ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 พฤษภาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
การก่อกำเนิดของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ผสมข้ามขั้วกับขั้วอนุรักษนิยม และพี่น้อง 3 ป. โดยมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สายทหาร สายตรงบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น โหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี และการกลับไทยของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ อยู่
รวมถึงการเกิดขึ้นของ “ดีลลับ ลังกาวี” ที่พาดพิงบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. และรองเลขาธิการ สนว. ในขณะนั้น แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะเคยปฏิเสธว่าไปเจรจาลับแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม
แต่การที่มีกระแสข่าว พล.อ.อภิรัชต์ถูกเวรโทษ หรือ “ดองเวร” ที่เสมือนเป็นการถูกลงโทษ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่แบบไม่ได้พักเป็นเวลา 30 วัน รวมทั้งต้องฝึกและออกกำลังกายด้วย ก็ถูกตีความว่า เป็นเพราะ “ดีลลับ ลังกาวี” หรือไม่นั่นเอง
และทำให้ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองมองว่า อาจมี “บิ๊กดีล” ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจริงก็ได้ จนอาจกลายเป็นดีลในตำนาน ที่ทำให้ประเทศเดินหน้า เปลี่ยนผ่านจากยุค คสช.ที่ยาวนาน 9 ปี สู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งและมีนายกฯ พลเรือน
คณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” จึงเกิดขึ้นแบบต้องไม่มี 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ร่วม ครม. และจัดแบบรอมชอมกันไปก่อน ถึงขั้นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องยอมที่จะให้ รมว.กลาโหมเป็นพลเรือนอย่างนายสุทิน คลังแสง ไปก่อน ยังไม่ใช่ทหาร
แม้ในเวลานั้นจะมีชื่อ พล.อ.อภิรัชต์เองเป็น รมว.กลาโหมก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง จากที่สนับสนุน บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ อดีตเลขาฯ สมช. เพื่อนรัก ตท.20 ของ พล.อ.อภิรัชต์ และเป็นน้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม
ดังนั้น จึงต้องร้องเพลงรอ ในตำแหน่งเลขานุการ รมว.กลาโหม ประกบนายสุทินไปก่อน
จึงไม่แปลกที่เมื่อเวลาผ่านไป 6-7 เดือนจะเกิดกระแสข่าว การ “ทวงดีล” ทวงเก้าอี้ รมว.กลาโหม แต่ก็มีการยื้อดีล ด้วยการต่อรองให้นายเศรษฐาควบ รมว.กลาโหมต่อไป
แต่มีปฏิกิริยาทั้งจากนายสุทิน ที่มีแบ๊กอัพอย่าง นายพายัพ ชินวัตร และอดีตบิ๊กๆ ทหารแตงโม ที่ใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร รวมทั้ง ผบ.เหล่าทัพก็ยังสบายใจกับนายสุทิน มากกว่าที่จะให้นายเศรษฐามาควบ รมว.กลาโหม อีกทั้งเป็นการยื้อเวลาที่จะปฏิบัติตาม “ดีล” ออกไปได้อีกระยะ
โดยการปรับ ครม.เศรษฐา 1/1 ที่ผ่านมา นายสุทินยังคงเหนียว นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหมต่อไป โดยที่นายเศรษฐาที่นอกจากคายเก้าอี้ รมว.คลัง นั่งเป็นนายกฯ เก้าอี้เดียว โดยไม่ได้มาควบ รมว. กลาโหม แถมยังต้องคายกลาโหมให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ดูแลแทนและทำหน้าที่รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงอีกด้วย
ถือเป็นการปรับองคาพยพในสายความมั่นคง โดยผนึกกำลังของนายภูมิธรรม กับนายสุทิน ในฐานะที่รู้จักกันมานานและอยู่พรรคนี้มาด้วยกันตั้งแต่สมัยเป็นพรรคไทยรักไทย ถึงขั้นที่
นายสุทินระบุว่าทำงานร่วมกันมาในหลายมิติ
การวางขุนพลในลักษณะนี้กำลังถูกกองทัพจับตามองและพยายามถอดรหัสว่านายทักษิณวางเกมไว้แบบใด
มุมหนึ่งสะท้อนได้ว่านายสุทินอาจนั่งกลาโหมไปอีกพักใหญ่ แบบข้ามไปจนปีหน้าหรืออาจครบ 2 ปี เพราะเสมือนเป็นการอุดช่องว่าง ไม่ให้ฝ่ายทหารเข้ามาเสียบ
เพราะช่วงการปรับคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1 ก็มีกระแสข่าวว่า แม้นายเศรษฐาไม่ได้มาควบ รมว.กลาโหม แต่มีการทวง “ดีล” ให้แต่งตั้ง พล.อ.ณัฐพล เป็น รมช.กลาโหม ช่วยงานนายสุทินต่อไปก่อน
แต่ก็ไม่มีโควต้ารัฐมนตรีที่จะให้ พล.อ.ณัฐพลเพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่อาจสละโควต้าของพรรคมาให้ พล.อ.ณัฐพลได้
ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งเป็นพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยเป็นผู้ก่อตั้ง และก็ยังถือเป็นผู้นำจิตวิญญาณของพรรคนี้ ก็ไม่มีโควต้าว่างให้ พล.อ.ณัฐพล ซึ่งก็ถือว่าเป็นคนนอก อีกทั้งในเวลานั้นนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง โควต้าของ รทสช. ก็ยังเหนียว ได้นั่งเก้าอี้ต่อไป
แต่จู่ๆ หลังมีการโปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1 แล้ว นายกฤษฎากลับไม่พอใจการแบ่งงานให้รับผิดชอบของนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลังคนใหม่ จึงลาออก
หากเป็นไปตามสถานการณ์ ก็เป็นใจที่จะให้ พล.อ.ณัฐพลเข้ามาเป็น รมช.กลาโหมแทน ในโควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมี รมช.คลัง แทนนายกฤษฎา
แต่ปัญหาภายในพรรครวมไทยสร้างชาติทำให้ไม่มีกลุ่มใดยอมสละโควต้าให้ พล.อ.ณัฐพลเป็น รมช.กลาโหม ที่ถือว่าเป็นคนนอกพรรค แม้ว่าจะเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม
รวมทั้งปัญหาภายในพรรค จากการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยการพรรคจาก “ออย” พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ มาเป็น เสธ.หิมาลัย ผิวพรรณ อดีตทหารเสือราชินี น้องรัก พล.อ.ประยุทธ์ และก็เป็นสายตรงของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำรอยร้าวให้ลึกลงไปอีกจนถึงขั้นที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีต รมว.พลังงาน รัฐบาลบิ๊กตู่ ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติและทุกตำแหน่ง ที่ถูกตีความว่าเป็นการแสดงความไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับนางพิชชารัตน์ ซึ่งถือเป็นสายตรงของนายสุพัฒนพงษ์มายาวนาน และเป็นกลุ่มทุนของพรรค
เนื่องจากนายพีระพันธุ์เองก็พยายามที่จะคุมพรรคให้ได้ หลังจากที่มีปัญหาการแบ่งแยก โดยส่วนใหญ่ยังเป็นฝ่ายสนับสนุน “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค
จนเกิดกระแสข่าวที่ว่า อาจจะต้องยอมให้นางพิชชารัตน์มาเป็น รมช.คลัง แทนนายกฤษฎา เพื่อรักษาพรรคไว้ จนนายสุพัฒนพงษ์ต้องขยับด้วยตัวเอง
เพราะก่อนหน้านี้มีการหารือว่าโควต้า 1 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยนี้จะส่งเป็น รมช.คลังเช่นเดิม หรือว่าจะไปกระทรวงอื่น เช่น กลาโหม หรือกระทรวงพลังงาน
โดยมีรายงานความเคลื่อนไหวของ เสธ.มิตต์ พล.ท.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ อดีตทีมตึกไทยคู่ฟ้า มือขวาของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ได้ลาออกจากการกองทัพก่อนเกษียณ เข้าโครงการเพิ่มยศแล้วเพื่อมาทำธุรกิจ และอาจรวมถึงทำงานการเมืองในอนาคตด้วย
หลังจากที่ทำงานเบื้องหลังการเมืองเบื้องหลังพรรคมาตลอดตั้งแต่ยุค พล.อ.ประยุทธ์ จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไปปรากฏตัวในกิจกรรมของพรรค
แม้ผู้ใหญ่ในพรรคจะชักชวนให้เข้ามาทำงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเต็มตัวและเปิดเผย แต่ พล.ท.นิมิตต์ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ และต้องการทำงานเบื้องหลังเช่นนี้ไปก่อน ท่ามกลางการถูกจับตามองว่าเป็นรัฐมนตรีพลังงานในอนาคตหรือไม่
แต่ตอนนี้ปัญหาภายในพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมทั้งแผนการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานของนายพีระพันธ์ ที่อาจจะกระทบวงการพลังงาน กำลังทำให้พรรคเกิดความไม่มั่นคง จนต้องร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะเป็นองคมนตรี และไม่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองแล้ว แต่ในฐานะพรรครวมไทยสร้างชาติเป็นดีเอ็นเอของ พล.อ.ประยุทธ์ และยังคงเป็นผู้นำที่คนในพรรคให้ความเคารพ จึงยังมีความพยายามที่จะอาศัยบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์จบดราม่าภายในพรรค แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะออกตัวไว้ก่อนแล้วว่าไม่ยุ่งเกี่ยวในทางการเมืองก็ตาม
แต่พรรครวมไทยสร้างชาติก็ประกาศว่าเป็นดีเอ็นเอของ พล.อ.ประยุทธ์
ความพยายามในการทวงดีลยังคงมีอยู่ แต่มีแนวโน้มว่า รทสช.จะส่ง รมช.คลัง แทนนายกฤษฎา เพราะที่เกิดปัญหาเพราะมีความขัดแย้งระหว่างนายกฤษฎา กับนายพิชัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่หากเปลี่ยนตัว รมช. คลัง ก็จะไม่มีปัญหา
มีรายงานว่า นายพีระพันธุ์ไม่ต้องการเปลี่ยนกระทรวง แม้จะมีข่าวว่ามีการดันให้มี รมช.พลังงาน มาประกบการทำงานของนายพีระพันธุ์ ที่กำลังคิดการใหญ่เรื่องรื้อระบบราคาพลังงาน
ส่วน รมช.กลาโหมนั้น ก็มีรายงานว่านายสุทินก็ไม่ต้องการมี รมช.กลาโหม เพราะมี ผช.รมต. ประจำ รมว.กลาโหม ถึง 2 คน คือ บิ๊กตุ่น พล.อ.อ.สุรพล พุทธมนต์ และนายจำนงค์ ไชยมงคล และยังมีมือทำงานอย่างบิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษาพิเศษ รมว.กลาโหม ที่นายสุทินไว้วางใจ มอบหมายงานสำคัญให้ดูแล ทั้งการแก้พระราชบัญญัติกลาโหม 2551 การแก้ไขปัญหาเรือดำน้ำจีน และการปฏิรูประบบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และมี พล.อ.ณัฐพลเป็นเลขาฯ รมว.กลาโหมต่อไป
อาจกล่าวได้ว่าทางรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอาจจะยังไม่วางใจที่จะให้ พล.อ.ณัฐพลหรือนายทหารคนใดจากขั้วอนุรักษนิยม มาแชร์อำนาจในการดูแลกองทัพ
แม้จะเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วกันก็ตาม แต่ก็ยังมีความไม่ไว้วางใจกันอยู่เสมือนเส้นบางๆ กางกั้น เพราะแม้แต่การที่นายเศรษฐานั่งเฮลิคอปเตอร์ลงพื้นที่ตรวจราชการทั้งชายแดนไทย-เมียนมา ที่กาญจนบุรี ก็ใช้เฮลิคอปเตอร์ตำรวจ ต่อมาไปงานที่สีคิ้ว นครราชสีมา นายเศรษฐาก็นั่งเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจอีก ไม่ใช้เฮลิคอปเตอร์ของทหาร
ประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะเฮลิคอปเตอร์ตำรวจใหม่กว่าเฮลิคอปเตอร์ที่กองทัพมีอยู่
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็มองได้ว่านายเศรษฐายังไม่ไว้วางใจกองทัพ ทั้งในแง่ความปลอดภัยของเฮลิคอปเตอร์ และของตนเอง
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะนายเศรษฐาเองก็ไม่ได้ใช้บริการของศูนย์รักษาความปลอดภัยกองบัญชาการกองทัพไทยในการดูแล แต่ใช้กำลังตำรวจทั้งหมด เป็นทีม รปภ.นายกฯ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหลไปยังฝ่ายทหาร ในภารกิจส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี
จนกลายเป็นประเด็นที่ทหารก็จับตามอง
ไม่แค่นั้น กระแสข่าวการทวงดีลยังคงไม่หยุดเคลื่อนไหว เพราะมีการเชื่อมโยง “บิ๊กแดง แฟนเพจ” กับ พล.อ.อภิรัชต์ โดยเฉพาะนาย จตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาธิปไตย ที่เดินสายออกเกือบทุกสื่อ รวมถึงการเสนอข่าวของสื่อบางสำนัก ที่พยายามตีความว่า พล.อ.อภิรัชต์ส่งสัญญาณไม่พอใจนายทักษิณและรัฐบาล เพราะโดนเบี้ยวดีล
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์แม้จะได้รับอนุญาตให้ออกมาพักเพื่อรักษาสุขภาพ แต่ก็ยังไม่มีประกาศใดๆ ออกมาอย่างเป็นทางการ ดังนั้น สถานภาพทางการยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และไม่สามารถเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้
จึงไม่แปลกที่คนใกล้ชิดจะแจ้งสื่อบางสำนักว่า พล.อ.อภิรัชต์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “บิ๊กแดง แฟนเพจ” หลังมีการนำบางโพสต์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปเชื่อมโยงและปลุกกระแสความขัดแย้งกับรัฐบาล และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ เพราะ พล.อ.อภิรัชต์จะต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง เพราะแม้จะได้พักการปฏิบัติหน้าที่ แต่ปัญหาด้านสุขภาพ ยังไม่เปลี่ยนแปลง
แต่ด้วยบุคลิก ลักษณะ ประวัติของ พล.อ.อภิรัชต์ ที่มักจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์สำคัญสำคัญในกองทัพและการเมืองในห้วงที่ผ่านมาเสมอ จึงทำให้ยังคงถูกจับตามองในทางการเมืองอยู่
เพราะสถานการณ์เบื้องหน้า ไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022