ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
กลายเป็นเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่รุนแรงที่สุดของประเทศลิเบีย หลังเกิดเขื่อน 2 แห่งแตก จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ถล่มเมืองเดอร์นา ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล ของประเทศลิเบีย ทำให้พื้นที่ 1 ใน 4 ของเมือง จมอยู่ภายใต้น้ำที่ท่วมสูง
จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1.1 หมื่นราย และยังมีผู้สูญหายอีกนับหมื่นราย!
กลายเป็นเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของลิเบีย
ทางการลิเบียได้สั่งให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การสอบสวนจะดำเนินการไปในลักษณะใด
ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองในลิเบีย ถือว่ามีความแตกแยกอยู่ในตอนนี้ เนื่องจากมีรัฐบาล 2 ชุดที่เป็นอิสระต่อกัน นับตั้งแต่การลุกฮือที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่อโค่นล้มนายโมอัมมาร์ กาดาฟี ผู้นำเผด็จการที่ปกครองลิเบียมายาวนานในปี 2554
และนับตั้งแต่เกิดรัฐบาลลิเบียตะวันออกและลิเบียตะวันตก โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในประเทศถูกละเลย และยังถูกซ้ำเติมด้วยผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่รุนแรง จนทำให้เกิดสภาพอากาศที่สุดขั้วบ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้นตามมา
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เกิดจากพายุแดเนียลที่พัดถล่มลิเบียตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน ที่ทำให้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้พื้นที่บางส่วนของชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือมีฝนตกลงมามากถึง 400 มิลลิเมตร ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับน้ำฝนที่มากผิดปกติ เนื่องจากค่าเฉลี่ยของฝนเดือนกันยายนในพื้นที่นี้ อยู่ที่ 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น
ปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไปนี่เอง ที่ทำให้เขื่อน 2 แห่ง ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำไว้ได้ จึงทำให้เขื่อนแตกเมื่อวันที่ 11 กันยายน และกลายเป็นมหาวิปโยค มวลน้ำจำนวนมหาศาลที่ถาโถมใส่บ้านเรือน
โดยเขื่อนสองแห่งที่แตกนี้ เป็นเขื่อนสำคัญในแม่น้ำวาดี เดอร์นา ซึ่งเส้นทางน้ำจะไหลลงสู่เมืองเดอร์นา ที่อยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เขื่อนแรก ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 ไม่เคยมีการซ่อมบำรุงเลย และมีความสูงเพียง 70 เมตรเท่านั้น
เมื่อเขื่อนแรกแตกแล้ว เขื่อนที่สองก็ต้องแบกรับปริมาณน้ำมหาศาลเอาไว้ และแบกรับไม่ไหว ทำให้เขื่อนที่สองแตกในที่สุด
มีการประเมินว่า มวลน้ำที่ทะลักออกมาจาก 2 เขื่อนนี้ รวมๆ แล้วอยู่ที่ราว 30 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก ถึง 12,000 สระ และมวลน้ำมหาศาลได้ไหลท่วมเมืองเดอร์นา สร้างความสูญเสียมหาศาลทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ขณะที่มีผู้คนถูกคลื่นน้ำลากลงทะเลไปจำนวนมาก และตอนนี้ ศพก็ค่อยๆ ทยอยถูกซัดเข้าฝั่ง
แคลร์ นิโคเลต หัวหน้าฝ่ายฉุกเฉิน ของกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน บอกกับเอพีว่า เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาร่างผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และทะเลยังคายร่างผู้เสียชีวิตออกมาตลอดเวลา
นอกจากการค้นหาร่างผู้เสียชีวิตแล้ว อีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำ คือ การช่วยเหลือด้านจิตวิทยา สำหรับผู้สูญเสียบุคคลรอบข้างจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ต้องการการเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่จากเหตุเขื่อนแตกในลิเบียนี้ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเพตเตรี ตาลาส หัวหน้าองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) หน่วยงานภายใต้สังกัดของสหประชาชาติ บอกว่า หากมีการให้บริการเตือนภัยจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาตามปกติ การออกคำเตือนให้กับประชาชนก็น่าจะมีขึ้นแล้ว และหน่วยงานจัดการเหตุฉุกเฉินน่าจะจัดให้มีการอพยพประชาชนได้
ทั้งนี้ WMO แจ้งว่า ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติได้ออกคำเตือน 72 ชั่วโมงก่อนเกิดน้ำท่วม โดยมีการแจ้งให้หน่วยงานรัฐทั้งหมดทราบทางอีเมลและผ่านสื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในลิเบียตะวันออกได้เตือนประชาชนเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพายุดาเนียล และได้มีคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่ชายฝั่งในวันที่ 9 กันยายน เนื่องจากกลัวว่าอาจมีคลื่นสูงพัดขึ้นมาจากทะเล แต่กลับไม่มีคำเตือนใดๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้เรื่องเขื่อนแตก
จนกลายเป็นที่มาของความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของลิเบีย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022