ลคค่าไฟ 2 เด้งเหลือ 3.99 บาท ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมปลื้ม เชื่อต้นทุนสินค้าลด เงินเฟ้อไม่พุ่ง

การปรับค่าไฟฟ้าคือหนึ่งในนโยบายทำทันที ที่รัฐบาลเศรษฐา 1 หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน ผ่านมาเพียง 7 วัน กระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีการประกาศปรับลดค่าไฟงวด 3 สำหรับเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ลงถึง 2 ครั้ง

โดยครั้งแรก ลดลงจากที่เรียกเก็บอัตรา 4.45 บาท มาเหลือ 4.10 บาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566

และครั้งล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ก็ปรับลดไปอีก จนเหลือ 3.99 บาท โดยกำหนดให้มีผลทันทีงวดที่ 3 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในรอบบิลเดือนกันยายน 2566

นับเป็นการหั่นราคาแบบถล่มทลาย ชนิดที่เรียกได้ว่าห้างค้าปลีก พ่อค้าแม่ค้า ยังอาย

 

แน่นอนว่าในมุมของผู้บริโภคและผู้ผลิตสินค้า ต่างสรรเสริญความกล้าหาญของรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่กล้าประกาศลดค่าไฟถึง 15% ในทันที เพราะข้อเสนอการปรับลดค่าไฟฟ้านี้ ตัวแทนภาคเอกชนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้ยื่นถึงรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นเวลานานนับปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง

ดังนั้น การตัดสินใจครั้งนี้ จึงได้รับเสียงตอบรับมหาศาลจากภาคเอกชน

“นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้ที่เป็นแกนนำในการผลักดันการปรับค่าไฟฟ้า ออกมาเปิดเผยว่า ผลดีจากการปรับลดค่าไฟ 15% ในครั้งนี้จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง

เพราะค่าพลังงานนั้นคิดเป็นต้นทุนของการผลิตสินค้าสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 10-20% โดยคาดว่าราคาสินค้าน่าจะมีการปรับลดราคาลงได้ถึง 3-5% หลักจากสต๊อกสินค้าที่คงเหลือในต้นทุนเดิมจะเริ่มหมด เริ่มเห็นสินค้าในราคาต้นทุนใหม่ในอีก 2 ข้างหน้า หรือประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2566

สินค้าที่ได้รับอานิสงส์หลัก คือ สินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีควบคุมของกระทรวงพาณิชย์จะเริ่มปรับลดราคาก่อน ส่วนสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าควบคุมนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับราคามาก่อนหน้านี้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ที่น่าห่วงคือ ร้าน street food หรืออาหารปรุงสำเร็จ ที่ต้องแข่งขันกับอาหารพร้อมรับประทานที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ สินค้าพร้อมรับประทานผลิตโดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ต้นทุนลดลงตามค่าไฟ ก็จะปรับราคาลง ผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ขายอาหารปรุงสำเร็จ อาหารสตรีตฟู้ด ซึ่งเป็นรายย่อยอาจจะไม่สามารถปรับลดราคาลงมาแข่งขันได้

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะได้รับอานิสงค์ด้วย จากตัวเลข คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2566 ขยายตัว 2.5% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 2.0-2.5%

หากมองเฉพาะส่วนนี้จะเห็นสัญญาณเชิงบวกต่อนโยบายอย่างชัดเจน แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง การปรับลดค่าไฟฟ้าเป็นเพียงการซื้อเวลาเท่านั้น แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง

ผู้ที่เสี่ยงมากที่สุดในเดิมพันนี้คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เข้ามาแบกรับภาระค่าไฟฟ้าให้รัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่รัฐบาลไม่ยอมปรับค่าไฟให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง คาดการณ์ว่า กฟผ.ต้องแบกรับภาระหนี้ค่าไฟแล้ว 1.5 แสนล้านบาท และจะยังต้องแบกต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าจะถึงเมื่อไร ไทม์ไลน์การคืนหนี้เดิมที่วางไว้ 2568 จะหมดหรือไม่

และท้ายที่สุดเรื่องนี้จะส่งผลต่อ “สภาพคล่อง” หนทางออกทำได้เพียงขอยืดเวลาชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้กับ ปตท. หรือกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง

ทางออกหนึ่งที่เอกชนเสนอ คือ การออกพันธบัตรรัฐบาล โดยอธิบายว่า หากกระทรวงการคลังซึ่งนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน กำกับดูแลเอง สามารถพิจารณาออกพันธบัตรเร็ว ได้ทันงวด 1 มกราคม 2567 วางกรอบไว้ที่ประมาณ 200,000 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมหนี้ของ กฟผ. 1.5 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 50,000 ล้านบาทนำไปใช้เสริมสภาพคล่องให้ กฟผ. โดยกำหนดอายุพันธบัตร 4 ปี ตามวาระของรัฐบาล ในอัตราดอกเบี้ย 4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเงินฝาก ต่ำกว่าเงินกู้

พันธบัตรจะมีข้อดีสำหรับทุกฝ่าย กล่าวคือ รัฐบาลจะได้แก้ปัญหาเรื่องหนี้ของ กฟผ.เรื่องแรก

สอง ได้ช่วยประชาชนลดค่าครองชีพ

และสาม ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักลงทุนออมเงินในระยะยาว

ขณะที่ประชาชนจะได้ประโยชน์ ทั้งได้ลดค่าไฟฟ้า และเป็นการลงทุนออมเงินในระยะยาว และสุดท้าย EGAT จะได้รับประโยชน์เรื่องภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่อง ส่วนผู้ที่จะเสียประโยชน์มีเพียงคนเดียว คือ สถาบันการเงิน เพราะโดยปกติจะเป็นเจ้าหนี้ของ กฟผ.

 

ด้านนักวิชาการต่างก็ให้ความเห็นในมุมมองต่างๆ “ศ.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ระบุว่า การใช้วิธีการออกพันธบัตรเป็นวิธีการทางด้านการเงินที่ได้แค่ประวิงเวลา เพราะหนี้ไม่ได้หายไปไหน แค่ยืดหนี้ให้ยาวนานออกไป แต่หากมองในแง่ที่จะช่วยให้ประชาชนออมเงิน ก็นับเป็นไอเดียที่น่าสนใจ เรื่องนี้สถาบันการเงินก็ไม่ถึงกับเสียประโยชน์มาก เพราะยังสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายพันธบัตรได้

แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องระวังการใช้นโยบาย คือ รัฐต้องตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ว่า หนี้ครั้งนี้เราต้องการให้เป็นหนี้ระยะยาวจริงหรือ เพราะหนี้ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นหนี้เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนที่สร้างประโยชน์ในอนาคต แต่เป็นก่อหนี้จากการปฏิบัติการลดการขาดทุน

ดังนั้น หากรัฐบาลอยากลดค่าไฟช่วยประชาชนจริงๆ ควรต้องไปเอาเงินตัวเองมาอุดหนุน ไม่ควรผลักภาระหนี้ให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ. และควรจำกัดระยะเวลาใช้มาตรการลักษณะนี้ไม่เกิน 1 ปี อย่าให้เป็นหนี้ระยะยาว

“สิ่งที่หวังว่าจะได้ อย่างการกดเงินเฟ้อให้ต่ำลงก็จะไม่ได้ ทั้งยังจะต้องเตรียมตัวรับมือกับความสูญเสียที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ถึงขั้นมีโอกาสทำให้เศรษฐกิจพังได้เลย โดยต้นแบบมีให้เห็นแล้วในหลายประเทศ ทั้งกรีซ หรืออย่างเวเนซุเอลา ต้องกู้จนเกินเพดาน เสียเรตติ้ง ดังนั้น อย่าไปติดกับดักการเติบโตของจีดีพีที่โตแบบปลอมๆ และไม่ยั่งยืน”

 

“นายชาคร เลิศนิทัศน์” นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่สะท้อนว่า การใช้มาตรการนี้เป็น “ระเบิดเวลา” ที่จะกระทบในวงกว้างจากดอกเบี้ยและหนี้ที่เพิ่มขึ้น

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการใช้กลไกใดในการลดค่าไฟ แต่คาดว่าจะใช้รูปแบบยืดหนี้หรือภาระต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ออกไปก่อน ซึ่งแนวทางดังกล่าวสร้างต้นทุนให้ กฟผ.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. และยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ขององค์กรซึ่งเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) เพิ่มสูงขึ้น ภาระดังกล่าวจะย้อนกลับมาส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนต่อไปในอนาคต ที่อาจจะต้องรับค่าไฟที่สูงมากกว่า 6 บาทต่อหน่วย

และเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของ กฟผ. ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอย่างเช่นที่เกิดในปีงบประมาณปัจจุบัน และยังส่งผลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว

อีกทั้งการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. อาจทำให้ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยรองรับการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้

 

ทางออกที่นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ดร.สิริภา จุลกาญจน์” สถาบันวิจัยพลังงาน เสนอคือ หากรัฐจะใช้แนวทางการยืดหนี้ ควรใช้ให้ถูกกลุ่มและมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ชัดเจน เช่น ลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่มีความจำเป็น หรือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การจัดการกับปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาว ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีหลายปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้

ต้องมีการวางแผนและจัดระบบไฟฟ้าควรคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยหันไปใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งในการอาศัยเงินลงทุน (Climate Finance) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้นับเป็นโจทย์ท้าทายที่รัฐบาลต้องพร้อม