ปริศนาแดนมังกร รมต.จีนหายตัวอีกแล้ว!

หลังจากที่ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศใหม่หมาด หายตัวไปนานร่วมเดือน ชนิดที่แม้แต่ชาวจีนในประเทศจีนเองก็ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก่อนลงเอยด้วยการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีต่างประเทศเสียใหม่ ให้มือเก๋าหน้าเก่าอย่าง หวัง อี้ ดำรงตำแหน่งแทน

ทางการจีนให้คำอรรถาธิบาย “อย่างเป็นทางการ” น้อยมากว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอะไรและทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ปล่อยให้เรื่องสร่างซาลงจนเงียบหายไปเอง

แต่เรื่องนี้ทำทีทำท่าว่าจะไม่เงียบหายไปง่ายๆ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดกรณีคล้ายคลึงกันขึ้นอีกครั้ง คราวนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนอย่าง พล.อ.ลี่ ฉางฟุ อดีตนายทหารวัย 65 ปี ที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรีธรรมดาๆ เท่านั้น

แต่ยังเป็นหนึ่งในมนตรีรัฐกิจอาวุโสในคณะมนตรีรัฐกิจ (state council) อันเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของประเทศอีกด้วย

 

คณะมนตรีรัฐกิจของจีน มีโครงสร้างคล้ายๆ กับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประชาธิปไตยทั่วๆ ไป ปัจจุบันกำหนดให้มี 35 คน ประกอบด้วย ประธานคณะมนตรีรัฐกิจ (หรือนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันคือ หลี่ เฉียง) 1 คน, รองประธานฝ่ายบริหาร 1 คน, รองประธานฝ่ายอื่นๆ อีก 3 คน, มนตรีที่ไม่ประจำกระทรวงหรือมนตรีอาวุโส 3 คน กับมนตรีประจำกระทรวงหรือรัฐมนตรีอีก 23 คน

ยิ่งไปกว่านั้น นายพลลี่ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง (ซีเอ็มซี) องค์กรกำกับดูแลและกำหนดนโยบายสูงสุดของกองทัพอันเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักตามระบอบปกครองของจีนในปัจจุบันอีกด้วย (อีก 2 สถาบันคือ พรรคคอมมิวนิสต์ กับคณะมนตรีรัฐกิจ ซึ่งมักถูกหยิบยกมาคู่กันว่า พรรค และรัฐ นั่นเอง)

การที่บุคคลระดับมนตรีรัฐกิจอาวุโสจู่ๆ ก็หายตัวไปนานกว่า 2 สัปดาห์ แถมยังถอนตัวออกจากการประชุมร่วมด้านกลาโหมระหว่างจีนกับเวียดนามที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 7-8 กันยายน แบบกะทันหันด้วย “ปัญหาสุขภาพ” ตามข้ออ้างแบบ “ขอไปที” ของทางการจีนอีกต่างหาก

จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาอย่างแน่นอน

 

เป็นที่มาของ “รายงานข่าว” ในช่วงวันที่ 14-15 กันยายนที่ผ่านมาว่า นายพลลี่ถูก “ควบคุมตัว” ไว้เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อ “สอบปากคำ” ที่เกี่ยวพันกับการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ โดยที่ทางการจีนก็วางเฉย ไม่ออกมายืนยันแล้วก็ไม่ได้ปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว

แต่ถ้ารายงานข่าวดังกล่าวเป็นความจริง ก็ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่บุคคลระดับสูงในซีเอ็มซี ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ขณะดำรงตำแหน่ง และเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นประธานซีเอ็มซีอยู่ในเวลานี้

แล้วก็ทำให้คิดกันได้ว่า การ “เก็บกวาดทำความสะอาด” คอร์รัปชั่นนั้น ครอบคลุมเกินเลยไปจากการจัดการในกองทัพขีปนาวุธอยู่ไม่น้อย หลังจากมีการ “ปลดเงียบ” นายพลลี่ หยูเฉา ผู้บัญชาการ และนายพลสวี่ จงป๋อ รองผู้บัญชาการฝ่ายการเมืองกองทัพขีปนาวุธไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งลือกันว่าทั้งสองถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชั่นและทำให้ความลับของประเทศรั่วไหล

ความเปลี่ยนแปลงอีกกรณีหนึ่งซึ่งไม่ค่อยฮือฮาและเป็นข่าวคราวเท่าใดนัก แต่บางฝ่ายเชื่อว่าเชื่อมโยงกันก็คือ การปลด พล.ต.เฉิง ตงฟาง พ้นตำแหน่งประธานตุลาการศาลทหารประจำกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (ประธานตุลาการศาลทหารเป็นตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งเจ้ากรมพระธรรมนูญ ในกระทรวงกลาโหมไทย) แบบกะทันหันและไม่มีคำอธิบายใดๆ เมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา

 

ข้อสันนิษฐานหนึ่งของนักวิเคราะห์ที่สันทัดระบอบการเมืองการปกครองของจีนก็คือ นายพลทั้ง 4 คน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในกองทัพขีปนาวุธไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กองทัพขีปนาวุธนี้ สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญสูงสุดเป็นลำดับแรกและดูแล “ฟูมฟัก” มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2015 เมื่อเขาตัดสินใจ “ยกระดับ” หน่วยงานนี้ขึ้นสู่ระดับ “กองทัพ” โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ระดับต้นๆ ของโลก

งบประมาณของกองทัพขีปนาวุธไม่เพียงมหาศาลเท่านั้น ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเป็นชนวนเหตุให้เกิดการฉ้อฉลได้โดยง่าย ไม่ว่าจะในรูปแบบของการยักยอก, รับสินบน หรือการนำเงินไปใช้ในทางที่ผิดในรูปแบบอื่นๆ

คำอธิบายที่เป็นไปได้อีกทางหนึ่งก็คือ การหายตัวไปของ พล.อ.ลี่ ฉางฟุ รัฐมนตรีกลาโหมนั้นอาจเชื่อมโยงกับพฤติกรรมในอดีต เมื่อครั้งที่นายทหารผู้นี้ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนายุทโธปกรณ์และการจัดซื้อจัดจ้าง โดยนายพลลี่ ฉางฟุ เคยทำงานจนได้เป็นผู้อำนวยการกองวิศวกรรมประจำศูนย์จัดส่งดาวเทียมของจีนอยู่นานร่วม 30 ปี และเคยเป็นผู้อำนวยการกองพัฒนายุทโธปกรณ์ประจำคณะกรรมาธิการการทหารกลาง ในช่วงระหว่างปี 2017-2022 อีกด้วย

แต่จะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ “หายตัวไป” อย่างลึกๆ ลับๆ และเป็นปริศนาของรัฐมนตรีกลาโหมของจีนอาจมีสาเหตุเป็นไปได้อีกหลากหลายมาก ตั้งแต่การไม่ปฏิบัติตาม หรือไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งของสี จิ้นผิง เรื่อยไปจนถึงการละเมิด “วินัยทหาร” อีกมากมายหลายรูปแบบ

ปัญหาก็คือ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทั้งจีนโดยรวมและกระทบมากเป็นพิเศษต่อตัวของสี จิ้นผิง เอง

 

กรณีเช่นนี้ไม่เพียงก่อให้เกิดปัญหาภาพลักษณ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ทั้งในและนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียหายต่อขวัญกำลังใจของกำลังพลของพีแอลเอโดยรวมอีกด้วย

ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้เกิดข้อกังขาต่อการตัดสินใจคัดสรรบุคคลเข้ารับหน้าที่สำคัญๆ รวมถึงการกำกับดูแลบุคคลในบังคับบัญชาให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา สะอาด ปราศจากการฉ้อฉลและมีประสิทธิภาพของสี จิ้นผิง

สี จิ้นผิง เคยตำหนิผู้นำจีนยุคก่อนหน้ามาตลอดว่าปล่อยให้เกิดการฉ้อฉลขึ้นจนแพร่ระบาดอย่างกว้างขวาง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้การนำของสีเอง ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่ามากมายนัก

กระนั้น ในระบอบการเมืองการปกครองของจีน บางครั้งการกวาดล้างคอร์รัปชั่น ก็ใช่ว่าจะเป็นการเก็บกวาด ทำระบบระบอบให้สะอาดเสมอไป

เพราะการปราบคอร์รัปชั่นในจีน ยังสามารถหมายความถึง การพยายามปรับเปลี่ยนแก้ไข และกระชับอำนาจเสียใหม่ ก็ได้เช่นเดียวกัน