ด้านสว่างกับมุมมืด ของ quick win ในการเมือง | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ใช้คำว่า “ควิกวิน” (quick win) บ่อยมาก

เพราะเป็นศัพท์ในแวดวงธุรกิจมาก่อน หมายถึงยุทธศาสตร์ของการทำอะไรที่ได้ผลรวดเร็วทันทีเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับทีมงาน

ในความหมายนี้ บางครั้งก็ใช้คำว่า low-hanging fruit หรือ “ผลไม้ใกล้มือ” ที่สามารถยื่นมือไปเด็ดลงมาได้ทันที ไม่ต้องปีนป่ายต้นไม้ขึ้นไปเก็บลูกของต้นไม้ในที่สูง

บางคนถือว่านี่เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เฉียบแหลม สามารถเอาชนะคนที่พยายามจะวางแผนทำงานใหญ่ที่กว่าจะเห็นผลก็เนิ่นนานเกินกว่าที่ผู้คนจะรอได้

คำว่า quick win หมายถึง “ได้ชัยชนะมาอย่างรวดเร็ว”

เท่ากับเป็นการชิงความได้เปรียบด้วยการยื้อแย่งโอกาสที่อยู่ต่อหน้าให้ได้ก่อนคนอื่น

นักการเมืองก็หันมาใช้ความคิดอย่างนี้ไม่น้อย

เพราะสอดคล้องต้องวิธีคิดของ “นักเลือกตั้ง” ที่ต้องการให้ชาวบ้านเห็นว่าตนมี “ผลงาน” ที่จับต้องได้ทันที

บ่อยครั้ง quick win จึงออกมาในรูปแบบ “ประชานิยม” นั่นคือการแจกเงิน, แจกของ, แจกซอง และแจกคำหวาน

แต่เดิม คำว่า quick win มีความหมายทางด้านบวก นั่นคือความชาญฉลาดของกลยุทธ์แห่งการช่วงชิงความสำเร็จในช่วงแรกๆ ของการทำงาน

ที่เรียกว่า “สะสมชัยชนะ”

แต่วิธีคิดแบบนี้ถ้านำมาใช้ในทางที่ผิดก็มีอันตรายในตัวมันเอง

เพราะมันคืออีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกัน

 

พอใช้คำว่า quick win บ่อยๆ เข้าก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไรที่ต้องใช้เวลากับความอดทน

พยายามหลีกเลี่ยงการที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในระยะกลางและระยะยาว

และไม่คิดจะเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับความล้มเหลวก่อนที่จะเห็นร่องรอยของความสำเร็จ

quick win อยู่คนละข้างของเหรียญ Long-term solution หรือที่ทุกวันนี้นิยมเรียกกันว่า Sustainable solution

อันหมายถึงการทำงานที่มีเป้าหมายเพื่อระยะยาว เพื่อแสวงหาสูตรที่ยั่งยืน

ไม่เพียงแค่คิดจะชิงความได้เปรียบและอ้างความสำเร็จเฉพาะหน้าเท่านั้น

ดังนั้น นายกฯ เศรษฐาอาจจะหวังดีที่เน้น quick win แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะสร้างความเข้าใจผิดให้บรรดารัฐมนตรีและข้าราชการทั้งหลายว่าให้จ้องหาอะไรที่อ้างเป็น “ผลงาน” ระยะสั้น

เกิดความเข้าใจผิดว่าไม่ต้องคิดหรือทำอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถและความอดทนมากกว่า “ผลงานระยะสั้น” มากมาย

ในโลกการเมือง การแสวงหา “ผลงานฉับพลันทันด่วน” เป็นสูตรสำเร็จเหมือนอาหารกระป๋องที่เปิดปั๊บเอาใส่ปากได้เลย

และ quick win ก็มีแนวโน้มที่จะบดบังความสำคัญของการคิดเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว

ทำให้การแก้ปัญหาที่สั่งสมฝังรากมายาวนานไม่ได้รับการแก้ไข เพราะ “มันยาก”

สำหรับ “นักเลือกตั้ง” แล้ว อะไรที่ “ยาก” จะเป็นยาขม จึงพยายามจะหลีกเลี่ยง

หากจะมีแผนระยะยาวเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนก็จะเป็นเพียงเขียนให้สวยหรูบนกระดาษเท่านั้น

แต่ไม่มีวิสัยทัศน์หรือแผนงานที่จะทำให้เกิดผลทางปฏิบัติ

 

ความเสี่ยงอันสำคัญยิ่งก็คือ quick win จะกลายเป็น Long-term disaster

อะไรที่ได้มาเร็วและง่าย หยิบจากต้นมาก็เคี้ยวกินได้เลยนั้นแม้ว่าจะดูง่ายและเป็นที่พอใจของคนทั่วไปในระยะสั้น แต่เมื่อขาดการวางแผนระยะกลางและระยาวแล้วก็ขาดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำอย่างจริงจัง

ผลก็คือ “หายนะในระยะยาว”

การคิดอะไรสั้นๆ ง่ายๆ เพื่อหาคะแนนนิยมสำหรับนักการเมืองจึงกลายเป็นโรคระบาดอย่างกว้างขวางในวงการเมืองวันนี้

แต่การมุ่งแต่จะหา quick win นั้นแม้ดูเหมือนจะน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับชาวบ้านจำนวนหนึ่ง แต่หากกลายเป็น “ยาเสพติด” แล้วก็จะกลายเป็นวิถีปฏิบัติที่มีราคาที่ต้องจ่ายในระยะยาว

และราคาที่ต้องจ่ายนี้จะแพงขึ้นตลอดเวลา

เพราะเหมือนแก้อาการป่วยของสังคมด้วยยาแก้ปวดเท่านั้น ไม่ยอมวินิจฉัยโรคอย่างจริงจัง

และปฏิเสธที่จะเผชิญความเป็นจริงว่าอาการโรคนั้นหนักหนาสาหัสกว่าเพียงแค่กินยาแก้ปวดเท่านั้น

หมอไม่บอกความจริงกับคนไข้ ทั้งๆ อาการป่วยไข้นั้นหนักจนจะต้องผ่าตัด

แต่หมอรู้ว่าเป็นงานยากกว่าและใช้เวลานานกว่า จึงแค่ให้ยาแก้ไข้แก้ปวดไปชั่วคราว

คนไข้กินยาแก้อาการเฉพาะหน้าไป เกิดความรู้สึกดีขึ้นชั่วคราว ก็หลงเข้าใจว่าหมอคนนี้เก่งมาก

แต่ต่อมาอีกไม่นาน อาการที่แฝงอยู่ปรากฏขึ้นมา ร่างกายทรุดโทรม หมอคนนั้นหายตัวไปแล้ว หมอคนใหม่ก็ให้ยาแก้ปวดต่อ

…คนไข้ก็ตกอยู่ในภาวะโคม่า หรือต้องเสียชีวิต

 

บางครั้ง quick win ก็อาจช่วยเสริมความนิยมในเบื้องต้นให้กับนักการเมือง

และบางทีมาตรการเฉพาะหน้าระยะสั้นอาจจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นในทันตาเห็น เหมือนฉีดยากระตุ้นสเตียรอยด์

แต่เอาเข้าจริงๆ อาการป่วยของประเทศมีความสลับซับซ้อนเพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ มิใช่เป็นโรคปวดหัวตัวร้อนธรรมดา จึงต้องการมาตรการที่มากกว่าเพียงการ “ปะผุ” อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ

ตัวอย่างในหลายๆ ประเทศก็พอจะเป็นบทเรียนที่ควรแก่การนำมาศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา quick win – slow death

ชนะเร็ว – ตายแบบช้าๆ

นโยบายแจกเงินให้ประชาชนโดยไม่มีเป้าหมายและมาตรการรองรับและต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมเป็นหนึ่งในวิถีแห่ง quick win

เวเนซุเอลา ภายใต้ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ และนิโคลัส มาดูโร ที่สืบทอดอำนาจต่อมาใช้นโยบายแจกเงินสดหลายชุดโดยเอาเงินรายได้จากน้ำมัน

ทันใดนั้นรัฐบาลก็ได้รับความนิยมในหมู่คนยากจนอย่างล้นหลาม

แต่ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง

ตามมาด้วยการล่มสลายทางเศรษฐกิจ

และทำให้เกิดความยากจนที่แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง

“ประชานิยม” แบบ quick win จึงสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายย่อยยับหากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนเศรษฐกิจที่สร้างการเติบโตอย่างแท้จริงและยั่งยืน

สิ่งที่นักเลือกตั้งต้องการมีง่าย ๆ … นั่นคือประชาชนได้เงินแจกแล้วก็จะหย่อนบัตรเลือกตัวเองหรือพรรคของตนกลับมามีอำนาจปกครองประเทศอีก

เพื่อจะได้เอาภาษีประชาชนมามอมเมาให้ชาวบ้านหลงกลให้นิยมชมชอบตนเองต่อไปอีก

 

เมื่อหมกมุ่นอยู่กับ quick win รัฐบาลก็จะละเลยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจของการสร้างชาติ

สิ่งแรกๆ ที่นักการเมืองเมื่อเข้ามามีอำนาจกระโดดลงไปบริหารทันทีคืองบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน

รายการแรกๆ ที่จะค้นหาคือมีเงินงบประมาณก้อนไหนที่จะเอาไปใช้เพื่อเสริมสร้างฐานอำนาจและสร้างความนิยมให้กับตัวเองได้บ้าง

อะไรที่เป็นเรื่องระยะยาวหรือ “ทำยาก” ก็จะเลื่อนออกไป

การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกมองข้าม แต่หันไป “แบ่งเค้ก” ในมวลหมู่นักการเมืองและผู้สนับสนุน

เรื่องยากๆ แต่สำคัญ เช่น การลงทุนด้านการศึกษา ก็จะถูกตัดทิ้งหรือลดทอนจนไม่อาจจะทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวได้

การตัดงบประมาณด้านการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นอาจดูเหมือนเป็น “ชัยชนะฉับพลัน” ที่สร้างเสียงฮือฮาได้

แต่ท้ายที่สุดแล้วกลับเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของประเทศในการสร้างนวัตกรรมและรักษาความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจโลก

แต่วาทกรรมของนักการเมืองเรื่อง quick win มีความซับซ้อนเพราะมีปมซ่อนเงื่อนอย่างแนบเนียนเสมอ

คำว่า quick win จึงเป็น “กับดัก” ที่ประชาชนจะต้องระแวดระวังไม่ให้ผู้บริหารประเทศที่หวังผลระยะสั้นแต่ไม่สนใจแก้ปัญหาระยะยาวนำมาใช้พร่ำเพรื่อ

จนกลายเป็น “คาถาประจำใจ”

ที่รังแต่จะทำลายอนาคตของประเทศระยะยาว