด้วย

2. นายเทวัญ ลิปตพัลลภ

3. นายพิชัย ชุณหวชิร

4. นายศุภนิจ จัยวัฒน์

5.ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิมล ศรีวิกรม์

6. นายพิชิต ชื่นบาน

7. นายชลธิศ สุรัสวดี

8. นสพ.ชัย วัชรงค์

และ 9. นายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์

โดยให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามที่ได้รับการร้องขอและให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษา สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เป็นไปตามระเบียบของราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

 

ทว่า เมื่อ 9 รายชื่อกุนซือนายกฯ ถูกเผยแพร่ออกมา กลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะความไม่เหมาะสมเรื่องคุณสมบัติของบางชื่อ ซ้ำบางคนยังถูกโยงเป็นคนใกล้ชิดของนายเศรษฐา ทวีสิน

ยิ่งไปกว่านั้น บางชื่อเคยเป็นคนที่ทำงานให้กับพรรคเพื่อไทยมาก่อนและมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เหตุนี้เอง จึงทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้ายแล้วอำนาจการบริหารงานจะเต็มไม้เต็มมือได้จริงหรือไม่

สำหรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ทั้ง 9 คน หากไล่เรียงตามตำแหน่ง แต่ละคนล้วนมีที่มา ความถนัดและเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ทั้งการเมือง กฎหมาย การเงิน เกษตร อสังหาริมทรัพย์ และกีฬา

เริ่มต้นจากอดีตขุนคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ปัจจุบันอายุ 65 ปี ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เคยผ่านงานบริหารร่วมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังผ่านตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ขณะที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ อายุ 64 ปี ผ่านตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนากล้า ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และประธานสโมสรฟุตบอลนครราชสีมา

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร อายุ 74 ปี อดีตกรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544-2556 กรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, 2555-ปัจจุบัน ประธานกรรมการบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังเป็นนายกสมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย, รองประธานกรรมการ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานสมาพันธ์มวยสากลแห่งทวีปเอเชีย (ASBC)

ขณะที่นายศุภนิจ จัยวัฒน์ อายุ 63 ปี เป็นกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ บจม.แสนสิริ, ประธานกรรมการบริษัท อาโนส์ กรุ๊ป 2020 จำกัด และอดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.แสนสิริ ปัจจุบันประกอบธุรกิจโรงแรมสีลม ซีริน โรงแรมโพธิ ศิรีนทร์ จ.เชียงใหม่ โรงแรมบ้านบาหยัน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ส่วนนายพิมล ศรีวิกรม์ อายุ 59 ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ, นายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย, กรรมการโรงเรียนศรีวิกรม์ นอกจากนี้ ยังผ่านงานการเมือง เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ

รวมทั้งยังเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬา พรรคเพื่อไทย และเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

ด้านนายพิชิต ชื่นบาน อายุ 64 ปี เป็นนักกฎหมายและทีมทนายความของครอบครัวชินวัตร มีผลงาน หัวหน้าทีมทนายความ สู้คดีจำนำข้าว สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในช่วงจัดโผ ครม.เศรษฐา มีชื่อลุ้นนั่งรัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายประกาศถอนตัว

สำหรับนายชลธิศ สุรัสวดี อายุ 65 ปี หลานชายของนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ เคยผ่านตำแหน่งรองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งเคยเป็นอธิบดีกรมป่าไม้

ขณะที่ นสพ.ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และควบตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ด้วย อายุ 64 ปี เคยผ่านตำแหน่ง Managing Director บริษัท แนคโคห์แลน จำกัด ซึ่งทำธุรกิจร้านขายปลีกสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แนคเนเจอร์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการค้าอุปกรณ์ทางการเกษตร และยาสีฟันสมุนไพร

นอกจากนี้ ยังเป็นนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมืองไทย รวมทั้งเป็นกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเกษตร พรรคเพื่อไทย

ปิดท้ายที่ สุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 78 และยังเป็นกรรมการบริษัท ธนูลักษณ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งคณะกรรมการที่เรียกเสียงฮือฮาไม่แพ้กัน นั่นคือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งปรากฏชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นั่งเก้าอี้เป็นรองประธาน

แม้ทาง “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ออกมาการันตีว่า คณะที่ปรึกษาของนายกฯ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ไม่สามารถรับเงินเดือนได้ จึงสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ มาทำงานได้

โดยกรรมการชุดดังกล่าวมาจากหลายวงการ มีความสามารถ และเราได้จัดลำดับความสำคัญของเรื่องนี้เป็นอย่างดี จะไม่เชิญคนที่ไม่รู้อะไรมาเป็นที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ทั้ง 9 คน จำเป็นต้องทำคือ หลังจากเข้ารับหน้าที่แล้ว ต้องเร่งพิสูจน์ฝีมือ ในฐานะกุนซือข้างกายนายกฯ ทำผลงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศให้มากกว่าส่วนตัว

สลัดภาพความเป็นคนใกล้ชิดของอดีตนายกฯ “ทักษิณ”

เช่นเดียวกัน “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ต้องเดินหน้าพิสูจน์ผลงานในฐานะผู้นำประเทศ ลบคำปรามาส “นายกฯ ส้มหล่น” ให้ได้เช่นกัน