‘สงครามด้อม’ อาจเกิดจาก ‘ปรสิตแมว’

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

แม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อย แต่ความขัดแย้งจากการฉีก MOU สลายแนวร่วม 8 พรรค ยังคงคุกรุ่นในหมู่ “ด้อม”

นำไปสู่ “สงครามด้อม” ที่ยังไม่จบใน Social Media

“สงครามด้อม” อาจเกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันในโลก Online ไปจนถึงเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริง

แน่นอนว่า อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันของ “ด้อม”

แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับ “ปรสิตแมว” พบว่า “ปรสิตแมว” อาจทำให้มนุษย์มีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกันได้

บทความนี้จะขอพาไปสำรวจอีกสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดจาก “ปรสิตแมว”

 

ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson คณบดีคณะบริหารธุรกิจ แห่ง University of Colorado สหรัฐอเมริกา บอกว่า “ปรสิตแมว” เปลี่ยนพฤติกรรมให้มนุษย์เป็นคนกล้าเสี่ยงมากขึ้น

“Toxoplasma Gondii ปรสิตที่แมวเป็นพาหะให้เกิดการติดต่อเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ นอกจากจะส่งผลให้สมองเกิดความเปลี่ยนแปลงวิธีคิด และเกิดความผันผวนทางอารมณ์แล้ว ยังมีการค้นพบว่า ปรสิตแมว สามารถทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีพฤติกรรมกล้าเสี่ยง และกล้าได้กล้าเสียมากขึ้นอีกด้วย” ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson ชี้ว่า มีงานวิจัยซึ่งยืนยันในเรื่องนี้ ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Proceedings of the Royal Society ที่เผยผลวิเคราะห์ข้อมูลการติดเชื้อโปรโตซัว “ปรสิตแมว” จากกลุ่มตัวอย่างนักธุรกิจ 42 ประเทศ

พบว่า ประเทศที่มีปริมาณนักธุรกิจติดเชื้อ Toxoplasma Gondii สูง จะมีความคิดกล้าริเริ่มลงทุน และก่อตั้งธุรกิจใหม่ มากกว่านักธุรกิจที่ไม่มี “ปรสิตแมว”

อีกงานวิจัยหนึ่ง ระบุผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำลายของนักศึกษาชาวอเมริกัน 1,300 คน ชี้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” มีแนวโน้มจะเลือกเรียนในสาขาการบริหารธุรกิจมากถึง 1.4 เท่า

โดยในจำนวนนี้ มีผู้เลือกเรียนด้านการบริหารเงินและการลงทุนเป็นวิชาเอกมากกว่าคนทั่วไป 1.7 เท่า

ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson ระบุว่า Toxoplasma Gondii จะไม่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง โดยผู้ติดเชื้ออาจมีอาการคล้ายไข้หวัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“แต่ในทางจิตใจ และพฤติกรรมแล้ว น่าเป็นห่วงอาการทางจิต และบุคลิกภาพที่แปรปรวนเป็นอย่างมาก” ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson กล่าว และว่า

เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ตรงกันว่า Toxoplasma Gondii มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ รวมทั้งการฆ่าตัวตาย!

 

ทั้งนี้ มนุษย์สามารถรับเอาตัวอ่อน “ปรสิตแมว” เข้าสู่ร่างกายผ่านละอองฝอยของอุจจาระแมว

โดยแมวจะรับปรสิตมาจากหนูอีกที ซึ่งหนูกลุ่มดังกล่าวอาจสูญเสียสัญชาตญาณกลัวแมว และกล้าเข้าใกล้แมวมากกว่าปกติ ศาสตราจารย์ ดร. Stefanie Johnson สรุป

นำไปสู่การวิเคราะห์พฤติกรรมกล้าเสี่ยง กล้าได้กล้าเสียของกองเชียร์การเมือง หรือ “ด้อม”

จากผลการวิจัยล่าสุดที่ระบุว่า “ปรสิตแมว” อาจทำให้มนุษย์มีแนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกันได้

นั่นคือ งานวิจัยทางจิตวิทยา ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Evolutionary Psychology นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr แห่ง Charles University กรุง Prague สาธารณรัฐเช็ก ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยปรากของสาธารณรัฐเช็ก

ร่วมกับทีมนักปรสิตวิทยา และนักชีววิทยาวิวัฒนาการ ของสาธารณรัฐเช็ก ผลการวิจัยพบว่า ความแตกต่างของจุดยืนทางการเมือง และแนวคิดทางการเมือง ไม่ได้เกิดจากความแตกต่างทางเพศสภาพ อายุ หรือภูมิหลังของแต่ละคน

แต่เป็นผลมาจากการที่มนุษย์ติดเชื้อ “ปรสิตแมว”

 

งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ได้ทำการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผ่านการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองกับกลุ่มประชากรจำนวน 2,315 คน

ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” อยู่ 477 คน

ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr บอกว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากการวิจัย พบว่า แนวคิดทางการเมืองของกลุ่มผู้ที่มี “ปรสิตแมว” กับผู้ที่ไม่มี “ปรสิตแมว” มีความแตกต่างกัน

“เรามีการใช้กลุ่มตัวอย่างควบคุม เพื่อทำให้แน่ใจว่า ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากการติดเชื้อปรสิตแมว จะไม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการทดสอบครั้งนี้”

ผลการวิจัยพบว่า ผู้ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” ส่วนใหญ่ มีแนวโน้มฝักใฝ่แนวคิดทางการเมืองแบบชาตินิยม-เผ่าพันธุ์นิยม หรือ Tribalism สูงกว่าผู้ติดไม่เชื้อ “ปรสิตแมว” มาก

“อย่างไรก็ดี ผู้ติดเชื้อปรสิตแมว กลับได้คะแนนด้านความฝักใฝ่แนวคิดเสรีนิยม-พหุวัฒนธรรมที่ต่ำกว่าผู้ติดไม่เชื้อปรสิตแมว” ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr กล่าว และว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” มีแนวโน้มจะต่อต้านระบอบเผด็จการน้อยกว่า ผู้ติดไม่เชื้อ “ปรสิตแมว” อีกด้วย

 

ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr สรุปว่า การติดเชื้อปรสิตแมว อาจทำให้เกิดการอักเสบอย่างอ่อนๆ ในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจได้

“อย่างไรก็ดี การที่ทุกวันนี้ มีประชากรโลกที่ติดเชื้อปรสิตแมวจำนวนมาก อาจถึงเวลาที่เราต้องตระหนักถึงอิทธิพลของปรสิตแมว ที่มีต่อการเมือง และประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวทีการเมืองโลกด้วย”

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน มีประชากรโลกที่ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” มากถึง 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งนอกจากจะส่งผลทางจิต ประสาท จนทำให้มนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายๆ ด้านแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นทางการเมืองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr กล่าวทิ้งท้ายว่า ทีมนักวิจัยพบความแตกต่างระหว่างผู้ติดเชื้อเพศหญิง และเพศชายอยู่บ้าง ในแง่ที่ว่า ผู้ติดเชื้อเพศชายมีท่าทีเป็นลบต่อแนวคิดเผ่าพันธุ์นิยมสูงกว่าผู้ติดเชื้อเพศหญิงเล็กน้อย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ติดเชื้อเพศชายมีความคิดเห็นฝักใฝ่เสรีนิยมทางเศรษฐกิจมากกว่าผู้ติดเชื้อเพศหญิง โดยผู้ติดเชื้อเพศชายต้องการให้สังคมมีความเท่าเทียม และลดการแก่งแย่งแข่งขันลง”

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ติดเชื้อ “ปรสิตแมว” ทั้งชายและหญิง ล้วนได้คะแนนต่ำกว่าผู้ที่ปลอดเชื้อ “ปรสิตแมว” ทั้งในเรื่องของการยึดมั่นต่อความยุติธรรม และการเป็นคนใจกว้าง ที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น

 

ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr สรุปว่า ทีมนักวิจัยยังตรวจสอบพบว่า การมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันดังกล่าวข้างต้น มิได้เป็นผลมาจากสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ลงจากการติดเชื้อ “ปรสิตแมว”

“จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อทั้งชายและหญิง มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ และมีพฤติกรรมปรับตัวเพื่อรับมือกับความเครียดที่คล้ายคลึงกัน”

ทั้งๆ ที่ตามปกติแล้ว ทั้งสองเพศจะมีความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปในทิศทางตรงข้ามกัน ศาสตราจารย์ ดร. Jaroslav Flegr สรุป

แน่นอนว่า แม้ว่าในขณะนี้ จะมีการตั้งรัฐบาลใหม่เป็นที่เรียบร้อย แต่ความขัดแย้งจากการฉีก MOU สลายแนวร่วม 8 พรรค ยังคงคุกรุ่นในหมู่ “ด้อม”

ทำให้ “สงครามด้อม” จึงดูเหมือนจะยังไม่จบแค่ใน Social Media

เป็น “สงครามด้อม” ที่เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งไม่ตรงกันในโลก Online และอาจเป็นชนวนลุกลามให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริง

แน่นอนว่า อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันของ “ด้อม”

แต่ผลการวิจัยเกี่ยวกับ “ปรสิตแมว” ดังกล่าว ที่พบว่า “ปรสิตแมว” ทำให้มนุษย์มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกันนั้น “อาจเป็นเรื่องจริง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเทศไทยของเรา